สื่อสารเดือดศึก ‘เอไอเอส-ทรู’ - 'แจส’ คว้าพรีเมียร์ลีก จับตาผนึก ‘บิ๊กโทรคม’
‘แจส’ คว้าลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกอังกฤษ 6 ฤดูกาล 1.9 หมื่นล้าน เปิดพันธมิตรร่วม จับตาผนึก “บิ๊กโทรคม” ด้าน “ทรู” ยันพลาดลิขสิทธิไม่กระทบธุรกิจ “เอไอเอส” ชี้เป็นโอกาสผู้บริโภค นักวิเคราะห์มองสภาพคล่อง ‘แจส’ เสี่ยง เปิดรายชื่อชิงลิขสิทธิ์ฯ ‘แจส ทรู เอไอเอส บีจีสปอร์ต
KEY
POINTS
- ‘JAS’ เล่นใหญ่ครึกโครม ปิดดีลยักษ์คว้าลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก 1.9 หมื่นล้าน หวังชุบชีวิตธุรกิจ นักวิเคราะห์ มอง 'JAS' ยังขาดสภาพคล่องหนัก
- จับตาผนึก ‘บิ๊กโทรคม’ ร่วมเป็นพันธมิตร ปั้นคอนเทนต์ลุยทุกแพลตฟอร์ม
- นักวิเคราะห์ ชี้อย่ามองข้ามตัวแปรสำคัญ “เอไอเอส” พันธมิตรใหญ่ JAS หลังชุบชีวิต 3BB สู่ ‘AIS 3BB Broadband Fiber3’
- เปิดรายชื่อ 4 บริษัทเข้าชิง ‘แจส ทรู เอไอเอส บีจีสปอร์ต’
นับเป็นดีลใหญ่ส่งท้ายปี เมื่อลีกฟุตบอลอันดับหนึ่งของโลก “พรีเมียร์ลีก” ที่ถูกนิยามว่าเป็น “The Greatest Show on Earth” หรือการแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก เป็นรายการฟุตบอลที่ได้รับความนิยมสูงสุดตลอดกาล มีแฟนฟุตบอลติดตามรับชมมากที่สุด กำลังเปลี่ยนมือผู้ถือลิขสิทธิ์ใหม่ โดยผู้ที่ได้ครอบครองสิทธิแต่เพียงผู้เดียว (Exclusivity) รายใหม่ จากบริษัทเอฟเอ พรีเมียร์ลีก คือ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ผู้ให้บริการ 3BB GIGATV , MONOMAX และ MONO29 ถือหุ้นใหญ่โดย “พิชญ์ โพธารามิก”
ทั้งนี้ JAS แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อแจ้งเรื่องการได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทเพื่อซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก รวมถึงรายการฟุตบอลเอฟเอ คัพ เป็นเวลา 6 ฤดูกาล เริ่มตั้งแต่ฤดูกาล 2025-26 หรือฤดูกาลถัดไป มูลค่าของลิขสิทธิ์ทั้งหมดอยู่ที่ 559,980,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 19,167,723,414 บาท
สำหรับการประมูลลิขสิทธิ์ครั้งนี้ มีบริษัทเข้าประมูลทั้งหมด4 ราย ได้แก่ JAS, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น , บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส และ บริษัท บีจี สปอร์ตส์
ผู้บริหารแจสฯ พร้อมเปิดรับพันธมิตร
ดร.โสรัชย์ อัศวะประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (รักษาการ) บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS กล่าวกับสื่อในเครือเนชั่น กรุ๊ป ถึงรายละเอียดของลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก แนวทางการรับชมและราคา แบ่งเป็น
1.สัญญาและระยะเวลาการประมูล เป็นการประมูลสำหรับลิขสิทธิ์ 6 ฤดูกาล มูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 559,980,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 19,167,723,414 บาท เป็นราคาสำหรับลิขสิทธิ์ระยะเวลา 6 ปี
2. ช่องทางการรับชมผ่านช่องทางหลัก คือ MONOMAX ซึ่งเป็นสตรีิมมิ่ง แพลตฟอร์มและ โมโน 29 ซึ่งเป็น Free-to-air platform ของ MONO NEXT PCL. (“MONO”) มีแนวทางจัดจำหน่ายผ่านทุกเน็ตเวิร์ค และโมบาย โอเปอเรเตอร์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นแอปสโตร์ (IOS),กูเกิล สโตร์, เอไอเอส หรือ ทรู เพื่อสนับสนุนให้คอนเทนต์เข้าถึงผู้ชมได้มากที่สุด
