'สตูดิโอ ฟลามิงโก' ดีไซน์ปั้นแบรนด์

พวงกุญแจช้าง ตุ๊กตาช้างและสินค้าที่ระลึกอื่นๆ ล้วนมีรูปร่างหน้าตา พิมพ์เดียวกันเป็นโจทย์หินของผู้ประกอบการที่แสวงหาความต่าง
สาลินีย์ ทับพิลา - รายงาน
พวงกุญแจช้าง ตุ๊กตาช้างและสินค้าที่ระลึกอื่นๆ ในมีช้างเป็นตัวชูโรง ไม่ว่าจะอยู่บนแผงขายในย่านไนท์บาซาร์เชียงใหม่หรือในร้านสินค้าที่ระลึกบนห้างสรรพสินค้า ล้วนมีรูปร่างหน้าตา พิมพ์เดียวกัน เป็นโจทย์หินของผู้ประกอบการที่แสวงหาความต่างให้กับแบรนด์ของตน แต่ไม่ยากสำหรับ "กณิกนันท์ ตาคำ" นักออกแบบหน้าใหม่ที่สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยศิลปะ สื่อและ เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เธอเลือกที่จะเสริมกลิ่นอายความเป็นชนเผ่าไว้บนตัวช้าง โดยใช้ผ้าทอจากชาวเขาเผ่าลีซูมาเป็นแนวคิดหลัก และนำมาขึ้นลวดลายดิจิทัล เสริมกับลวดลายของผ้าทอ กลายมาเป็นวัตถุดิบ หลักในการผลิตตุ๊กตาช้างจากผ้าลายใหม่ และขยายไปเป็นสินค้าอื่นๆ เช่น ตุ๊กตาลีซู ผ้าพันคอ ที่ให้ความแปลกใหม่ แต่ยังคงคอนเซ็ปต์ของความเป็นพื้นเมืองของภาคเหนือ
:: ออกแบบเพื่อขาย
นอกจากการแปลงโฉมสินค้าที่ระลึกให้กับแบรนด์ผู้ประกอบการท้องถิ่นแล้ว กณิกนันท์ยังสร้างแบรนด์ของตัวเองในชื่อ สตูดิโอ ฟลามิงโก (Studio Flamingo) ออกแบบและผลิตสินค้า กลุ่มเครื่องเขียน สินค้าที่ระลึก กระเป๋ารวมถึงตุ๊กตา โดยอาศัยการสังเกตสิ่งเล็กๆ รอบตัว ที่สามารถสื่อให้เข้าถึงคนหมู่มากได้ง่าย มาเป็นแรงบันดาลใจในงานออกแบบ เพื่อประยุกต์ศิลปะที่เข้าถึง ยาก ราคาสูง ให้เป็นสิ่งที่จับต้องได้
สตูดิโอ ฟลามิงโกใช้งบลงทุนราว 1 แสนบาท และคืนทุนได้ในเวลาเพียงครึ่งปี ถือเป็นนักออกแบบและนักธุรกิจหน้าใหม่ที่ก้าวหน้า
"การตลาดหลักของสตูดิโอ ฟลามิงโกคือ การออกงานแฟร์ เริ่มจากงาน NAP ที่มีลูกค้าตามมาซื้อทุกปี โดยเฉพาะลูกค้าต่างจังหวัด จากนั้นหลังจากเปิดบริษัทได้เพียง 2 เดือนก็มีโอกาส เข้าร่วมงานเทศกาลวาเลนไทน์ที่โรบินสันเชียงใหม่ ทั้งยังได้รับการติดต่อให้วางจำหน่ายสินค้าในบีทูเอส" กณิกนันท์กล่าว
ขณะเดียวกัน เธอเปิดหน้าร้านเป็นสตูดิโอออกแบบ และวางจำหน่ายสินค้าแบรนด์ตนเอง รวมถึงเป็นสถานที่จัดแสดงผลงานดีไซน์ให้ลูกค้าสามารถเลือกแบบและปรับแต่งให้เหมาะกับ ความต้องการ
ยอดขายมาจากงานบริการ 60%ของรายได้ทั้งหมด โดยอีก 40% เป็นรายได้จากการขายสินค้าในแบรนด์สตูดิโอ ฟลามิงโก ที่ 50% มาจากยอดขายในบีทูเอส ที่เหลือมาจากการขายที่หน้า ร้านในเชียงใหม่และการขายออนไลน์
:: ปรับด้วยความคิดสร้างสรรค์
ความยากของการทำธุรกิจ เธอชี้ว่า การวางระบบบริหารจัดการ รวมถึงการบริหารคน ที่ลำบากมากในช่วงเริ่มต้น เพราะเป็นธุรกิจครบวงจรที่ต้องการกำลังคนที่มีทักษะ ซึ่งหาคนได้ยาก
"นอกจากนี้ ในช่วงแรกของการทำสินค้าแบรนด์ตนเอง ก็มีปัญหาถูกลอกเลียนแบบ ทั้งตัวสินค้า การตัดเย็บ เหมือนกันหมด จึงต้องสู้โดยใช้การออกแบบเรื่องของลายเส้นที่ใส่รายละเอียด มาก วัสดุคุณภาพสูง และออกแบบสินค้าใหม่เรื่อยๆ เพื่อหนีการเลียนแบบ"
อนาคตของสตูดิโอฟลามิงโก เธอตั้งเป้าจะเพิ่มรายได้จากการออกแบบและจำหน่ายสินค้าใหม่ อาทิ เสื้อผ้า แอคเซสซารี่ รวมถึงเปิดตลาดใหม่ทั้งลูกค้าต่างจังหวัด ที่มีแผนจะหาพันธมิตร เปิดหน้าร้านในจังหวัดใหญ่ๆ และออกแบบสินค้าโดยใช้จุดเด่นของจังหวัดนั้นๆ ซึ่งจะเริ่มที่ลำปาง เชียงราย และหัวหิน รวมถึงตลาดต่างประเทศ เช่น เกาหลี และญี่ปุ่น ในส่วนของงานบริการจะมา จากการออกงานแฟร์ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้กับผู้เข้าชม
อย่างไรก็ตาม การเรียนในสาขาแอนิเมชันและคาร์แรกเตอร์ดีไซน์ ทำให้มองเห็นความสำคัญของงานออกแบบ และอยากที่จะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ใส่ใจเรื่องการออกแบบไปพร้อม ๆ กับบริการด้านการออกแบบ เพื่อพัฒนาให้ผู้ประกอบการเห็นมูลค่าของการออกแบบมากขึ้น
"หวังที่จะลบภาพที่ลูกค้ามองว่า การออกแบบไม่มีค่าออกแบบ จึงแยกค่าออกแบบมาให้เห็น แน่นอนว่าบางคนรับไม่ได้ แต่คนที่รับได้ก็จะเป็นลูกค้าของเราต่อไปและทำงานร่วมกันอย่าง เข้าใจ ซึ่งจุดนี้จะช่วยให้นักออกแบบและงานออกแบบของไทยมีมูลค่าและความสำคัญในทุกอุตสาหกรรม" กณิกนันท์กล่าวปิดท้ายถึงหัวใจความสำเร็จของธุรกิจในสไตล์สตูดิโอ ฟลามิงโก