โมบิลิตี้ กระแสแรง เสริมอิทธิพลเว็บ2.0

โมบิลิตี้ กระแสแรง เสริมอิทธิพลเว็บ2.0

ข้อมูลจากบริษัทวิจัยการ์ทเนอร์เผยเทรนด์เทคโนโลยีที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อวิถีชีวิตและโลกธุรกิจยุคไฮเทค

นายมนู อรดีดลเชษฐ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่อง “ธุรกิจและบริการออนไลน์ 2.0” จัดโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที)

"การแข่งขันจากนี้จะต่างจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซยุคแรกๆ คือเป็นเรื่องของการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อสร้างความสัมพันธ์ ทำให้เกิดการพูดคุยกัน สำคัญมีผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง"

ข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ “แมคคินซีย์” เดือน พ.ย.เผยถึงเครื่องมือด้านโซเชียลและเว็บ 2.0 (การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเว็บไซต์ยุคที่เน้นผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง) ที่นิยมในองค์กรว่า 2 อันดับแรก 61% ของบริษัทที่ทำแบบสำรวจใช้วีดิโอคอนเฟอร์เรนซ์ และ 58% นำโซเชียล เน็ตเวิร์คไปใช้ นัยสำคัญคือการใช้งานรูปแบบโมบิลิตี้กำลังส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อธุรกิจ และการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน

นอกจากนี้ เทรนด์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคกลายเป็น “แอคทีฟ คอนซูเมอร์” ที่มีสิทธิเรียกร้อง มีเชื่อมโยงระหว่างกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ขณะที่การเชื่อมโยงกันมีแง่มุมเรื่องมูลค่าเพิ่มและอำนาจการต่อรองเข้ามาเป็นตัวแปร นำไปสู่การเรียกร้องบริการที่เน้นคุณค่ามากขึ้น

พลังเน็ตเพิ่มขีดแข่งขัน

เขากล่าวต่อว่า การทำธุรกิจนับวันต้องอาศัยพลังอินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์เพื่อพัฒนาบริการรวมถึงเชื่อมโยงลูกค้าและสินค้าเข้ากับระบบการบริหารจัดการ ดังนั้นนักธุรกิจต้องเริ่มปรับตัวว่าทำอย่างไรที่จะเข้าถึงชุมชนพร้อมสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นให้ได้

ขณะเดียวกัน ในการสร้างความแตกต่างกับคู่แข่ง หัวใจคือธุรกิจทุกชนิดจำเป็นต้องเข้าใจอีโคซิสเต็มส์ใหม่ที่เกิดขึ้น ความท้าทายคือทำอย่างไรที่จะเชื่อมโยงสู่ธุรกิจตนเอง โดยเทคโนโลยีที่กำลังทำให้อิทธิพลเว็บ 2.0 สูงขึ้นในเฟสต่อๆ ไปคือ โมบิลิตี้, โลเคชั่น เบส และอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงค์

ข้อมูลการ์ทเนอร์ชี้ว่า 5 เทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ที่มีความสำคัญแห่งปี 2557 คือ 1.โมบาย แอพพลิเคชั่น และแอพพลิเคชั่นสำหรับธุรกิจ 2.สถาปัตยกรรมคลาวด์ 3.ไฮบริดคลาวด์และบริการไอที 4.ซอฟต์แวร์ที่กำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งวิธีการทำงานและติดตามผลในทุกขั้นตอนของอุปกรณ์รวมถึงระบบไอที (Software-Defined Anything) 5. ศูนย์ข้อมูลขนาดยักษ์ (Web-Scale IT) เช่น กูเกิล, อะเมซอน, และเฟซบุ๊ค

ส่องเกาหลีสะท้อนไทย

นายคิม ยองชิก ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จากประเทศเกาหลีใต้ เปิดประสบการณ์ที่ได้ร่วมทำงานบริษัทไอทีชั้นนำระดับโลกและภาครัฐในประเทศว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกาหลีใต้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศชั้นนำทางเทคโนโลยีมาจากการที่รัฐบาลมีความชัดเจนทั้งด้านนโยบาย กฎระเบียบ และการสนับสนุนการลงทุน

ขณะเดียวกัน จัดลำดับความสำคัญการปฏิบัติงานโดยการเริ่มลงทุนไปก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นค่อยๆ ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม บทบาทคือเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนทั้งส่วนของภาครัฐเอง และภาคธุรกิจ ประเด็นสำคัญหากรากฐานไม่แข็งแรง การต่อยอดสู่ก้าวต่อๆ ไปย่อมไม่ง่าย

"เทียบกับไทยเรามีขนาดเล็กกว่า ไม่มีความพร้อมด้านทรัพยากรเท่า ทว่ามีจุดแข็งด้านบุคลากร ที่ผ่านมารัฐบาลของเราพยายามบุกเบิก สนับสนุน พร้อมสร้างโอกาสให้ทุกภาคส่วนเท่าที่เทคโนโลยีจะเอื้อให้เป็นไปได้"

หาจุดแข็ง-มุ่งอินเตอร์

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จที่ได้มา ยังมาจากแนวทางการวางกลยุทธ์ที่คอนเวอร์เจนซ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ผสมผสานไปกับสนับสนุนให้การใช้งานไอทีเข้าถึงทุกๆ อุตสาหกรรม รวมถึงกำหนดแนวทางการพัฒนาตลาดให้สอดคล้องไปกับเมกะเทรนด์ไอทีภายใต้เป้าหมายใหญ่คือเป็นผู้เล่นชั้นนำระดับท็อป 5 ของโลก

"เรามีแนวทางที่ชัดเจน เปิดกว้างต่อการแข่งขันที่เสรี สำคัญธรรมชาติของคนในประเทศเกาหลีใต้เป็นผู้พร้อมที่จะทำงานหนักได้ตลอดเวลา"

นายยองชิกแนะว่า ไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีความพร้อมด้านบุคลากร ดังนั้นควรหาให้ได้ว่าอะไรคือจุดแข็งและโอกาสที่มีอยู่ ความท้าทายคือทำอย่างไรให้การเข้าถึงไอซีทีที่ยังต่ำอยู่พัฒนาไปอีกขั้น มากกว่านั้นนำเทคโนโลยีไปปรับให้ดีที่สุด

อย่างไรก็ดี เชื่อด้วยว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นอีกมหาศาลจากการเปิดเออีซี ซึ่งไทยในฐานะศูนย์กลางของภูมิภาค ควรเร่งบุกเบิก การเริ่มต้นไม่จำเป็นต้องทำให้เร็วแต่ทำอย่างไรให้แข็งแกร่ง สามารถดึงดูดนักลงทุนชาติตะวันตกเข้ามาได้