Thomas Dohmke ซีอีโอ GitHub มองว่าเอไอต้องมีหลายขั้ว ย้ำ ‘โอเพนซอร์สยังเป็นราชา’

Thomas Dohmke ซีอีโอ GitHub มองว่าเอไอต้องมีหลายขั้ว ย้ำ ‘โอเพนซอร์สยังเป็นราชา’

เปิดวิสัยทัศน์ Thomas Dohmke ผู้บริหาร GitHub กับเป้าหมายปั้นนักพัฒนาทั่วโลก 1 พันล้านคน ด้วยทักษะการเขียนโค้ด โดยมองว่า ‘ยิ่งแข่งกันพัฒนาเอไอมากเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มศักยภาพมากขึ้น และโอเพนซอร์สยังเป็นราชา’

โทมัส ดอห์มเคอ (Thomas Dohmke) ประธานกรรมการบริหารของกิตฮับ (GitHub) ให้สัมภาษณ์กับทางสำนักข่าว The Verge ไว้ว่า อุตสาหกรรมเอไอจำเป็นต้องมีการแข่งขันเพื่อการเติบโต โดยเขาเปรียบเทียบว่าหากมีเพียงผู้เล่นรายเดียวในตลาดก็เหมือนกับ “กีฬาที่มีทีมเดียวในลีก” ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาในระยะยาว

ซีอีโอกิตฮับมองว่า โอเพนซอร์สยังคงเป็นหัวใจสำคัญ “Open Source is Still King” ซึ่งในช่วงปลายเดือนมกราคมปี 2568 เราได้เห็นการเปิดตัวของเอไอสัญชาติจีนอย่าง DeepSeek กำลังได้รับความนิยม เนื่องจากสามารถพัฒนาความสามารถได้เทียบเท่า GPT-4 แต่ใช้ต้นทุนทั้งด้านชิปการประมวลผล และเม็ดเงินที่ต่ำกว่า 

โดย “เหลียง เหวินเฟิง” (Liang Wenfeng) ผู้ก่อตั้ง DeepSeek ได้เลือกใช้แนวทางโมเดลการให้บริการเอไอแบบโอเพนซอร์ส แม้คำให้การของโทมัสจะปรากฏในเดือนสิงหาคม 2567 หากแต่บทบาทของโอเพนซอร์สก็ยังคงได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นผ่านบริการต่างๆ ที่กิตฮับทยอยเปิดตัว ซึ่งล้วนเน้นการสนับสนุนระบบโอเพนซอร์ส 

กิตฮับมุ่งมั่นสนับสนุนชุมชนโอเพนซอร์สผ่านบริการต่างๆ มาโดยตลอดหลายปี ยกตัวอย่างเช่น การให้บริการฟรีสำหรับโปรเจกต์โอเพนซอร์ส การสนับสนุนระบบ GitHub Sponsors หรือการเชื่อมต่อกับ Patreon เพื่อช่วยให้นักพัฒนาสามารถสร้างรายได้

อย่างไรก็ตาม แม้โอเพนซอร์สจะสร้างความกังวลให้กับชุมชนนักพัฒนาเกี่ยวกับการใช้โค้ดโอเพนซอร์สในการเทรนด์เอไอ เนื่องจากยังมีจุดเสียเปรียบของระบบ เช่น การเปิดเป็นโมเดลโอเพนซอร์สอาจะทำให้แฮกเกอร์หรือผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถตรวจสอบช่องโหว่ในระบบ และโจมตีได้หากไม่มีการรักษาความปลอดภัยที่เพียงพอ 

โทมัสยอมรับว่าเป็นประเด็นที่ซับซ้อน และต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อหาจุดสมดุล แต่ก็ยังมีข้อดีตรงที่เป็นโปรแกรมโปร่งใส และสามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการของผู้ใช้ เขาย้ำว่า “กิตฮับมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนชุมชนโอเพนซอร์สผ่านบริการฟรี และระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างรายได้ของนักพัฒนา”

ซีอีโอที่ใช้กรอบบริหารแบบ ‘View, Voice, Vote, Veto’ 

