สดร. ชวนชมฝนดาวตกเจมินิดส์
สดร. ชวนส่งท้ายปี 57 ด้วยการชมฝนดาวตกเจมินิดส์ จับมือโรงเรียนนายเรืออากาศฯ จัดกิจกรรมชวนประชาชนนอนนับฝนดาวตก
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชวนชมฝนดาวตกส่งท้ายปี 2557 ฝนดาวตกเจมินิดส์หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ในคืนวันที่ 14 ธันวาคม ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สังเกตได้ทุกภูมิภาคในบริเวณที่ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงรบกวน เผยหลังเที่ยงคืนมีแสงจันทร์รบกวน อาจสังเกตยาก พร้อมจับมือโรงเรียนนายเรืออากาศฯ จัดกิจกรรมชวนประชาชนนอนนับฝนดาวตกที่ยอดดอยอินทนนท์
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า “ฝนดาวตกเจมินิดส์” เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 4-17 ธันวาคมของทุก ๆ ปี คาดการณ์ว่าในปีนี้ฝนดาวตกเจมินิดส์จะมีอัตราการตกสูงสุดในช่วงหัวค่ำตั้งแต่เวลา 20:00 - 00:30 น. ของคืนวันที่ 14 ธันวาคม โดยมีอัตราการตกไม่เกิน 120 ดวงต่อชั่วโมง สามารถสังเกตเห็นได้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สูงจากขอบฟ้าประมาณ 30 องศา นอกจากนี้ในคืนดังกล่าวตรงกับวันแรม 8 ค่ำ ดวงจันทร์ครึ่งดวง หลังจากเวลา 00 : 30 น. เป็นต้นไป ดวงจันทร์จะเคลื่อนที่ขึ้นจากขอบฟ้าทางด้านทิศตะวันออก แสงสว่างจากดวงจันทร์จะเข้ามารบกวนการสังเกตการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ดังกล่าว
ฝนดาวตกเจมินิดส์เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่เข้าตัดกับกระแสธารของเศษหินและเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน ทิ้งไว้ในขณะที่เคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว ทำให้สายธารของเศษหินและฝุ่นของดาวเคราะห์น้อย ถูกแรงดึงดูดของโลกดึงเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศของโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็น ลูกไฟที่มีสีสวยงาม (fireball)
โดยปกติแล้วเราสามารถสังเกตเห็นดาวตกได้ในทุกคืนอยู่แล้ว เพียงแต่มีอัตราเฉลี่ยในการตกค่อนข้างน้อย และไม่ได้มีศูนย์การกระจายหรือเรเดียนท์จากจุดเดียวกัน ในทางกลับกันหากสังเกตเห็นดาวตกจำนวนมาก และมีจุดศูนย์กลางการกระจาย ณ จุดเดียวกัน จะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ฝนดาวตก” สำหรับข้อแนะนำในการชมฝนดาวตกในครั้งนี้ จะสามารถเห็นได้ในทุกภูมิภาคของประเทศ ในบริเวณที่ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงไฟรบกวน จะสังเกตดาวตกมีความสว่างมาก ทั้งนี้วิธีการชมฝนดาวตกให้สบายที่สุด ให้นอนรอชม หรือนั่งบนเก้าอี้ที่สามารถเอนนอนได้ หันศรีษะไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ฝนดาวตกเจมินิดส์นั้นมีชื่อเสียงมากในเรื่องของความงดงาม เพราะสังเกตเห็นง่ายกว่าฝนดาวตกลีโอนิดส์ เนื่องจากมีความเร็วไม่มากนักประมาณ 35 กิโลเมตรต่อวินาที ทำให้ง่ายต่อการสังเกตมากกว่าเมื่อเทียบกับฝนดาวตกลีโอนิดส์ที่มีความเร็วถึง 71 กิโลเมตรต่อวินาที เมื่อสังเกตเห็นจึงมีเวลาเพียงพอที่จะชี้ชวนกันให้คนอื่นได้ดูฝนดาวตกได้ นับเป็นเสน่ห์อีกประการหนึ่งของการเฝ้ารอชมฝนดาวตกเจมินิดส์ ดร.ศรัณย์ กล่าว
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ ได้แนะนำเทคนิคการถ่ายภาพฝนดาวตกว่า “ควรใช้กล้องที่สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องได้ ใช้ความไวแสงสูงๆ ตั้งแต่ ISO 1600 ขึ้นไป เพื่อให้กล้องมีความไวแสงในการบันทึกภาพฝนดาวตก รวมทั้งการตั้งกล้องบนขาตั้งกล้องที่มั่นคง และใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อให้สามารถเก็บภาพท้องฟ้าให้ได้กว้างที่สุด โดยหันหน้ากล้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นทิศของศูนย์กลางการเกิดของฝนดาวตก บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ซึ่งจะเริ่มโผล่ขึ้นจากขอบฟ้าตั้งแต่เวลาประมาณสองทุ่ม ของวันที่ 14 ธันวาคม เป็นต้นไป”
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) ร่วมกับโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราชชวนคนไทยร่วมสังเกตการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ ในกิจกรรม “เปิดฟ้า...ตามหาดาว” ณ สูงสุดแดนสยาม จุดที่ท้องฟ้าดีที่สุดในประเทศไทย ท่ามกลางบรรยากาศหนาวเย็นสุดขั้ว บริเวณยอดดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้สนใจแจ้งความจำนงล่วงหน้าหรือสอบถามรายละเอียดที่ 053-225569 ต่อ 305 รับจำนวนจำกัด 200 ท่าน เท่านั้น ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรม