ทำไมยุโรปไม่มีบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่
เรื่องราวของบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก หรือที่เขาเรียกกันว่า Market Cap จะพบว่า 8 จาก 10 บริษัทที่มี Market Cap สูงที่สุดของโลกนั่นเป็นของฝั่งอเมริกา ก็เลยสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้น บริษัทของฝั่งยุโรป
หากไปดู 8 จาก 10 บริษัท Market Cap สูงที่สุดของโลกที่เป็นของฝั่งอเมริกา มีทั้ง Nvidia Microsoft Apple Alphabet Amazon Meta Platforms Berkshire Hathaway และ Eli Lilly และอีก 2 บริษัทที่เหลือจะเป็นของซาอุดิอะราเบียอย่าง Saudi Aramco และของไต้หวันอย่าง TSMC
เมื่อรู้ถึงเรื่องนี้แล้วผมก็เลยสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้น บริษัทของฝั่งยุโรปที่สมัยก่อนมีบริษัทชั้นนำอย่าง Nestle Shell BMW และ Siemens และเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทในฝั่งยุโรป
หากไปดูในลิสต์นี้เพิ่มเติมและขยายไปรวมถึงท็อป 50 บริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก เราจะพบว่ามีเพียงแค่ 8 บริษัทจากทั้งหมด 50 บริษัทของโลกที่เป็นของทวีปยุโรปได้แก่ Roche (สวิสเซอร์แลนด์) อันดับที่ 50 Hermès (ฝรั่งเศส) อันดับที่ 46 AstraZeneca (สหราชอาณาจักร) อันดับที่ 42 L’Oréal (ฝรั่งเศส) อันดับที่ 39
Nestlé (สวิสเซอร์แลนด์) อันดับที่ 33 LVMH (ฝรั่งเศส) อันดับที่ 26 ASML (เนเธอร์แลนด์) อันดับที่ 20 และ Novo Nordisk (เดนมาร์ก) อันดับที่ 12
ถ้าหากรวมมูลค่าบริษัทของทั้ง 8 อันดับที่ผมกล่าวถึง มูลค่ารวมกันทั้งหมดจะอยู่ที่ 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งน้อยกว่าบริษัทอย่าง Nvidia Microsoft และ Apple บริษัทเดียวเสียอีก
อเมริกามีความใหญ่โตในเรื่องของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมาก แต่ยุโรปก็ไม่ได้เล็กน้อยไปกว่ากัน ถึงแม้ว่าในอเมริกาจะมีบริษัท Magnificent 7 ที่ครองตลาดโลก นั่นคือบริษัทอย่าง Apple Microsoft Amazon Nvidia Meta Alphabet และ Tesla คนที่เป็นคนเริ่มต้นคำพูด Magnificent 7 คือ Michael Hartnett หัวหน้านักวิเคราะห์ของ Bank of America
แต่ในยุโรปก็มีคำพูดที่เรียกกลุ่มบริษัทชั้นนำของยุโรปอย่าง “Granolas” ที่รวมบริษัทอย่าง Novartis, SAP, AstraZeneca, Novo Nordisk, LVMH, GSK, Sanofi, ASML, Nestle, L’Oreal และ Roche ซึ่ง Goldman Sachs เป็นคนตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมา
ในกลุ่ม Granolas นี้เองมีเพียงแค่ 2 บริษัทเท่านั้นที่เป็นบริษัทเทคอย่าง SAP และ ASML แต่ส่วนใหญ่นั้นจะเป็นบริษัท Healthcare ซะมากกว่า รวมไปถึงบริษัท FMCG
เหตุผลที่บริษัทเทคโนโลยีในยุโรปมีน้อยกว่าฝั่งอเมริกานั้นมีหลายประการ หนึ่งในนั้นคืออุปสรรคทางภาษา บริษัทในยุโรปต้องพยายามทำให้ผลิตภัณฑ์ของตนครอบคลุมทั้งทวีป ซึ่งมีหลายภาษาและกฎหมายในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน นอกจากนี้การแข่งขันทางด้านตลาดในยุโรปก็มีความท้าทายมากกว่า เนื่องจากยุโรปมีถึง 27 ประเทศ
