'กรุงเทพ' สู่มหานครแห่งอาเซียน

'กรุงเทพ' สู่มหานครแห่งอาเซียน

นอกจากจะเป็นเมืองหลวง "กรุงเทพฯ" ยังเตรียมขยับสู่ความเป็นมหานครศูนย์กลางของประชาคมอาเซียน 1 ในนโยบายของผู้ว่าฯสุขุมพันธุ์

นอกจากจะเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย "กรุงเทพฯ" ยังเป็นเมืองที่สำคัญเมืองหนึ่งของอาเซียน ที่เตรียมขยับสู่ความเป็นมหานครศูนย์กลางของประชาคมอาเซียน

วารสารอิโคโนมิสต์ (The Economist) ประเมินกรุงเทพฯ เปรียบเทียบกับมหานครแห่งอื่น โดยระบุว่า เป็นมหานครที่มีขนาดใหญ่อันดับที่ 15 ของโลก มีพื้นที่ 1,568.7 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 5.7 ล้านคน เขตที่มีประชากรมากที่สุดคือ เขตบางแค ประมาณ 2 แสนคน

ศักยภาพด้านเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ถือว่า เป็นศูนย์กลางทางการเงินนานาชาติที่ใหญ่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีสัดส่วนการผลิตถึงร้อยละ 51 ของผลผลิตรวมของประเทศ ส่วนศักยภาพในการแข่งขันกับมหานครในภูมิภาคอาเซียน อยู่ลำดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์และกัวลาลัมเปอร์

ทั้งนี้ มหานครแห่งอาเซียน เป็น 1 ในนโยบายของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยวางกรอบแนวทางความเป็นมหานครไว้ 4 ด้านคือ

1. มหานครด้านการท่องเที่ยวของอาเซียนและโลก

- เพิ่มและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงอนุรักษ์ ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี

- ฝึกอบรมด้านการใช้ภาษาอังกฤษให้แก่ผู้กี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น คนขับรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะ

2. มหานครด้านการแพทย์และการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพของอาเซียนและโลก

- ร่วมมือกับโรงพยาบาลรัฐ มหาวิทยาลัย และเอกชน

3. มหานครด้านการส่งเสริมเอสเอ็มอีอาเซียน และ บีเอ็มเอ เอสเอ็มอี อาเซียน ดาต้า แบงก์

4. มหานครด้านศิลปะและวัฒนธรรมอาเซียน

- จัดตั้งสภามหานครอาเซียน

- ส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่าง กทม. และองค์กรในอาเซียน

- เปิดโอกาสและส่งเสริมอาชีพการผลิต และจำหน่ายอาหาร/ผลิตภัณฑ์ฮาลาล

- จัดทำป้ายบอกทาง แผนที่ ป้ายรถประจำทาง และจุดให้ข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษทั่วกรุงเทพฯ

นอกจากจะเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย "กรุงเทพฯ" ยังเป็นเมืองที่สำคัญเมืองหนึ่งของอาเซียน ด้วยความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้งซึ่งอยู่จุดกึ่งกลางของสมาชิกประชาคมอาเซียน ผนวกความพร้อมด้านระบบคมนาคม ความเป็นเลิศทางการศึกษา และอัตลักษณ์ที่หลากหลายของชุมชน เตรียมขยับสู่ความเป็นมหานครศูนย์กลางของประชาคมอาเซียน

รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และหัวหน้าโครงการศึกษาจัดทำแผนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความพร้อมของกรุงเทพฯ ในการเป็นศูนย์กลางมหานครแห่งอาเซียนว่า กรุงเทพฯ มีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางมหานครในทุกๆ ด้านของประชาคมอาเซียน ทั้งศูนย์กลางทางการค้า การคมนาคม การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และอื่นๆ

เนื่องจากไทยตั้งอยู่กึ่งกลางด้านภูมิศาสตร์ของอาเซียน จึงกลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการเป็นเส้นทางผ่านของคมนาคมขนส่ง หรือด้านโลจิสติกส์ ทั้งทางบก เช่น การสร้างถนน สะพานเชื่อมผ่านระหว่างประเทศ หรือทางทะเล เช่น ท่าเรือขนส่งสินค้า

ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจะกลายเป็นสี่แยกแห่งอาเซียน ซึ่งประเทศในอาเซียนจะทำการค้าหรือใช้เส้นทางส่งสินค้าออก นำเข้า หรือการท่องเที่ยวก็จำเป็นต้องผ่านประเทศไทยทั้งสิ้น

เปิดแผนสู่ผู้นำอาเซียน

นอกจากนี้การขนส่งมวลชนภายในกรุงเทพฯ ก็มีการบริหารจัดการที่ดีและรองรับคนจำนวนมากและการส่งออก เช่น รถโดยสารประจำทาง รถตู้ รถไฟฟ้ามหานคร (บีทีเอส) หรือรถไฟฟ้าใต้ดิน (เอ็มอาร์ที) ที่เริ่มมีการขยายสถานีรถไฟออกไปในพื้นที่เขตปริมณฑลมากขึ้น ดังนั้น กรุงเทพฯ จึงมีความพร้อมที่จะรองรับการเป็นศูนย์กลางมหานครอาเซียนได้ในทุกรูปแบบ

ขณะเดียวกันกรุงเทพฯ มีจุดแข็งในด้านการท่องเที่ยวเป็นหลักอยู่แล้ว โดยล่าสุดได้รับรางวัลจากมาสเตอร์ การ์ด โกลบอล เดสติเนชั่น ปี 2556 ในฐานะเมืองที่มีคนเดินทางมามากที่สุด ซึ่งสามารถมีคะแนนเหนือกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษและกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสได้ ทำให้กรุงเทพฯ จะต้องรองรับความเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เช่น เพิ่มค่านิยมวัฒนธรรมความเป็นไทย ผลิตภัณฑ์แบบไทย

ทางกทม.ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาศักยภาพของกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นศูนย์กลางมหานครทางการค้าแห่งอาเซียน อาทิ การจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมธุรกิจไทยทั้งขนาดกลางและขนาดย่อมในแต่ละท้องถิ่น การจัดตั้งศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One shop center) ซึ่งจะรวบรวมสินค้าของอาเซียนต่างๆ และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของไทยนำมาจำหน่ายขายที่กรุงเทพฯ เป็นจุดศูนย์รวมสินค้าขนาดใหญ่ นอกจากนี้การจะก้าวเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในด้านการนำเข้าและส่งออกสินค้า ทำให้ต้องปรับโครงสร้างสนามบินนานาชาติเพื่อรองรับสินค้าและแรงงานต่างชาติอีกมาก

เสริมเด่นการศึกษา-การแพทย์

รศ.ดร.ประภัสสร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กทม.ยังมองถึงการทำแผนเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นศูนย์กลางมหานครในด้านอื่นๆ อีก เช่น ประชาคมอาเซียนการเมืองและความมั่นคงอาเซียน หรือ (เอเอสซี) ที่ประเทศไทยก้าวหน้ากว่าประเทศอาเซียนอื่นๆ ในด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ซึ่ง กทม.จึงมีแผนการให้กรุงเทพฯ กลายเป็นศูนย์กลางมหานครในเวทีระหว่างประเทศเกี่ยวกับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน รวมถึงการบริการสาธารณะ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (เอเอสซีซี)

กรุงเทพฯ มีสถานศึกษาและทรัพยากรเพียงพอสำหรับพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาศูนย์กลาง จึงอาจจะมีการพัฒนาให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านการเรียนรู้ของอาเซียนได้ ด้านการแพทย์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ โดยกรุงเทพฯ นั้นได้จัดว่ามีความพร้อมในด้านการแพทย์ดีที่สุดในอาเซียน เช่น โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเป็นโรงพยาบาลระดับโลก เครื่องมือการแพทย์ บุคลากรต่างๆ ทำให้กรุงเทพฯ สามารถเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ได้เช่นกัน

“อย่างไรก็ตามคุณสมบัติของการเป็นศูนย์กลางมหานครแห่งอาเซียนนั้น อาจจะแบ่งได้หลายปัจจัย โดยไม่จำเป็นต้องมีเฉพาะที่กรุงเทพฯ เพียงที่เดียวเท่านั้น แต่อาจจะแบ่งไปตามความเชี่ยวชาญของแต่ละประเทศในอาเซียนได้ อาทิเช่น สิงคโปร์ที่มีการบริหารจัดการด้านสายการบินอาจเป็นมหานครในด้านนี้”

รายงาน / โศณภัทร พรมทอง