หลังควบรวม 'ทรู-ดีแทค' สถิติร้องเรียน 659 เรื่อง อนุกสทช.จ่อตรวจลดเสาสัญญาณ

หลังควบรวม 'ทรู-ดีแทค' สถิติร้องเรียน 659 เรื่อง อนุกสทช.จ่อตรวจลดเสาสัญญาณ

หลังควบรวมค่ายมือถือ "ทรู-ดีแทค" ผู้บริโภคร้องเรียน 659 เรื่อง ราคา คุณภาพ สัญญาณเน็ตช้าลง 2 เท่า อนุคุ้มครองผู้บริโภคฯ เผยยังไม่ทำตามเงื่อนไข 20 ข้อของ กสทช. เตรียมตรวจสอบปัญหาลดเสาสัญญาณ หลังสภาองค์กรของผู้บริโภคสะท้อนปัญหา

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยถึงปัญหาร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ค่ายมือถือ "ทรู-ดีแทค"ว่า จากสถิติตั้งแต่เดือน ม.ค. - ก.ค.2566 ก่อนที่ 2 บริษัท ทรู มูฟ เอช คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ TUC และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด หรือ DTN ควบรวมกันเมื่อต้นเดือน ส.ค.2566 ที่ผ่านมา บริษัททั้ง 2 มีเรื่องร้องเรียนรวมกันประมาณ 570 เรื่อง แต่ในช่วง 4 เดือนหลังการควบรวม ระหว่างเดือน ส.ค.– พ.ย. บริษัทใหม่ที่เกิดหลังควบรวม มีเรื่องร้องเรียน 659 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้าประมาณ 2 เท่า

หลังควบรวม \'ทรู-ดีแทค\' สถิติร้องเรียน 659 เรื่อง อนุกสทช.จ่อตรวจลดเสาสัญญาณ

ปัญหาร้องเรียนส่วนใหญ่ จะเป็นเรื่องคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์มือถือไม่ดีกับค่าบริการ เช่น บางรายร้องเรียนว่าได้ซื้อโปรโมชั่นประมาณ 200 บาท หรือ 290 บาทได้สัญญาณอินเทอร์เน็ตประมาณ 10 กิกะไบต์ แต่ต่อมาได้รับแจ้งว่าโปรโมชั่นหมดแล้ว ต้องจ่ายเพิ่มเป็นราคา 300 บาท หรือ 400 บาท และขยับเรตให้เป็น 20 กิกะไบต์ ทั้งที่ต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพียงแค่ 10 กิกะไบต์ แต่บริษัทชี้แจงว่า โปรโมชั่นเดิมไม่มีแล้ว ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก จึงจำเป็นต้องจ่ายในราคาที่แพงขึ้น
 

นพ.ประวิทย์ กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ต ก็ได้รับร้องเรียนมาโดยตลอด เช่น กรณีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสัญญาณอินเทอร์เน็ต โดยผู้บริโภคได้สมัครใช้บริการ 5G ที่ จ.สุพรรณบุรี และส่งพิกัดบ้านไปถามศูนย์บริการของค่ายมือถือ ว่ามีสัญญาณ 5G หรือไม่ ทางศูนย์บริการตอบว่ามีสัญญาณ ทำให้ผู้ใช้บริการตัดสินใจสมัคร และซื้อโทรศัพท์มือถือราคาประมาณ 30,000 – 40,000 บาทเพื่อใช้สัญญาณ 5G แต่เมื่อทดลองใช้งานจริง กลับไม่สามารถใช้บริการได้ เป็นต้น

ส่วนการตั้งข้อสังเกตว่าหลังการควบรวมบริษัทมีการลดจำนวนเสาสัญญาณลงหรือไม่นั้น นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า ต้องรอตรวจสอบปริมาณเสาสัญญาณ ปริมาณการลงทุนว่า จะขยายตามแผนหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม โดยปัจจุบันมีข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ระบุว่า 2 บริษัทลดจำนวนเสาสัญญาณลง เพื่อบริหารต้นทุน ไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนและประหยัดต้นทุน

