ดีไซน์รีสอร์ทฟื้น'นก'

ทายาท 'เก๊าไม้ล้านนา' จับมือสถาปนิกแปลงที่ดินผืนใหญ่เป็นรีสอร์ทเขียวในชื่อ บ้านฟื้นนก
สาลินีย์ ทับพิลา - รายงาน
ไอเดียจุดประกายหลังจากเยือนบราซิล ทายาท “เก๊าไม้ล้านนา” จับมือสถาปนิกแปลงที่ดินผืนใหญ่เป็นรีสอร์ทเขียวในชื่อ The Chiang Mai Bird Sanctuary หรือบ้านฟื้นนก เอาใจลูกค้าหลักคือ “นก” เพื่อเป็นที่อยู่ กิน และพักฟื้น หวังสร้างแหล่งธรรมชาติ ตอบโจทย์นักดูนกและผู้ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
นิเวศเพื่อนก-คน
“เมื่อครั้งไปบราซิล ที่มีจุดเด่นเรื่องของธรรมชาติและสัตว์ป่า ไปเจอหลุมนกแก้วมาคอร์ ซึ่ง 10 ปีก่อน เจ้าของที่ถูกหลอกให้ซื้อที่ดินแห่งนี้เพื่อทำเกษตรกรรม แต่กลับเป็นหลุมลึก เขาจึงเอานกแก้วมาคอร์คู่หนึ่งไปปล่อยในนั้น กลายเป็นแหล่งอาศัยของนก ที่ 10 ปีต่อมามีนกแก้วมาคอร์อยู่อาศัยมากกว่า 50 คู่” จักร์ เชิดสถิรกุล ทายาทรุ่นที่ 2 ของธุรกิจรีสอร์ทเก๊าไม้ล้านนา จ.เชียงใหม่ กล่าว
เมื่อกลับเมืองไทย จักรมองเห็นที่ดิน 73 ไร่ ซึ่งเดิมเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ครอบครัวตั้งใจทำเป็นหมู่บ้านจัดสรร แต่ต้องหยุดไว้เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เหลือทิ้งไว้เพียงถนนรอบหมู่บ้านและบ้านตัวอย่างอีก 3 หลัง
ปี 2555 โครงการ The Chiang Mai Bird Sanctuary จึงเกิดขึ้น โดยทำร่วมกับจริยาวดี เลขะวัฒนะ จากบริษัท สถาปนิก คิดดี จำกัด และผศ.สิงห์ อินทรชูโต จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีโจทย์คือ จำลองสภาพความเป็นอยู่ตามธรรมชาติของนก พร้อมกับมีหอชมนกให้บริการ
“โครงการนี้ลูกค้าหลักคือ นก รองลงมาคือ คน ดังนั้น เราต้องคุยทั้ง 2 ฝั่ง คือ มีนักปักษีวิทยามาให้คำปรึกษาเพื่อสร้างสถานที่ที่นกถูกรบกวนน้อยที่สุด ในขณะเดียวกันก็ต้องมีฝ่ายการตลาด มาดูอีกทางเพื่อให้คนหรือลูกค้าเห็นนกชัดที่สุด” เจ้าของโครงการชี้และว่า ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องศึกษาไปพร้อมกันคือ การบริหารจัดการ การวางเลย์เอาท์ต้นไม้ต่างๆ ที่ตอบโจทย์ของนกหลายประเภท โดยที่ต้องมีความยั่งยืนคือ ใช้น้ำน้อยและอยู่ได้ด้วยตนเอง ที่สำคัญคือ ชุมชนรอบข้าง
ธุรกิจคิดดี
จริยาวดี อธิบายว่า บ้านฟื้นนกจะมีโครงสร้าง 7 แบบบนพื้นที่โดยรอบ คือ หอดูนกน้ำ ซึ่งเป็นส่วนที่ยื่นลงไปในสระน้ำ, ศูนย์ข้อมูลที่จะเป็นการปรับโรงพักไม้เก่าซึ่งเป็นของสะสมของครอบครัวคุณจักร์ มาตั้งในจุดที่สามารถมองเห็นบริเวณทั้งหมดเป็นมุมกว้าง
