เปิดธุรกิจ ‘ปลุกชีพคนตาย’ ไครโอนิกส์ ช่วยแช่แข็ง รอวันคืนชีพใหม่ในอนาคต

เปิดธุรกิจ ‘ปลุกชีพคนตาย’ ไครโอนิกส์ ช่วยแช่แข็ง รอวันคืนชีพใหม่ในอนาคต

รู้จักธุรกิจที่พยายามเอาชนะธรรมชาติมนุษย์ ด้วยนวัตกรรม “ไครโอนิกส์” แช่แข็งร่างด้วยอุณหภูมิเยือกแข็ง และรอฟื้นชีพพวกเขาใหม่อีกครั้ง ซึ่งประสบความสำเร็จในไตหนูแล้ว แต่สำหรับร่างมนุษย์จะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

KEY

POINTS

  • “ไครโอนิกส์” เป็นการแช่แข็งร่างผู้เสียชีวิตไปแล้ว ด้วยความหวังว่าวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าขึ้นในอนาคต จะช่วยชุบชีวิตคนตายนี้ให้ฟื้นคืนชีพได้อีกครั้ง
  • กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตาของสหรัฐ ประสบความสำเร็จในการแช่แข็ง “ไตของหนู” ไว้เป็นเวลา 100 วัน และไตที่ถูกปลูกถ่ายสามารถกลับมาทำงานได้อย่างเต็มที่อีกครั้ง
  • ความท้าทายของไครโอนิกส์ คือ เมื่อน้ำในเซลล์กลายเป็น “ผลึกน้ำแข็ง” ระหว่างกระบวนการแช่แข็ง ผลึกน้ำแข็งเหล่านี้สามารถทำให้เซลล์ฉีกขาดได้

ตลอดช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มนุษย์พยายามสรรหาสารพัดวิธีที่จะสู้กับ “ความชรา” ไปจนถึงทำให้ร่างเป็น “อมตะ” ย้อนไปในสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ของจีน แม้มีอำนาจล้นฟ้า ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ได้ แต่พระองค์ก็ไม่อยากตาย จึงสั่งให้ทั่วราชอาณาจักรช่วยกันค้นหายาอายุวัฒนะ

หรือแม้แต่การทำมัมมี่ฟาโรห์ของชาวอียิปต์ ก็เพื่อรักษาสภาพศพ รอวิญญาณฟาโรห์ผู้ยิ่งใหญ่กลับคืนชีพสู่ร่างเดิมนี้อีกครั้ง

ในความพยายามเหล่านี้ ก็เกิดวิทยาการทางวิทยาศาสตร์หนึ่งขึ้นมา โดยเชื่อว่าอาจช่วยพลิกฟื้นศพคนตายให้กลับมาได้ นั่นคือ "ไครโอนิกส์" (Cryonics) ซึ่งเป็นการแช่แข็งร่างผู้เสียชีวิตไปแล้ว ด้วยความหวังว่าวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าขึ้นในอนาคต จะช่วยชุบชีวิตคนตายนี้ให้ฟื้นคืนชีพได้อีกครั้ง

อุณหภูมิที่แช่แข็ง จะต่ำติดลบเกือบ 200 องศาเซลเซียส เพื่อรักษาสภาพศพให้เหมือนเดิมมากที่สุด โดยผู้เชื่อมั่นในวิทยาการนี้มองว่า ผู้ที่ถูกแช่แข็งยังคงไม่ตาย แต่เหมือนการฟรีซหยุดเวลาทำงานของร่างกายไว้ ให้นึกภาพผู้โดยสารยานอวกาศในหนังไซไฟที่เข้าไฮเปอร์สลีป เป็นเวลาหลายร้อยปี ก่อนที่จะถูกปลุกขึ้นอีกครั้ง เมื่อถึงดาวดวงใหม่

เปิดธุรกิจ ‘ปลุกชีพคนตาย’ ไครโอนิกส์ ช่วยแช่แข็ง รอวันคืนชีพใหม่ในอนาคต - ไครโอนิกส์ (เครดิต: Shutterstock) -

หลายทศวรรษที่ผ่านมา หลายบริษัทพยายามวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีไครโอนิกส์ให้ออกมาได้ผล แม้หนทางจะยังอีกยาวไกล แต่ไม่นานมานี้ แสงแห่งความหวังก็เริ่มเปล่งออกมา เมื่อสตาร์ทอัพหน้าใหม่ “Cradle Healthcare” ถือกำเนิดขึ้น

