เอทานอล สูตรผสมไทย-ญี่ปุ่น

เอทานอล สูตรผสมไทย-ญี่ปุ่น

นำร่องเป็นแห่งแรกของประเทศกับ โรงงานต้นแบบผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลัง ณ บริษัท เอี่ยมบูรพา เอทานอล จำกัด จ.สระแก้ว

นำร่องเป็นแห่งแรกของประเทศกับ โรงงานต้นแบบผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลัง กำลังผลิต 800 ลิตรต่อครั้ง ณ บริษัท เอี่ยมบูรพา เอทานอล จำกัด อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว

โดยการสนับสนุนจากองค์การพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น (NEDO) ซึ่งเห็นถึงศักยภาพของเชื้อเพลิงทางเลือกประเภทนี้ แต่ติดขัดที่ความพร้อมของวัตถุดิบในประเทศ จึงเบนเข็มมาร่วมพัฒนากับประเทศไทย ในฐานะแหล่งผลิตและส่งออกมันสำปะหลังรายใหญ่ของโลก

ความร่วมมือนี้เริ่มจากโครงการสาธิตเทคโนโลยีเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ขยับสู่การผลิตระดับโรงงานและการสร้างธุรกิจนวัตกรรมด้านพลังงานในอนาคต โดยประเทศไทยมีความพร้อมทั้งด้านภูมิศาสตร์และวัตถุดิบ เนื่องจากมีโรงงานผลิตแป้งมันกว่า 78 แห่ง และมีกากมันสำปะหลังที่สามารถนำมาผลิตเอทานอลได้กว่า 5 ล้านตันต่อปี รวมทั้งเอทานอลที่ผลิตจากกากมันสำปะหลังมีต้นทุนต่ำกว่าการใช้หัวมันสำปะหลังและมันเส้น จึงช่วยลดต้นทุนการผลิต

ต้นตำรับจากไทย

วิเชียร สุขสร้อย ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารโครงการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า โครงการสาธิตการผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลังในประเทศไทย เพื่อสร้างโรงงานต้นแบบในการผลิตเอทานอลจากเศษวัสดุเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมอย่างกากมันสำปะหลัง เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ได้ดำเนินการมาแล้ว 2 ปี โดยขั้นตอนแรกวิเคราะห์เทคโนโลยี ผ่านการทดลองในห้องปฏิบัติการว่า สามารถผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลังได้ จากนั้นดำเนินการออกแบบโรงงานต้นแบบ ซึ่งมีกำลังการผลิต 800 ลิตรต่อครั้ง สามารถผลิตเอทานอลได้ 8 หมื่นลิตรต่อวัน

วัตถุดิบการผลิตมี 2 ประเภทคือ กากมันสำปะหลังเปียกและกากมันสำปะหลังแห้ง เนื่องจากในแต่ละวันจะมีกากมันสำปะหลังเปียกมาจากโรงงาน แต่ในการผลิตจริงต้องใช้กากมันสำปะหลังแห้งด้วย เพราะการดึงกากเปียกอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการผลิต

ดังนั้น การออกแบบขั้นตอนผลิตที่ใช้ทั้งกากมันสำปะหลัง 2 ประเภทพบว่า ต้องใช้กากเปียก 9 ตันต่อครั้ง กากแห้ง 3 ตันต่อครั้ง จะผลิตเอทานอลออกมาได้ 800 ลิตรต่อครั้ง นอกจากนี้ยังได้ผลผลอยได้ที่เรียกว่า กาก (stillage) สามารถนำไปขายเป็นอาหารสัตว์ได้ 0.5 ตัน ทำให้โอกาสต่อยอดในเชิงพาณิชย์เป็นไปได้สูง

ทั้งนี้ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบอยู่ที่ประมาณ 12 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานประมาณ 5 บาท รวมทั้งหมดจะมีต้นทุนการผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลัง17 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลหรือโมลาส 24 บาท ดังนั้น โอกาสการผลิตเพื่อการแข่งขันจึงเป็นไปได้สูง เพราะราคาเอทานอล ณ ปัจจุบัน 25-27 บาทต่อลิตร

หากผลการดำเนินการตามเป้าหมาย คาดว่าจะมีการลงทุนร่วมกับหุ้นส่วนชาวญี่ปุ่นในการตั้งโรงงานผลิตขนาด 2 แสนลิตรต่อวัน ซึ่งมูลค่าการลงทุน 1,000 ล้านบาท

สร้างมูลค่าจากของเสีย

"โรงงานต้นแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ในการผลิตและจำหน่ายเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมัน ทั้งยังเป็นการร่วมกันพัฒนานวัตกรรมการผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลัง ทำให้ในอนาคต หากต้องสร้างโรงงานผลิตจะไม่ต้องเสียค่าต้นแบบจำนวนหลายร้อยล้านบาท ที่สำคัญเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรมมันสำปะหลังครบวงจร" วิเชียร กล่าว

ปัจจุบันประเทศไทยมีมันสำปะหลัง 28 ล้านตัน ส่งเข้าโรงงานแป้งทั่วประเทศ 16-17 ล้านตัน ซึ่งมันสำปะหลังส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็น ตัวแป้งที่ขายในประเทศ 19% ทำเป็นเอทานอลเพียง 5% เท่านั้น ที่เหลือจะเป็นส่งออกในรูปของแป้ง 36% มันเส้นและมันอัดเม็ด 32% อีก 8% ใช้ในประเทศ สังเกตว่า ปริมาณทั้งหมดส่งออกกว่า 50% ไปยังจีน ญี่ปุ่น เพื่อทำแอลกอฮอล์และน้ำมันทดแทน

สำหรับโครงการนี้จะใช้ของเสียจากโรงงานแป้งมันสำปะหลังก็คือ กากมันสำปะหลัง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 9 ล้านตันจากโรงงานแป้งมัน 78 แห่งทั่วประเทศ เมื่อผสมกับกากมันแห้ง 2.5 ล้านตัน จะได้เอทานอลได้ 2 แสนลิตร ช่วยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงนำเข้าได้อย่างมีนัยสำคัญ แถมยังเพิ่มมูลค่าให้กากมันสำปะหลังได้ไม่น้อยกว่า 2.5 เท่า

บุษกร ภู่แส รายงาน