นวัตกรรมใต้สนามกีฬา

บนหญ้าเขียวสดใต้พื้นสนามกีฬาซ่อนนวัตกรรมเอาไว้ นำไกรสากลก่อสร้างนำเข้าเทคโนโลยีไฟเบอร์ เทิร์ฟเสริมโครงสร้างให้แกร่งนำร่องสนามกีฬาระดับชาติ
สาลินีย์ ทับพิลา - รายงาน
บนหญ้าเขียวสดใต้พื้นสนามกีฬาซ่อนนวัตกรรมเอาไว้ นำไกรสากลก่อสร้างนำเข้าเทคโนโลยี ‘ไฟเบอร์ เทิร์ฟ’ เสริมโครงสร้างให้แข็งแรง นำร่องสนามกีฬาระดับชาติ ’57 เตรียมขยายสู่สนามกีฬาท้องถิ่นหวังยกระดับสนามสู่สากล
ธุรกิจก่อสร้างสนามกีฬาทำให้ “นำไกรสากล” เลือกสรรเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เสริมธุรกิจ เทคโนโลยีไฟเบอร์เทิร์ฟ (Fiber Turf) เป็นนวัตกรรมล่าสุดที่นอกจากจะช่วยให้สนามหญ้าจริงมีความสวยงาม ได้มาตรฐานระดับสากลเหมือนสนามฟุตบอลใหญ่ๆ ของโลก ยังคุ้มค่าเมื่อเทียบกับการต้องปรับปรุงสนามทุกปี
:: เปลี่ยนโครงสร้างเสริมแกร่ง
นายสมชัย สันตินิภานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นำไกรสากลก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า สนามฟุตบอลที่ได้มาตรฐานสากลนั้น จะเป็นสนามหญ้าจริงที่มีระบบระบายน้ำ ทำให้น้ำไม่ขังจนส่งผลต่อการแข่งขัน
“เราดูฟุตบอลและเห็นว่า สนามใหญ่ ๆ ของโลกจะเป็นสนามที่สวยและเป็นที่ยอมรับ จึงศึกษาข้อมูลจนกระทั่งพบว่า สนามเหล่านั้นใช้เทคโนโลยีไฟเบอร์ เทิร์ฟ จึงนำเข้าโนว์ฮาวของสหรัฐเข้ามาในไทยเมื่อปี 2549”
ระบบไฟเบอร์ เทิร์ฟ คือ การใช้สารโพลิโพรพิลีน ไฟเบอร์เป็นส่วนผสมกับทราย สำหรับสนามกีฬา หรือดินสำหรับวัตถุประสงค์อื่นๆ เพื่อเพิ่มแรงยึดเกาะระหว่างทราย หรือดินกับระบบรากของหญ้ายึดกันเป็นโครงตาข่าย เพิ่มความแข็งแรงของพื้นสนาม ลดการยุบอัดตัว ทั้งยังลดปริมาณการใช้น้ำ 50% ลดการใช้ปุ๋ย ลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา และควบคุมแมลงอีกด้วย
นายสมชัยกล่าวว่า สนามฟุตบอลหญ้าจริงมักประกอบด้วยพื้นสนามกับตัวหญ้า ซึ่งในไทย พื้นสนามจะเป็นดินที่พอฝนตกก็จะมีน้ำขัง เกิดโคลน หรือหากใช้งานมากเกินไป พื้นดินก็จะอัดแน่น ส่งผลต่อแรงกระแทกของนักกีฬา เสี่ยงต่อการบาดเจ็บระหว่างใช้สนาม
ในขณะที่สนามกีฬาระบบไฟเบอร์ เทิร์ฟ พื้นจะมีความยืดหยุ่น จากรากหญ้าที่สานตัวกันกับไฟเบอร์และทราย ไม่อัดตัวแน่นจนเกินไป ทำให้สามารถรับแรงกระแทกได้ดี และสามารถใช้ได้ทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะในยามฝนตก เพราะมีระบบระบายน้ำด้านใต้สนาม
“เนื่องจากเป็นนวัตกรรมใหม่ แม้จะเป็นที่ยอมรับในระดับสากล แต่คนไทยยังไม่เข้าใจ ไม่รู้จักนวัตกรรมนี้เท่าที่ควร แต่กีฬาฟุตบอลรวมถึงกีฬาหลายประเภทต้องรับการสนับสนุนจากภาครัฐดังนั้น เราจึงนำร่องไปที่ 2 หน่วยงานหลักคือ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และกรมพลศึกษา” กรรมการผู้จัดการของนำไกรสากลก่อสร้างเผย
:: มาตรฐานสากลรับเออีซี
สนามราชมังคลากีฬาสถานเป็นสนามแรกในการปรับปรุงด้วยระบบไฟเบอร์ เทิร์ฟ เนื่องจากเป็นสนามใหญ่ระดับชาติที่มีการแข่งขันระดับประเทศ และนานาชาติอยู่บ่อยครั้ง จากนั้น ก็ต่อยอดไปสู่สนามศุภชลาศัย และสนามเทพหัสดิน