3.ราคาและคุณภาพราคาจะถูกกว่าราคาตลาดปัจจุบันและมีนโยบายราคาเดียว ไม่ว่าจะรับชมผ่านทางช่องทางไหน รักษาคุณภาพการถ่ายทอด ภาพคมชัดระดับ Full-HD ด้วยเทคโนโลยีการปรับ Auto bit rate ตามความเร็วของอินเทอร์เน็ต และอุปกรณ์รับสัญญาณของผู้ชม และรับชมความละเอียม 4K
จับตา “เอไอเอส” พันธมิตรร่วม
ขณะที่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การคว้าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกมูลค่าเฉียด 2 หมื่นล้านของ JAS ครั้งนี้ น่าวิเคราะห์ต่อว่า JAS จะมีเงินทุนเพียงพอที่จะบริหารลิขสิทธิ์จนจบหรือไม่ ขณะที่ JAS ยังมีพันธมิตรใหญ่ คือ เอไอเอส ที่เทคโอเวอร์ “ทริปเปิลที บรอดแบนด์” ไปแล้ว และปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น AIS 3BB Fiber3
จึงน่าคิดต่อว่า สุดท้ายแล้วการถ่ายทอดลิขสิทธิ์ หรือ “พันธมิตร” ที่อาจเข้าร่วมครั้งนี้แม้ยังไม่ได้เปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายเดาได้ไม่ยากว่า “AIS Play” แอปพลิเคชัน และ AIS Play Box สตรีมมิงแพลตฟอร์มตัวเก่งของเอไอเอส น่าจะมีส่วนร่วมกับการถ่ายทอดควบคู่กันไปด้วย ทำให้ AIS Play เติมเต็มคอนเทนต์เดียวที่ยังไม่มี คือ พรีเมียร์ลีก หากเป็นอย่างนั้นจริงจะทำให้ “เอไอเอส” เบียด “ทรูวิชั่นส์” ขึ้นมาเป็นสตรีมมิงแพลตฟอร์ม ที่มีคอนเทนต์ระดับซูเปอร์ไฮเอนด์ได้ครบถ้วน
เอไอเอส มองเป็นโอกาสผู้บริโภค
นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส กล่าวแสดงความยินดีกับ JAS ที่ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีก แต่ด้วยข้อมูลที่มีจำกัดตอนนี้ยังออกความเห็นอะไรไม่ได้ แต่อยากให้มองที่โอกาสของผู้บริโภค ที่จะเข้าถึงคอนเทนต์ที่เป็นที่นิยมได้แพร่หลายมากขึ้น
ส่วนการแข่งขันในตลาดสตรีมมิง หรือระบบบอกรับสมาชิกจะรุนแรงขึ้นมากน้อยแค่ไหนคือ สภาวะปกติของตลาดที่เป็นไปตามกลไก และเมื่อโครงสร้างพื้นฐาน 5จี โครงข่ายอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์แข็งแรงอย่างมากก็ถือเป็นโอกาสให้แก่ผู้ให้บริการคอนเทนต์เช่นกัน
‘ทรู’ รับพลาด-ยันดูได้ถึง พ.ค.68
นายองอาจ ประภากมล หัวหน้าสายงานทรูวิชั่นส์ และมีเดีย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ทรูวิชั่นส์ มีความตั้งใจที่จะได้มาซึ่งคอนเทนต์ลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกอังกฤษ ซึ่งครั้งนี้ก็เช่นกันได้ร่วมประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ฤดูกาล 2025-2028 ซึ่งแม้ได้ยื่นข้อเสนอแข่งขันไปในราคาที่เหมาะสม แต่เนื่องจากมีผู้ร่วมประมูลรายอื่นเสนอราคาสูงกว่าจึงได้รับสิทธิถ่ายทอดสำหรับฤดูกาลหน้าไป
อย่างไรก็ตาม สมาชิกทรูวิชั่นส์ ยังรับชมพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2024/2025 ได้จนถึงเดือนพ.ค.ปี 2568 รวมทั้งยังชมคอนเทนต์กีฬาฟุตบอลระดับโลกอื่นๆ บนทรูวิชั่นส์ เช่น ลาลีกา,บุนเดสลีกา, ซาอุดิลีก, ซาอุดี คิงส์คัพ, เอลีก (ออสเตรเลียน ลีก), ยูฟ่าแชมเปียนส์ ลีก, ยูฟ่ายูโรปา ลีก, ยูฟ่า คอนเฟอเรนซ์ ลีก, เอฟเอคัพอังกฤษ รวมถึงฟุตบอลไทยลีก1 ไทยลีก2, ช้างเอฟเอคัพ และ รีโวคัพ
“ผลประมูลครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของทรู คอร์ปอเรชั่น หรือความพึงพอใจของลูกค้าสมาชิก เรายังมุ่งมั่นลงทุนในคอนเทนต์ที่หลากหลายทั้งในระดับโลก และระดับประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการความบันเทิงของสมาชิกทุกกลุ่มเป้าหมาย” นายองอาจ กล่าว
เจาะสดเงินในมือ JAS เหลือ 4,678 ล้าน