ทั้งนี้ เนื่องจากเดิมพิกัดของเสาของทรูและดีแทคไม่ได้อยู่ต้นเดียวกัน เพราะเป็นคนละบริษัท ดังนั้น การลดจำนวนเสาสัญญาณจะส่งผลให้พื้นที่บริการเดิมหายไปบางส่วน และทำให้ผู้บริโภคในบางพื้นที่อาจพบเจอปัญหาสัญญาณโทรศัพท์ หรือสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดี ซึ่ง กสทช.จะเข้าไปตรวจสอบในเรื่องนี้ 
 

สำหรับการตรวจสอบคุณภาพและความครอบคลุมของสัญญาณ ซึ่งกสทช.กำหนดเงื่อนไขก่อนควบรวมกิจการ 20 ข้อ รวมถึงห้ามลดจำนวนเสาสัญญาณลงภายใน 3 ปีนั้น นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสทช.ได้กำหนดให้ให้บริษัทค่ายมือรายงานการดำเนินการเข้ามาให้ กสทช. พิจารณาแต่พบว่าบริษัทค่ายมือถือรายงานข้อมูลเพียง 5 ข้อ ส่วนอีก 15 ข้อยังไม่มีรายงานการดำเนินการ

“เงื่อนไขหนึ่งของการควบรวมธุรกิจ คือ ควบรวมแล้วราคาเฉลี่ยต้องลดลงร้อยละ 12 แต่ในความเป็นจริงผู้บริโภคส่วนใหญ่กลับรู้สึกว่าค่าบริการแพงขึ้น ดังนั้น สิ่งที่บริษัทต้องทำคือรายงานเปรียบเทียบราคาก่อนควบรวม และหลังการควบรวม 6 เดือน ซึ่งปัจจุบันบริษัทส่งรายงานเข้ามาแล้วแต่ขอแก้ไขข้อมูลเรื่องโปรมชันเพิ่มเติม รวมถึงการมีโปรโมชันลับ จน กสทช. ไม่สามารถคำนวณได้ ดังนั้น คณะอนุกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้จึงมีมติว่ารับทราบแต่ไม่ยืนยันว่ามีการลดลงร้อยละ 12 จริงหรือไม่” ประธานอุนกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ระบุ

นอกจากนี้ นพ.ประวิทย์ ยังกล่าวอีกว่า คณะอนุกรรมการที่ดูแลเรื่องการควบรวมธุรกิจได้จัดทำรายงาน 6 เดือน เรื่องปัญหาการควบคุมตั้งแต่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ควบรวมเป็นบริษัทใหม่ร่วมกันเสร็จสมบูรณ์ ในวันที่ 1 มี.ค.2566 ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 30 ก.ย.2566 โดยขณะนี้ทราบว่า รายงานฉบับดังกล่าวทำเสร็จเรียบร้อย แต่ยังไม่ได้เสนอต่อคณะกรรมการ กสทช.พิจารณา จึงอยากให้คณะกรรมการเปิดเผยรายงานดังกล่าวต่อสาธารณะ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้สรุปผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการควบรวมธุรกิจประเภทเดียวกันของบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค พบว่า บริษัทใหม่ที่เกิดหลังการควบรวม ได้เปลี่ยนแปลงแพ็กเกจให้ผู้บริโภคโดยไม่สมัครใจ ทำให้ราคาแพงขึ้นรายละ 100 บาทต่อเดือน สร้างภาระให้ผู้บริโภคต้องร้องเรียนโดยไม่มีความจำเป็น

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการลดคุณภาพระบบอินเทอร์เน็ตช้าลง จนเป็นปัญหาการใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้แอปพลิเคชั่นไลน์ส่งข้อความและข้อมูล มีปัญหาการใช้งานด้านโทรศัพท์เกิดอาการติด ๆ ดับ ๆ เป็นต้น