คนกรุงลุ้นชม'พระจันทร์ยิ้ม'20 มิย.นี้

คนกรุงลุ้นชม'พระจันทร์ยิ้ม'20 มิย.นี้

คนกรุงลุ้นชม "ปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน" คืนวันเสาร์ที่ 20 มิย.นี้ คาดเหนือ-อีสาน-ใต้ตอนล่างดูดาวเคียงเดือนได้ชัดเจนสุด

นายศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือสดร. กล่าวถึงปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 19-21 มิย.นี้ว่าเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สวยงามและน่าสนใจในรอบปีนี้เพราะหาชมได้ไม่บ่อยนัก โดยในช่วงวันดังกล่าวปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน จะเกิดขึ้นในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตกหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า โดยมีดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดี อยู่เคียงดวงจันทร์เสี้ยวในแต่ละวันจะสังเกตเห็นรูปแบบปรากฏที่ต่างกัน และที่น่าจับตามองที่สุด คือวันเสาร์ที่ 20 มิย. จะเห็นดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี และดวงจันทร์ ปรากฎอยู่ในตำแหน่งคล้ายสามเหลี่ยมด้านเท่าโดยดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดี อยู่ห่างกันเพียง 6 องศามองดูคล้ายสองตา และดวงจันทร์ข้างขึ้น 3ค่ำจะปรากฏเป็นเสี้ยว ตะแคงอยู่ด้านล่างของดาวเคราะห์ทั้งสอง ปรากฏคล้าย “พระจันทร์ยิ้ม” ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำจนถึงประมาณ 21.00 น. ก่อนจะตกลับขอบฟ้าไป

ทั้งนี้ช่วงดังกล่าวหากฟ้าใสไม่มีเมฆจะเห็นได้ด้วยตาเปล่าในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่ง ปรากฎการณ์พระจันทร์ยิ้ม เคยเกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธค. 2551 โดยมีความสวยงามและสร้างความประทับใจให้กับผู้ที่ได้ชมเป็นอย่างมาก สำหรับปรากฎการณ์พระจันทร์ยิ้มในครั้งนี้จะแตกต่างจากพระจันทร์ยิ้มครั้งล่าสุดตรงที่ดวงจันทร์จะหันด้านมืดตะแคงออกด้านข้าง จึงมองคล้ายกับปากตะแคงอยู่ด้านล่าง

สำหรับผู้ที่พลาดดาวเคียงเดือนจะกลับมาปรากฏให้เห็นคล้ายพระจันทร์ยิ้มอีกครั้ง ในวันที่ 18 กค. 2558 ช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตกหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า แต่ดาวศุกร์จะเปลี่ยนตำแหน่งมาอยู่เหนือดาวพฤหัสบดีห่างกันเพียง 5 องศา มองดูคล้ายสองตา ส่วนดวงจันทร์ข้างขึ้น 2ค่ำ จะปรากฏเป็นเสี้ยว ตะแคงอยู่ด้านล่างของดาวเคราะห์ทั้งสองและดวงจันทร์อยู่ห่างจากดาวเคราะห์ทั้งสองมากกว่าวันที่ 20 มิย.เล็กน้อยนอกจากนี้ยังสังเกตปรากฏการณ์ได้ยากกว่า เนื่องจากในวันที่ 18 กค.2558 ดวงจันทร์จะอยู่สูงจากขอบฟ้าเพียงเล็กน้อยและมีแสงสนธยารบกวน

ด้านนายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า เนื่องจากในเขตพื้นที่กรุงเทพฯนั้นมีเมฆปกคลุมถึง 70% จึงทำให้การมองเห็นปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนในช่วงวันที่ 19 - 21 มิ.ย. นั้น อาจจะมีน้อยมาก และมีเฉพาะบางพื้นที่ โดยพื้นที่ที่จะเห็นชัดสุดตามคาดการณ์จะอยู่ที่ภาคเหนือตอนบน, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และตอนล่างสุดของภาคใต้