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูศักยภาพภาพทางการเงิน JAS ตามข้อมูลงบการเงินปี 2566 บริษัทมีสินทรัพย์เหลือ 23,238 ล้านบาท ลดลงจากก่อนหน้าที่มีสินทรัพย์เกือบแสนล้านบาท จากการขายธุรกิจบรอนด์แบรนด์ “3BB” หรือบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบรนด์ จำกัด (มหาชน) ออกไปส่งผลทำให้มีรายได้ 28,760 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 41% และสามารถพลิกมีกำไรที่ 19,387 ล้านบาท จากที่ผ่านมามากกว่า 3 ปีเผชิญภาวะขาดทุนต่อเนื่อง
จากงบการเงินล่าสุดไตรมาส 2 ปี 2567 ฐานะการเงินบริษัทมีสินทรัพย์ 16,268 ล้านบาท มีเงินสด และรายการเทียบเท่าเงินสดที่ 4,678 ล้านบาท มีประมาณการหนี้สินระยะสั้นรวม 1,280 ล้านบาท
ขณะที่ รายได้เพิ่มอย่างก้าวกระโดดที่ 980 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 460 ล้านบาท หรือ 88% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน แต่รายได้ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และเทคโนโลยี โซลูชัน จำนวน 623 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 208 ล้านบาท หรือ 50% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มาจากทั้งการให้บริการวงจรเช่าในประเทศ และระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น และธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ ซึ่งสิ้นไตรมาส มีจำนวนเหรียญบิตคอยน์คงเหลือ 174.3828 ดอลลาร์
ส่วนรายได้รองลงมาคือ รายได้จากส่วนงานให้บริการอินเทอร์เน็ตทีวี จำนวน 115 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 102 ล้านบาท หรือ785 % จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน หลังจากให้บริการ IPTV ภายใต้แบรนด์ 3BB GIGA TV แก่ลูกค้าของ 3BB ภายใต้ความร่วมมือทางธุรกิจกับกลุ่มเอไอเอส
ทั้งนี้ หากเจาะงบการเงินด้านกระแสเงินสด และความสามารถหารายได้ พบว่า ยังเผชิญตัวเลขปรับตัวลดลง โดยติดลบตั้งแต่ปี 2566 มีรายได้จากการดำเนินธุรกิจ 2,220 ล้านบาท ลดลง 88% , ช่วง 6 เดือนแรกปี 2567 มีรายได้จากการดำเนินธุรกิจ 1,840 ล้านบาท ลดลง 80.76% และความสามารถสร้างกระแสเงินสด หรือเงินสดในมือปี 2566 อยู่ที่ 5,836 ล้านบาท และงวด 6 เดือนปี 2567 พลิกกลับมาติดลบ 2,377 ล้านบาท
“บล.กสิกรไทย” มองเชิงลบต่อเงินลงทุน JAS
นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวว่า มีมุมมองเชิงลบจากความเคลื่อนไหวของ JAS ขณะนี้เงินลงทุนสำหรับ EPL และเอฟเอคัพค่อนข้างสูง น่าจะสร้างผลตอบแทนได้ยากขึ้นเพราะ JAS ไม่มีลูกค้า จึงจำเป็นต้องให้เช่าช่วงคอนเทนต์ต่อผู้ให้บริการแพลตฟอร์มคอนเทนต์ ยกเว้น TRUE เช่น MonoMax, AIS Play, digital terrestrial TV broadcasters เป็นต้น
ขณะที่ TRUE การสูญเสียแหล่งดึงดูดคอนเทนต์ ถือว่าสูญเสียตำแหน่งผู้นำ ทําให้ TRUE แตกต่างจากคู่แข่งรายอื่น และรักษากลุ่มลูกค้าที่มีมูลค่าสูง อย่างไรก็ดี เชื่อว่าผลกระทบทางการเงินจะน้อยกว่าผลกระทบด้านความรู้สึก หากพิจารณาถึงประวัติในอดีตตอนที่ TRUE เสียลิขสิทธิ์ถายทอด EPL ให้คู่แข่งระหว่างปี 2556-2561
ส่องการเงิน JAS จะมีเงินพอหรือไม่