นายสมชัยกล่าวว่า ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงพื้นสนามกีฬาด้วยนวัตกรรมใหม่นี้จะเริ่มต้นที่ 20 ล้านบาท สำหรับพื้นสนามที่ใช้เพื่อการแข่งขันอย่างเดียว แต่หากเป็นสนามแบบอเนกประสงค์หรือแบบมีลู่วิ่งจะอยู่ที่ 30-40 ล้านบาท
“หากเป็นสนามกีฬาพื้นดินธรรมดา ราคาอยู่ที่ 2 ล้านบาท แต่จะต้องปรับปรุงพื้นสนามทุกปี ปีละ 2 ล้านบาทสำหรับปรับหน้าดินและปูหญ้าใหม่ ที่สำคัญ ระยะเวลาในการใช้สนามน้อยลง เพราะต้องปิดใช้ช่วงหน้าฝน และปิดปรับปรุงพื้น ในขณะที่ไฟเบอร์ เทิร์ฟมีระบบระบายน้ำใต้ดิน ทำให้สามารถใช้สนามได้ภายใน 15-30 นาทีหลังฝนตก โดยไม่มีโคลนหรือน้ำขัง ทำให้ใช้สนามได้ตลอดทั้งปี”
นายสมชัยย้ำว่า ราคาที่สูงกว่านี้จะถึงจุดคุ้มทุนภายใน 5 ปี ด้วยไม่ต้องซ่อมพื้นสนาม แต่ต้องคอยตัดเล็มหญ้าให้ได้มาตรฐานตามปกติ
รายได้ในปี 2556 สำหรับการปรับปรุงสนามกีฬาที่มีอยู่เดิมด้วยระบบไฟเบอร์ เทิร์ฟนั้น อยู่ที่ 100 ล้านบาท โดยในปี 2557 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น หลังจากมีลูกค้าทั้งกลุ่มที่ปรับปรุงสนามที่มีอยู่เดิม และการสร้างสนามระบบไฟเบอร์ เทิร์ฟใหม่
จากสนามระดับชาติ นำไกรสากลก่อสร้างยังมุ่งเป้าไปที่สนามกีฬาของภาครัฐ โดยเฉพาะสนามกีฬากลางประจำจังหวัดที่มี 77 จังหวัดทั่วไทย ซึ่งสนามเหล่านั้นอาจจะยังไม่ได้มาตรฐานสากล แต่ด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ให้ความสำคัญกับกีฬาและสันทนาการ รวมถึงการปั้นบอลไทยไปบอลโลก ล้วนช่วยผลักดันให้ธุรกิจการกีฬาเดินหน้า
“เรามองจังหวัดใหญ่ ๆ อาทิ สมุทรปราการ ปทุมธานี นครราชสีมา เชียงใหม่ อุดรธานี สกลนคร หรือพิษณุโลก ที่มีความเป็นไปได้ในการเป็นฮับด้านการกีฬา โดยเฉพาะเมื่อเปิดเออีซี”
นายสมชัยชี้ว่า สนามกีฬาที่ได้มาตรฐานจะช่วยพัฒนาทักษะของนักฟุตบอลไทยเมื่อต้องไปแข่งในลีกระดับใหญ่ ๆ ยิ่งฟุตบอลอาชีพของไทยเฟื่องฟู สนามกีฬาที่ได้มาตรฐานสากลก็เป็นสิ่งจำเป็น จึงเริ่มมีลูกค้าในกลุ่มของสนามกีฬาระดับจังหวัดเช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ที่กำลังจะเริ่มโครงการศูนย์กีฬามาตรฐานประจำจังหวัด
โครงการดังกล่าวเป็นศูนย์กีฬาแบบครบวงจรที่ใช้งบประมาณมากกว่า 300 ล้านบาท แต่นายสมชัยกล่าวว่า เป็นวิสัยทัศน์ของอบจ.นนทบุรี ที่ต้องการสร้างสนามกีฬาที่ได้มาตรฐาน เพื่อรองรับการแข่งขันฟุตบอลลีกใหญ่ระดับภูมิภาคหรือระดับโลก ซึ่งมีความต้องการสนามกีฬาที่ได้มาตรฐานสากลสำหรับแข่งและซ้อมที่ไทยยังมีไม่เพียงพอ
“หากเราสามารถสร้างสนามกีฬาที่ได้มาตรฐานสากล ตรงตามเงื่อนไขของหน่วยงานระดับโลก การแข่งขันลีกใหญ่มีโอกาสจะมาจัดในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปิดเออีซี สิ่งที่ตามมาคือ การสร้างรายได้ให้กับธุรกิจทุกภาคส่วน ไม่ใช่แค่ธุรกิจการกีฬาเท่านั้น” ผู้บริหารนำไกรสากลทิ้งท้าย