พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ด้วยนโยบายสาธารณะเรื่อง AI
AI (หรือปัญญาประดิษฐ์) ตอนนี้เป็นวาระ Talk of the Town ไปแล้ว ไม่มีใครไม่พูดถึง ไม่ว่าเป็นหน่วยราชการ ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ ผู้บริหารองค์กร ภาคการศึกษา สื่อมวลชน และสถานีวิเคราะห์ข่าวแทบทุกกลุ่ม ทุกสาขา
แม้แต่ช่องวิเคราะห์ข่าวการเมืองและเศรษฐกิจก็ยังต้องหยิบยกเรื่อง AI มาพูดถึง ทั้งในแง่การแข่งขัน ผลกระทบต่อสังคม โอกาสใหม่ ๆ อันตรายต่าง ๆ ตลอดจนพยายามอธิบายว่า AI นั้นคืออะไร ทำงานอย่างไร
ด้วยการที่ AI มีพัฒนาการที่เร็วมาก ออกเวอร์ชั่นใหม่ทุก 2-3 เดือน เร็วขนาดที่แม้แต่วิทยากรและกูรูทั้งหลายยังหัดใช้ (เพื่อเอาไปใช้สอน) กันแทบไม่ทัน แถมบริษัทผู้ผลิต (ส่วนใหญ่อยู่ฝั่งอเมริกา) ยังมีนโยบายการเก็บค่าบริการ (ที่แทบจะเปลี่ยนรายไตรมาส !!)
โดยมีแนวโน้มถูกลงเรื่อย ๆ หรือเปลี่ยนใจให้ใช้ฟรีกับแบบชั่วข้ามคืนก็มี เรียกว่า แข่งกันดุเดือดทุ่มเงินมหาศาลชนิดที่เรียกว่าเท่าไหร่เท่ากัน ซึ่งผู้ใช้/ผู้บริโภคก็เลยได้ประโยชน์ มี AI (ของหรู) ให้ใช้กันแสนถูก
อย่างไรก็ตาม ในอีกแง่มุมหนึ่งคือ ประชาชนในมิติบทบาทต่าง ๆ ทั้งภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ ภาคราชการ ย่อมปรับตัวตามไม่ทันยิ่งกว่า และบางคราวในมุมประชาชนทั่วไปอาจขาดภูมิคุ้มกันทางสติปัญญา พิจารณาใช้งาน AI ไม่เหมาะสม หรือถูกมิจฉาชีพหลอกลวงจนเกิดผลเสียหายได้ โดยรู้ไม่ถึงการณ์
มีหลายเสียงเรียกร้องจากภาคส่วนต่าง ๆ ว่าภาครัฐควรออกนโยบายมาส่งเสริม มากำกับ และมาช่วยให้สังคมปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง
ตัวอย่างเช่น ในฝั่งสภาผู้แทนราษฎรเอง ก็ถึงขั้นเร่งด่วนแต่งตั้ง คณะกรรมาธิการ “วิสามัญ” พิจารณาศึกษาแนวทางในการควบคุมและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ประกอบด้วยกรรมาธิการ ประกอบด้วย ส.ส. มากมาย และโดยเฉพาะที่ปรึกษาอีกหลายสิบท่าน รวมทั้งหมดแล้วอาจจะแตะเกือบร้อยคน นับว่าน่าทึ่ง
ในฝั่งภาครัฐ ก็มีศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นโต้โผจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570) เริ่มต้นมาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ AI พัฒนาไปเร็ว “แบบติดจรวด” นโยบายอะไร ที่ทำไว้เกิน 1-2 ปี ถือว่า ต้องเอามาปัดฝุ่นกันใหม่หมด เพราะฝุ่นมันตลบและเกาะเร็วเหลือเกิน
สิงคโปร์เอง ออกนโยบาย ยุทธศาตร์ AI แห่งชาติ (National Artificial Intelligence Strategy) ไปเมื่อ พฤศจิกายน 2562 (ค.ศ. 2019) ก็ยังต้องรีบออกเวอร์ชั่น 2.0 อย่างไว ตามมาอีกเมื่อ ธันวาคม 2566 (ค.ศ. 2023) ทั้ง ๆ ที่เล่มแรก ก็วางวิสัยทัศน์ไว้ถึงปี 2030 แล้ว
เหตุเพราะปลายปี พ.ศ. 2565 (ค.ศ. 2022) มีการเปิดตัว AI Chatbot ชื่อ ChatGPT จากบริษัท OpenAI ทำให้ฉากทัศน์ของวงการดิจิทัลรวมถึงเศรษฐกิจและสังคมโลกเปลี่ยนแบบมโหฬาร
ส่วนยุโรปเอง พัฒนากฎหมายควบคุมกำกับดูแล AI (EU AI Act) เป็นคนแรก ๆ (ผลักดันร่างเข้าสภากันตั้งแต่ 2564) แต่พอกำลังสะเด็ดน้ำผ่านสภากลับต้องชักออกมาทบทวนอย่างด่วน ๆ จนประกาศล่าช้าไปถึง ธันวาคม 2566 ทั้งนี้ เพราะ ChatGPT ดันเปิดตัวมา (พฤศจิกายน 2565) ทำให้วิธีใช้ วิธีคิด วิธีพัฒนาและส่งเสริม เกี่ยวกับ AI เปลี่ยนไปสิ้นเชิง