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลัง JAS คว้าลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกและเอฟเอ คัพ 6 ฤดูกาล คาด JAS จะใช้เงินสด และก่อหนี้รองรับการลงทุน แม้เฉพาะค่าลิขสิทธิ์ ฐานะการเงิน JAS ปัจจุบันรองรับได้สิ้นสุดไตรมาส 2 ปี 2567 หากอิง 1.เงินสดในมือ 4.7 พันล้านบาท 2. เงินที่จะได้รับจากการขายหุ้นทุนซื้อคืน หุ้นละ 3.5 บาท 300.7 ล้านหุ้น (ระหว่างวันที่ 24 ต.ค.24 - 24 มี.ค. 25) ราว 1.0 พันล้านบาท และ 3.สถานะเป็น Net Cash เพราะแม้ JAS มีหนี้สินรวม 4.4 พันล้านบาท โดยเป็นหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ย 736 ล้านบาท ขณะที่ฐานทุนสูง 1.07 หมื่นล้านบาท
“หยวนต้า” ชี้กระทบ TRUE อย่างไม่มีนัย
ด้าน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เผยว่า ในส่วนของ TRUE คาดว่า มูลค่าการประมูลเกินกว่าระดับที่บริษัทจะทำกำไรได้อย่างมีนัย ดังนั้น บริษัทน่าจะเลือกไม่แข่งขันด้านราคา และหาทางเลือกอื่นให้ลูกค้าแทน
ปัจจุบัน TRUE ยังมีสิทธิถ่ายทอดถึงเดือนพ.ค. 2568 หรือสิ้นสุดฤดูกาลนี้ ทำให้มีเวลาบริหารผลกระทบที่อาจเกิดกับลูกค้าทรูวิชั่นส์ หรือทรูไอดี บางส่วนที่เลือกสมัครเพราะเน้น Package Premier League ดังกล่าว โดยรวมมองเป็นกลางกับ TRUE ตลาดอาจตกใจเพราะสูญเสียคอนเทนต์สำคัญ แต่การไม่ทำธุรกิจที่ไม่ทำกำไร และไม่ประมูลในราคาสูงมากเหมือนในอดีต สะท้อนวินัยทางการเงินที่ดีมากขึ้น
ขณะที่การแข่งขันอาจมีผลกระทบบ้างจากคู่แข่งที่มี Key Content แต่จากราคาประมูลที่สูงขนาดนี้ ประเมินไม่ง่ายที่จะทำกำไร และราคาขายให้ลูกค้าจำเป็นต้องอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ TRUE ยังมีคอนเทนต์อื่นที่ใช้ประคอง จึงมีผลกระทบไม่มากนัก และธุรกิจ PayTV ไม่ใช่ธุรกิจที่ทำกำไรของกลุ่ม TRUE อยู่แล้ว เป็นธุรกิจที่ทำประคองตัวเพื่อให้มีคอนเวอร์เจนซ์ครบถ้วนมากกว่า
นายวทัญ จิตต์สมนึก ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บล.พาย ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าการได้ลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกของ JAS ไม่ได้การันตีว่าจะสามารถทำกำไรได้ หรือได้รายได้เท่าไร หากดูก่อนหน้า JAS ผลประกอบการหลัก ที่มาจาก 3BB แต่ได้มีการขายให้กับ ADVANC ไป จึงทำให้มีการหาธุรกิจใหม่เข้ามา ราคาหุ้นที่ปรับขึ้นจึงเป็นการเก็งกำไรระยะสั้นจากฟุตบอลพรีเมียร์ลีก แต่ในระยะยาวยังไม่ได้มีความชัดเจน
เปิดรายละเอียดสำคัญลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก
สำหรับรายละเอียดของลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกที่ JAS แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า เป็นผู้ชนะประมูลได้เข้าลงนามใน Standstill Agreement กับ FAPL วันที่ 8 พ.ย.2567 เพื่อให้ได้รับสิทธิเพียงผู้เดียวในการเจรจากับ FAPL ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ Long Form Agreement จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย
1. การถ่ายทอดสดภาพและเสียง (Live Package) สำหรับฟุตบอลพรีเมียร์ลีก 2. การถ่ายทอดสดภาพ และเสียง รวมทั้งคลิปภาพ และเสียงดิจิทัลสำหรับเอฟเอคัพ (FA Rights) 3.คลิปภาพ และเสียงดิจิทัล (Clips Package) สำหรับฟุตบอลพรีเมียร์ลีก
โดย Standstill Agreement เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ทำStandstill Agreement จนถึงวันที่ 15 ม.ค. หรือวันที่พ้น 45 วันนับแต่วันที่ FAPL นำส่งร่างสัญญาถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกแรกให้บริษัท ซึ่งบริษัท และ FAPL ต้องลงนามสัญญาถ่ายทอดสดฟุตบอล อันเป็นการเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมด
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์