เพิ่มค่าไบโอพลาสยืดอายุผลไม้

พลาสติกชีวภาพยืดอายุผักผลไม้ เป็นความก้าวหน้าล่าสุดของแวดวงผลิตภัณฑ์รักโลก
พลาสติกชีวภาพยืดอายุผักผลไม้ เป็นความก้าวหน้าล่าสุดของแวดวงผลิตภัณฑ์รักโลก ผลจากการรวมสองเทคโนโลยีไว้ด้วยกัน ตอบความต้องการให้กับผู้ประกอบการส่งออกผักผลไม้ทั้งคุณภาพสินค้าและภาพลักษณ์องค์กร อีกหนึ่งผลงานวิจัยจากนักวิจัยสาขาวิศวกรรมเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศพร้อมที่จะ "ลงจากหิ้งสู่ห้าง"
ปัจจุบันพลาสติกชีวภาพ (พอลิแลกไทด์, PLA) มีความสำคัญและมีความต้องการในตลาดสูงขึ้น จึงเป็นที่มาของงานวิจัยบรรจุภัณฑ์ประเภทถุงหรือซองที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพ แต่ยกระดับไปอีกขั้นหนึ่งด้วยการเพิ่มคุณสมบัติด้านการยืดอายุผักผลไม้สดได้ด้วย
นอกจากจะเป็นพลาสติกชนิดย่อยสลายได้โดยธรรมชาติแล้ว ยังมีคุณสมบัติในการควบคุมปริมาณของแก๊สชนิดต่างๆ และไอน้ำ โดยอาศัยหลักการ “ซึมผ่านของแก๊สแบบเลือกผ่าน” เช่น ให้แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านได้สูง ในขณะที่การซึมผ่านของแก๊สออกซิเจนอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก แค่เพียงพอให้ผักผลไม้สดได้หายใจแบบใช้ออกซิเจน ไม่เกิดการหมักตลอดการเก็บรักษา การซึมผ่านของไอน้ำเพียงพอที่จะไม่เกิดฝ้าน้ำภายในบรรจุภัณฑ์และมีการดูดซับแก๊สเอทิลีนออกจากบรรจุภัณฑ์ วิจัย
พิศวัส นุ่มพิบูรณ์มาน ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการวิจัยพัฒนาฟิล์มบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพเพื่อยืดอายุพืชผักผลไม้ ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์ มี ผศ.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ เป็นหัวหน้าโครงการ โดยได้ต่อยอดจากผลงานวิจัยการนำดินเหนียวนาโนมาประยุกต์ใช้กับพลาสติกชีวภาพ เพื่อลดการใช้ผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และลดปริมาณการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ผลลัพธ์จากงานวิจัยทำให้ได้บรรจุภัณฑ์นวัตกรรม ที่มีคุณสมบัติในการช่วยยืดอายุและรักษาคุณภาพผักและผลไม้ โดยบรรจุภัณฑ์ที่คิดค้นผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานจริงในพืชผักและผลไม้หลายชนิด เช่น เห็ด มะม่วง รวมถึงผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป เช่น กล้วยตาก พบว่า ช่วยยืดอายุผักและผลไม้ได้ยาวนานเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 2 เท่า
ยกตัวอย่างเห็ดฟางจาก 4 วัน เป็น 6 วัน มะม่วงน้ำดอกไม้จาก 2 สัปดาห์เป็นมากกว่า 4 สัปดาห์ กล้วยตากสามารถเก็บได้ 5 เดือนเท่ากับกล้วยตากที่เก็บในฟิล์มพลาสติกชนิดเมทัลไลซ์ซึ่งเป็นฟิล์มหลายชั้นที่ไม่สามารถแตกสลายได้ทางชีวภาพ โดยเนื้อสัมผัส สี ปริมาณความชื้นในบรรจุภัณฑ์ไม่แตกต่างจึงสามารถใช้ทดแทนกันได้
แม้ว่าฟิล์มพลาสติกเมทัลไลซ์จะมีราคาต่ำกว่า แต่ในมุมของนวัตกรรมเพื่อโลก บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพซึ่งโดดเด่นในความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นจุดขายของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี หากผู้ผลิตเปลี่ยนเป็นพลาสติกที่แตกสลายได้ทางชีวภาพจะช่วยลดปัญหาขยะ เพราะพลาสติกที่สัมผัสอาหารและพืชผลสดมีการปนเปื้อนสูง ไม่เหมาะกับการนำไปหลอมรีไซเคิล
ยกตัวอย่าง กล้วยตากแบรนด์จิราพรนำเสนอความเป็นกล้วยอินทรีย์ และใช้โซลาร์โดมในการตากกล้วย ช่วยลดปัญหาการปนเปื้อนของฝุ่นละออง การรบกวนจากแมลงและไข่แมลง ทำให้ยกระดับผลิตภัณฑ์เป็นเกรดพรีเมียม ประกอบกับการเปลี่ยนมาใช้ซองบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ ได้ตอกย้ำถึงความเป็นแบรนด์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง
นักวิจัยหนุ่ม กล่าวว่า จากผลกระทบของมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมและปริมาณขยะ ทำให้บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพเป็นที่จับตามองใน 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีราคาสูงกว่าพลาสติกทั่วไป แต่เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีอนาคต เพราะสามารถเรียกความสนใจจากลูกค้า และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
เพราะทุกวันนี้ผู้บริโภคใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้เจ้าของแบรนด์ต้องให้ความสำคัญต่อมาตรฐานบรรจุภัณฑ์ของตนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การใช้วัสดุรีไซเคิล หรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ตาม ผศ.อนงค์นาฏ หัวหน้าโครงการวิจัย เคยกล่าวไว้ว่า สิ่งที่จะทำให้งานวิจัยไม่ประสบความสำเร็จในการลงจากหิ้ง คือ อุตสาหกรรมไม่เห็นประโยชน์ที่จะนำไปใช้ หรือไม่สนใจหรือมองไม่เห็นจุดขายของงานวิจัย ดังนั้น ก่อนจะเริ่มงานวิจัย เราต้องมองเห็นแนวโน้ม และความต้องการของตลาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือการพูดคุยกับอุตสาหกรรมถึงความต้องการ ก็จะทำให้นักวิจัยสามารถทำงานตอบโจทย์อุตสาหกรรมได้มากขึ้น