สำหรับไทยเองควรทำอย่างไร ? แผนก็ยังไม่ได้ปรับ กระบวนการภาครัฐก็ช้า กำลังคนก็ไม่พร้อม เทคโนโลยีก็แพง งบประมาณก็ขาดแคลน (เสมอ) ฝ่ายนโยบายระดับสูงเองก็เรียนรู้ก็ไม่ทัน (แม้แต่กลุ่มกูรูในวงการเองก็ยังหอบ) เพราะมันยุ่ง ยาก และเยอะ แถมเกมการเมืองรุมเร้าหนัก
ผมอยากให้ฝ่ายนโยบายระดับสูงมองเรื่องนี้ “แบบใช้วิกฤติเป็นโอกาส” ก็ในเมื่อ AI เป็นกระแสที่ทุกคนพูดถึงและเห็นตรงกันว่าสำคัญ ก็ใช้แรงนี้เป็นตัวยกระดับการจัดทำข้อมูลดิจิทัลของประเทศให้ได้มาตรฐานจริงจัง เพราะข้อมูลเปรียบเหมือนอาหารป้อน AI ถ้าอาหารไม่มี หรือไม่ดี AI ก็แคระแกร็น สมองไม่พัฒนา
การยกระดับข้อมูลดิจิทัลนี้จะส่งผลยั่งยืน เพราะเป็นการบีบให้ทำการปฏิรูปกระบวนการทำงานเชิงดิจิทัลไปในตัว นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงไปจนถึงนโยบาย Cloud First อีกด้วย เพราะต้องจัดระบบระเบียบข้อมูลให้เรียบร้อย
กล่าวคือ การคัดกรองแยกข้อมูล ว่าอะไรเปิดสาธารณะได้ อะไรแค่แชร์ใช้งานระหว่างภายในภาครัฐ อะไรต้องเก็บไว้ลับภายใน และอะไรที่จะเอาไปสอน AI ให้ฉลาดได้ ซึ่งข้อมูลต้นน้ำ คือ ข้อมูลที่หน่วยงานต่าง ๆ จัดทำมาตามภารกิจ เป็นระดับละเอียดที่สุด
ข้อมูลต้นน้ำที่ว่า ต้องผ่านกระบวนการจัดเตรียม หรือแปลงข้อมูลให้มีความละเอียดที่เหมาะสม (แต่ไม่หยาบเกินไป จนแทบไม่มีประโยชน์)
เช่น การลบชื่อบุคคลแล้วแทนด้วยชื่อสมมติ การลบเลขบัตรประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด เลขหมายโทรศัพท์ แล้วแปลงเป็นค่าอื่นที่ไม่สื่อกลับไปถึงบุคคล ทั้งนี้ก็เพื่อให้นำไปใช้ต่อยอดได้สบายใจ
อย่าลืมว่า หัวใจสำคัญที่สุด ของการพัฒนา AI และการพัฒนางานด้านดิจิทัลทั้งหลายทั้งปวง คือ ข้อมูลที่มีคุณภาพ ไม่ใช่ซอฟต์แวร์ หรือ ฮาร์ดแวร์ราคาแพงไฮโซ หรือ เครือข่าย Super 5G
เมื่อเร็ว ๆ นี้ (29 พฤษภาคม 2567 [3]) กระทรวง อว. เขาแอ่นอกเตรียมทำในส่วนของงานฐานรากให้ มีการประกาศนโยบาย “อว. for AI” ติดอาวุธคนไทยใช้ AI พัฒนาประเทศ โดยเน้นพัฒนากำลังคนและโครงสร้างพื้นฐานผ่านการให้ทุนสนับสนุนรูปแบบต่าง ๆ นับเป็นเรื่องน่าชื่นชม
นโยบายและการสนับสนุน AI ไม่จำเป็นว่าชื่อกระทรวงหรือชื่อหน่วยงานต้องประกอบด้วยคำว่า “ดิจิทัล” หรือ “เทคโนโลยี” เท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกกระทรวง ทุกกรม
ตัวอย่างเช่น กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (ซึ่งดูจะไม่เกี่ยวอะไรกับ AI และดิจิทัลเลย) ถือฐานข้อมูลคนไทยทั้งหมดไว้ หากจะมีการพัฒนาระบบที่ช่วยให้บริการกรองชื่อบุคคลออกจากข้อมูลก่อนที่จะนำไปใช้สอน AI ก็จะมีคุณูปการยิ่ง (และมีเอกชนใจบุญมากมาย ยินดีช่วยอาสาทำให้ฟรี เพราะหลายท่านก็อยากทำอะไรเพื่อส่วนรวม)
อย่างไรก็ตาม การประกาศนโยบายสาธารณะต่าง ๆ ควรมีความชัดเจนเรื่องการลงทุน คือ จะใช้เงินทำอะไร เมื่อไหร่ ผ่านกลไกแบบไหนอย่างไร และแต่ละเรื่องเชื่อมต่อส่งเสริมกันเองและเสริมกับภาพใหญ่อย่างไร
หากดำเนินการได้เช่นนี้ นโยบายสาธารณะนอกจากได้ประโยชน์ต่อสาธารณะแล้ว ยังดูแลเศรษฐกิจและยกระดับสังคมได้ผลด้วย เนื่องจากองคาพยพต่าง ๆ ทั้ง การลงทุนภายในประเทศและจากต่างประเทศ จะมีหลักให้จับ และ สามารถร่วมกันลงทุนต่อเนื่องเกี่ยวพันกันไปได้แบบเสริมแรงกัน.