ในขณะที่อเมริกามีเพียงประเทศเดียว บริษัทในยุโรปต้องเผชิญกับความท้าทายในการครอบคลุมตลาดที่หลากหลายและซับซ้อน
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนเลยคือบริษัทอย่าง Meta ที่สร้าง Facebook ขึ้นมา หรือ WeChat ของจีน ทั้งสองบริษัทนี้มีเพียงแค่ตลาดเดียวที่ต้องครอบครอง นั้นคือสหรัฐกับจีนตามลำดับ แต่หากคุณสร้างโซเชียลมีเดียที่ดีมากในยุโรป คุณอาจจะเป็นที่นิยมในเนเธอร์แลนด์ แต่กลับไม่เป็นที่นิยมในสเปนก็เป็นได้
ความสามารถในการครอบงำตลาดของฝั่งอเมริกาก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง บริษัทเทคโนโลยีในอเมริกามีโอกาสที่จะซื้อบริษัทที่มีศักยภาพจากยุโรป เช่นกรณีของ Skype ที่ตอนแรกเป็นของฝั่งทวีปยุโรปเป็นคนต้นคิดและออกแบบ จนกระทั่งบริษัทสามารถเติบโตขึ้นมาเป็นระดับโลก สุดท้ายก็ถูกซื้อโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกาอย่าง Microsoft
ตัวอย่างที่ชัดเจนอีกหนึ่งเรื่องคือกรณีของ eBay ที่พยายามบุกตลาดยุโรป ที่ตอนนั้นไม่สามารถเข้ามาตีตลาดในยุโรปได้ เพราะมีบริษัทท้องถิ่นที่เป็นเจ้าตลาดอยู่
ในขณะนั้นเว็บไซต์ท้องถิ่นของเนเธอร์แลนด์อย่าง Marketplaats กำลังเป็นเจ้าตลาด ในเมื่อ eBay ไม่สามารถตีตลาดประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ eBay จึงตัดสินใจซื้อ Marketplaats แต่กลับไม่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น eBay ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ไม่เหมือนกับวิธีการทำตลาดในอเมริกา
การเข้าถึงเงินทุนก็เป็นปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ฝั่งอเมริกามีวัฒนธรรมของ Venture Capital ที่พร้อมจะลงทุนในธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งต่างจากยุโรปที่มีความระมัดระวังมากกว่า
นักลงทุนในอเมริกามีแนวคิดแบบ High Risk, High Reward ซึ่งทำให้มีการเปิดรับเรื่องของการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ มากกว่า ในขณะที่แนวคิดฝั่งยุโรปนั้นจะเป็นแบบอนุรักษนิยมมากกว่า มีความคิดที่ค่อยๆเติบโตไปเรื่อยๆและเน้นการเติบโตแบบยั่งยืน
สิ่งที่ยุโรปพยายามทำอยู่ตอนนี้คือพยายามจะกีดกันบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่จากอเมริกา โดยการสร้างกำแพงล่องหนเพื่อควบคุมไม่ให้บริษัทเหล่านี้มีอำนาจมากเกินไปในตลาดยุโรป บริษัทที่ถูกเรียกว่า Gatekeeper Companies นั้นรวมถึง Microsoft, Apple, Alphabet, Amazon, Meta และ Bytedance ของจีน
อย่างไรก็ตาม ยุโรปกำลังพยายามที่จะปรับตัวและต่อสู้กับยักษ์ใหญ่จากฝั่งอเมริกา การพัฒนานวัตกรรมและการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของบริษัทเทคโนโลยีในยุโรป ยังคงเป็นความท้าทายที่ต้องติดตามกันต่อไป ต้องรอดูกันว่าฝั่งยุโรปจะสามารถล้มยักษ์ใหญ่เหล่านี้ได้หรือไม่.