Sunken Walkway เป็นการยกหน้าถนนออก และทำเป็นทางลาดให้คนเดินลง เพื่อมองเห็นนกนักล่าในระดับพื้นดิน, Meditation Pod เป็นยูนิตเล็กๆ ที่ยกพื้นลอย ให้คนที่สนใจหรือพระมานั่งสมาธิ, หอชมนก, Bridge Walkway และ Bamboo Walkway เป็นสะพานที่ยกสูงเพื่อให้มีพื้นที่ว่างสำหรับนกหรือสัตว์อื่นที่ต้องการลอดพื้นด้านล่าง
“ปติคนและนกอยู่ด้วยกันไม่ได้ เวลาคนเดินไปใกล้ นกก็จะบินหนีไป เราจึงต้องมาหาพื้นผิวที่สามารถเป็นกำบังให้นกและคนอยู่ด้วยกันได้ จนกระทั่งพบว่า ทะลายปาล์ม เป็นวัสดุสำคัญ” ผศ.สิงห์กล่าว
ไทยมีการปลูกปาล์มน้ำมันมากมาย และมีของเหลือทิ้งคือ กะลา ทะลายและเปลือกปาล์ม เมื่อทีมได้ศึกษาทะลายปาล์มพบว่า มีความชื้นแฉะ และมีลิกนินสูง คงทน ย่อยยาก เป็นข้อดีสำหรับการทำกำบังคือ สามารถเก็บความชื้นได้นาน เมื่อโยนเมล็ดพืชเข้าไปสามารถงอกเงยเป็นอาหารนก รวมถึงเป็นรัง หรือที่อาศัยหลบภัยได้
Ecology-Skin จากทะลายปาล์มกลายเป็นวัสดุหลักสำหรับการทำพื้นผิวในโครงสร้างต่างๆ ของโครงการ ด้วยความสามารถในการกลบกลิ่น เป็นมิตรต่อนก และสิ่งแวดล้อม ต้นทุนต่ำ แม้ต้องเปลี่ยนทุก 2-3 ปี แต่ถือว่า ตอบโจทย์อย่างมาก ซึ่งปัจจุบันทีมกำลังทดสอบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
คนรักนกรออีก 2 ปี
ในเดือนมกราคม ปี 2558 จักรชี้ว่าจะเริ่มลงต้นไม้และนำร่องสร้างในส่วนของหอดูนกน้ำ รวมถึงรอส่งประกวดรางวัลโกลบอลโฮลซิมอวอร์ดส เพื่อสร้างความสนใจ นำไปสู่การสนับสนุนในเชิงสปอนเซอร์ สำหรับนักดูนกหรือเยาวชน เมื่อบ้านฟื้นนกพร้อมจะเปิดภายในปี 2559 ซึ่งเป็นเฟสแรก
“เราตั้งเป้าทำแบบไม่แสวงหากำไร แต่ต้องอยู่ได้ด้วยตนเอง จากนั้นในเฟสที่ 2 เราจะเริ่มสร้างในส่วนฟื้นฟูนก ซึ่งจะใช้โรงบ่มใบยาเก่า ห้องสมุดและห้องออดิทอเรียมเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ คาดว่าจะเสร็จภายในปี 2560 เงินลงทุน 30 ล้านบาท” เจ้าของโครงการย้ำ
โครงการบ้านฟื้นนก คว้ารางวัลเหรียญทองโฮลซิม 2557 (HolcimAwards Gold 2014) สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยบริษัทโฮลซิม ผู้ผลิตวัตถุดิบก่อสร้างชั้นนำของโลก ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือปูนอินทรี และได้เข้าร่วมชิงรางวัลโกลบอลโฮลซิมอวอร์ดส (Global Holcim Awards) ในปี 2558
คณะกรรมการได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดที่โครงการนี้ ต้องการสื่อเกี่ยวกับผลกระทบที่เลวร้ายของการค้านก ทั้งอาจกล่าวได้ว่าโครงการนี้ถือเป็นการผสมผสานคุณลักษณะทางด้านสถาปัตยกรรมกับการอนุรักษ์ การให้ความรู้ การศึกษาวิจัยและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้อย่างกลมกลืนและลงตัว