รู้จักสตาร์ทอัพปลุกชีพศพ

Cradle Healthcare” เป็นสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งโดย ลอร่า เดมมิ่ง (Laura Deming) วัย 30 ปี เธอสนใจเรื่องการยืดอายุขัยมาตั้งแต่เด็ก และเป็นผู้ก่อตั้ง Longevity Fund ซึ่งเป็นบริษัท Venture Capital ที่มุ่งเน้นลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีด้านการชะลอวัย และล่าสุดก็หันมาก่อตั้งสตาร์ทอัพ Cradle Healthcare ของตัวเอง

เปิดธุรกิจ ‘ปลุกชีพคนตาย’ ไครโอนิกส์ ช่วยแช่แข็ง รอวันคืนชีพใหม่ในอนาคต - ลอร่า เดมมิ่ง (เครดิต: TechCrunch, Kimberly White) -

สตาร์ทอัพนี้มุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีแช่แข็งร่างกายแบบกลับคืนได้ (Reversible Cryonics) โดยแนวคิดคือ แช่แข็งร่างกายของผู้ป่วยโรคที่ยังไม่มียารักษา เพื่อเก็บรักษาไว้จนกว่าจะมีเทคโนโลยีหรือยารักษาโรคดังกล่าวในอนาคต จากนั้นจึงทำการคืนชีพพวกเขาใหม่อีกครั้ง

เดมมิ่งเห็นโอกาสว่า ยังมีอีกหลายสิ่งที่รอการค้นพบถึงวิธีการแช่แข็งและละลายร่างกายให้อยู่ในสภาพเดิม และบริษัท Cradle มุ่งมั่นที่จะพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้กลายเป็นจริง โดยเธอกล่าวว่า “บริษัทอื่น ๆ มักเน้นไปที่การแช่แข็งร่างกายมากเกินไป แต่กลับมองข้ามกระบวนการฟื้นคืนชีพ เราทำงานกับเทคโนโลยีแช่แข็งแบบกลับคืนได้ ซึ่งหมายความว่า เรากำลังพัฒนากระบวนการที่ทั้งแช่แข็งร่างกาย และละลายการแช่แข็งให้ร่างกายกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง”

เปิดธุรกิจ ‘ปลุกชีพคนตาย’ ไครโอนิกส์ ช่วยแช่แข็ง รอวันคืนชีพใหม่ในอนาคต

- Cryonics (เครดิต: Shutterstock) -

นอกจากเดมมิ่งแล้ว เธอยังมีผู้ช่วยอีกคนที่ชื่อว่า ฮันเตอร์ เดวิส (Hunter Davis) หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทและหัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันอายุ 33 ปี มีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ทั้งฟิสิกส์ เคมี และเศรษฐศาสตร์ ก่อนมาร่วมงานกับ Cradle เขาเคยประดิษฐ์เลเซอร์เพื่อศึกษากลศาสตร์ควอนตัมของกระบวนการสังเคราะห์แสงในพืช

เดมมิ่งและเดวิสมองว่า กระบวนการแช่แข็งร่างกายในอุดมคติ คือ การแช่แข็งเนื้อเยื่อขนาดใหญ่ที่อุณหภูมิประมาณ -130 องศาเซลเซียส โดยจะเกิดผลึกน้ำแข็งน้อยที่สุด

“ถ้าทำได้อย่างถูกวิธี ของเหลวในชิ้นเนื้อเยื่อจะข้ามผ่านขั้นตอนการกลายเป็นน้ำแข็งไปเกือบทั้งหมด และเข้าสู่สภาวะที่มีความหนืด และเฉื่อยแทน ซึ่งที่อุณหภูมิระดับนั้น ทุกอย่างของร่างกายจะหยุดลงอย่างสมบูรณ์” เดวิสกล่าว

ไครโอนิกส์ สำเร็จในไตหนูแล้ว

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีแช่แข็งหรือไครโอนิกส์ จริงๆ แล้ว ถูกใช้ในรูปแบบจำกัดอยู่บ้างแล้ว ตัวอย่างเช่น ในการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) จะมีการนำเอาตัวอ่อน (Embryo) ที่ยังเล็กจิ๋ว แช่ลงในสารป้องกันเซลล์ถูกทำลายจากการแช่แข็ง (Cryoprotectants) จากนั้นจึงนำไปแช่แข็งต่อในไนโตรเจนเหลว เพื่อเก็บรักษาไว้ได้นานหลายปี จนกว่าจะพร้อมนำไปใช้