ในบทบาทของการเป็นซีอีโอ โทมัสได้นำกรอบการบริหารแบบ “View, Voice, Vote, Veto” มาใช้ในการตัดสินใจ โดยเขามักจะเลือกที่จะ View หรือ Voice มากกว่าที่จะมีส่วนร่วมในการลงมติในประเด็นที่อาจไม่มีความเชี่ยวชาญเพียงพอ 

ยกตัวอย่างการอภิปรายในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่เขาไม่คุ้นเคย เช่น การใช้ React เขามักจะเลือกที่จะ View หรืออ่านความคิดเห็นต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญในทีม เพื่อทำความเข้าใจ และหาข้อมูลเพิ่มเติมมากกว่าที่จะลงลึกในการตัดสินใจทันที

การทำงานในฐานะส่วนหนึ่งของไมโครซอฟท์

ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างกิตฮับกับไมโครซอฟท์ (Microsoft) และโอเพนเอไอ (OpenAI) โทมัสอธิบายว่า ไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่หลายคนคิด แม้ว่ากิตฮับจะเป็นส่วนหนึ่งของไมโครซอฟท์แต่ก็ยังคงรักษาความเป็นอิสระในการดำเนินงาน สะท้อนผ่านการที่กิตฮับสามารถร่วมมือกับบริษัทอื่นๆ ได้อย่างยืดหยุ่น

นับตั้งแต่การเข้าซื้อกิจการโดยไมโครซอฟท์ในปี 2561 กิตฮับได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาเอไอ พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะการเข้าถึงบริการอาชัวร์ (Azure) ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบริษัท

“การที่บริษัทหนึ่งประสบความสำเร็จไม่ได้หมายความว่าอีกบริษัทต้องล้มเหลว แต่การแข่งขัน และความร่วมมือที่สมดุลต่างหากที่จะช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรม และการพัฒนาในอุตสาหกรรมเอไอ” โทมัส กล่าว

ปั้นนักพัฒนาทั่วโลก 1 พันล้านคน ด้วยทักษะการเขียนโค้ด

กิตฮับยังมีเป้าหมายที่จะขยายจำนวนนักพัฒนาทั่วโลกให้ถึง 1 พันล้านคนในอนาคต โดยเป้าหมายนี้ไม่ได้หมายถึงแค่การเพิ่มจำนวนผู้ใช้กิตฮับแต่ยังรวมถึงการทำให้ “การเขียนโค้ด” กลายเป็นทักษะพื้นฐานที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ เช่นเดียวกับการวาดภาพหรือการเล่นดนตรี

โทมัสเชื่อว่า การเขียนโค้ดไม่ควรเป็นทักษะที่จำกัดแค่เฉพาะนักพัฒนา หรือผู้ที่ทำงานในวงการเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ควรเป็นทักษะที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ และนำไปใช้ในการแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ได้ 

“เราอยากให้การเขียนโค้ดกลายเป็นทักษะที่ทุกคนควรจะเรียนรู้ เหมือนกับการวาดภาพหรือการเล่นดนตรี การมีทักษะนี้จะช่วยให้ผู้คนสามารถแสดงออก และสร้างสิ่งใหม่ๆ ด้วยความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง” 

JetBrains บริษัทด้านซอฟต์แวร์ได้เปิดเผยผลสำรวจ State of Developer Ecosystem 2024 ซึ่งรวบรวมความคิดเห็นจากนักพัฒนากว่า 23,000 คน พบว่า “GitHub Copilot” ได้รับความนิยมเป็นอันดับสองในกลุ่ม AI Assistant โดยมีอัตราการใช้งานต่อเนื่องหลังการทดลองใช้สูงถึง 64.5%

รองจาก ChatGPT ที่มีอัตราการใช้งานต่อเนื่องสูงถึง 66.4% ในขณะที่ Claude แม้จะมีผู้ใช้เพียง 2.7% แต่กลับมีอัตราการใช้งานต่อเนื่องสูงถึง 52.4% ตามด้วย Codeium ที่ 48.3% และ Google Gemini ที่ 37.6% ตามลำดับ

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่านักพัฒนากำลังให้ความสนใจกับการเขียนโค้ดผ่าน VR Headset มากขึ้น โดยมีผู้ที่ได้ทดลองใช้งานแล้วประมาณ 8% และมีอีกเกือบ 50% ที่แสดงความสนใจที่จะทดลองใช้เทคโนโลยีดังกล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์