มช.ส่งต่อวิชาสกัดน้ำมันหอม

มช.ส่งต่อวิชาสกัดน้ำมันหอม

คณะเภสัชศาสตร์จับมือบริษัทเอกชน ลงนามสัญญาอนุญาตการให้ใช้เทคโนโลยีการสกัดน้ำมันหอมระเหย-สารหอมจากสมุนไพร

ประภาภรณ์ เครืองิ้ว รายงาน

คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยนักวิจัยคณะเภสัชศาสตร์ และนายวีระพล เหมรัตนกร กรรมการผู้จัดการบริษัทเวลเทค ไบโอเทคโนโลยี จำกัด ได้ร่วมลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีการสกัดน้ำมันหอมระเหยและสารหอมจากพืชหอมไทยที่มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่น

การลงนามครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ทางภาควิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ ได้พัฒนากรรมวิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหยและสารหอมจากสมุนไพรไทยและดอกไม้ โดยใช้วิธีการสกัดด้วยตัวทำละลาย และได้มีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและพฤกษเคมี และสารหอม จนทำให้สามารถนำน้ำมันหอมระเหยและสารหอมจากพืชไทย มาใช้ประโยชน์ในผลิตภัณฑ์ชะลอความแก่ของผิวหนังและผลิตภัณฑ์สปา และเป็นการช่วยยกระดับผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ที่มีราคาแพง และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

รศ.พิมพร ลีลาพรพิสิฐ อาจายร์ภาควิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ และหัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางคณะเภสัชศาสตร์ ได้มีการศึกษาและวิจัยในการสกัดน้ำมันหอมจากสมุนไพรมาอย่างต่อเนื่อง โดยจะเน้นสารสกัดที่มีสามารถนำไปใช้ในเรื่องของเวชภัณฑ์เครื่องสำอางได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการชะลอวัย การรักษาสิว และการเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับผิว และได้มีการศึกษาวิจัยสมุนกว่า 20 ชนิดในแต่ละครั้ง เพื่อให้ได้สารสกัดที่พอใจ และเป็นที่ชื่นชอบของประชาชน เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ส่วนงานวิจัยที่ทางคณะเภสัชศาสตร์กำลังให้ความสนใจและมีการจดสิทธิบัตร เพื่อเตรียมนำไปถ่ายทอด หรือนำไปพัฒนาต่อ คือการวิจัยในเรื่องของการสกัดสารต้านอนุมูลอิสระในเมล็ดลิ้นจี่ เนื่องจากในพื้นที่ภาคเหนือมีการปลูกกันเป็นจำนวนมาก ทางคณะจึงได้มีการศึกษาวิจัย เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดผู้บริโภคทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

ด้านนายวีระพล เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้ดำเนินการธรุกิจกเานการผลิตสารออกฤทธิ์ สำหรับเครื่องสำอางและอาหารเสริม เพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ แต่ด้วยการนำเข้าสารสกัดน้ำมันหอมและสารหอมจากต่างประเทศมีราคาสูง ทางบริษัทจึงได้มีการขอความร่วมมือจากทางคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการทำการวิจัยเพื่อหาสารสกัดและสารหอมระเหย จนประสบความสำเร็จ และได้มีการลงนามเพื่อขออนุญาตในการใช้สิทธิเทคโนโลยีการสกัดน้ำมันหอมระเหยและสารหอมจากพืชหอมไทยที่มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่น เพื่อนำไปประกอบในการดำเนินธรุกิจ และเป็นการสร้างรายได้และยกระดับมาตรฐานของสมุนไพรไทย ด้วย

สำหรับในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับผลตอบแทนจากนักวิจัยรวมมูลค่าไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาาท รวมทั้งที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์ ทั้งการส่งเสริมผลงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่เกิดจากการคิดค้นพัฒนาของนักวิจัย เป็นจำนวนมาก ทั้งการอนุญาตใช้สิทธิบัตร อนุสิทธิบัตรให้กับบริษัทเอกชนจำไปผลิตและจำหน่าย จำนวน 10 บริษัท การอนุญาตใช้สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้แก่วิสาหกิจชุมชน จำนวน 17 บริษัท การจัดทำข้อตกลงในการใช้ตัวอย่างพันธุกรรมพืช ร่วมกับบริษัทเอกชนที่สนใจในพันธุกรรมพืช จำนวน 8 บริษัท