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีกลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตาของสหรัฐ ประสบความสำเร็จในการแช่แข็ง “ไตของหนู” ไว้เป็นเวลา 100 วัน จากนั้นก็ละลายการแช่แข็งนี้ และนำไปปลูกถ่ายให้กับหนูตัวอื่น ๆ ผลลัพธ์คือ ไตที่ถูกปลูกถ่ายสามารถกลับมาทำงานได้อย่างเต็มที่อีกครั้ง ภายในระยะเวลาประมาณหนึ่งเดือน

ความท้าทาย คือ การรักษาเนื้อเยื่อเซลล์ที่แช่แข็ง

แม้ไครโอนิกส์ประสบความสำเร็จในไตของหนู แต่ปัญหาของการแช่แข็งร่างมนุษย์ ไม่ว่าอวัยวะภายใน สมอง หรือแม้กระทั่งร่างกายทั้งมวล ก็คือ การหาทางป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่ไม่อาจเยียวยาได้  เพราะเมื่อน้ำในเซลล์กลายเป็น “ผลึกน้ำแข็ง” ระหว่างกระบวนการแช่แข็ง ผลึกน้ำแข็งเหล่านี้สามารถทำให้เซลล์ฉีกขาดได้

อย่างไรก็ตาม เราสามารถลดปัญหานี้ได้ในระดับหนึ่ง โดยการแช่แข็งเนื้อเยื่ออย่างรวดเร็ว และปกป้องเซลล์ด้วยสารป้องกันเซลล์จากการแช่แข็ง (Cryoprotectants) ซึ่งสารนี้จะช่วยลดการก่อตัวของผลึกน้ำแข็ง แต่เทคนิคนี้ยังคงใช้กับเนื้อเยื่อปริมาณมากได้ยาก โดยเฉพาะกับร่างกายมนุษย์ที่ซับซ้อนสูง เพราะความเย็นและสารเคมีไม่สามารถแทรกซึมเข้าไปในอวัยวะหรือร่างกายได้ลึกพอและทั่วถึง

ยิ่งไปกว่านั้น อาเรียล เซเลซนิโคว-จอห์นสตัน (Ariel Zeleznikow-Johnston) นักวิทยาศาสตร์ด้านประสาท จากมหาวิทยาลัยโมนาช แห่งเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และเป็นผู้เขียนหนังสือชื่อ “The Future Loves You: How and Why We Should Abolish Death” กล่าวว่า “ยิ่งชิ้นเนื้อเยื่อมีขนาดใหญ่ ปัญหาก็ยิ่งยุ่งยากขึ้น เนื่องจากจะเกิดความต่างของอุณหภูมิภายในเนื้อเยื่อเอง ผู้เชี่ยวชาญพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยสารป้องกันเซลล์จากการแช่แข็ง แต่สารเหล่านี้ก็มีพิษเช่นกัน”

จะเห็นได้ว่า “นวัตกรรมไครโอนิกส์” แม้จะสำเร็จในไตของหนู โดยไตสามารถกลับมาทำงานได้อีกครั้งหลังการแช่แข็ง แต่กับร่างกายมนุษย์ ยังมีอุปสรรคสำคัญที่เทคโนโลยีแช่แข็งนี้ต้องก้าวข้าม นั่นคือ การรักษาชิ้นเนื้อเยื่อให้สมบูรณ์หลังการแช่แข็ง 

หากสามารถเอาชนะอุปสรรคนี้ได้ เทคโนโลยีไครโอนิกส์อาจกลายเป็น “กุญแจสำคัญ” ที่ปลดล็อคศักยภาพของมนุษย์ ยกระดับคุณภาพชีวิต และช่วยให้มนุษย์มีชีวิตยืนยาวขึ้น โดยการแช่แข็งร่างกายไว้ในอุณหภูมิที่ต่ำมาก ให้สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานจนกว่ามีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าพอในการรักษาโรคร้ายแรงได้

อ้างอิง: longevitybloomberglongbrit