กทค.ฟันค่ายมือถือ ปฏิเสธยกเลิกบริการ ชี้เอาเปรียบผู้บริโภค
บังคับใช้ ประกาศ กสทช.เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคม อาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะค้ากำไรเกินควร
ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 24/2559 มีมติกรณีผู้ให้บริการโทรคมนาคมปฏิเสธคำขอยกเลิกใช้บริการว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการนำประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมโดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ. 2558 มาบังคับใช้
เรื่องนี้สืบเนื่องจากที่ประชุม กทค. พิจารณาแก้ไขเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภค กรณีใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด แต่เมื่อไปแจ้งขอยกเลิกเบอร์ที่ศูนย์บริการแห่งหนึ่งในจังหวัดชัยนาท กลับถูกพนักงานที่ศูนย์บริการปฏิเสธ อ้างว่าไม่สามารถยกเลิกให้ได้ หากต้องการยกเลิก ต้องไปติดต่อที่สำนักงานใหญ่เท่านั้น แต่ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงโปรโมชั่นให้จากเหมาจ่ายรายเดือน 399 บาท เป็นจ่ายรายเดือน 59 บาท ต่อมาผู้บริโภคทำเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่หาย จึงแจ้งขอระงับสัญญาณ แต่หลังจากนั้นยังคงถูกเรียกเก็บค่าบริการ
ภายหลังจาก กทค. พิจารณาเรื่องร้องเรียนดังกล่าว มีมติว่าบริษัทฯ สามารถเรียกเก็บค่าบริการรายเดือนตามโปรโมชั่น 399 บาทได้จนถึงวันที่ผู้บริโภคเริ่มต้นใช้โปรโมชั่นใหม่ และหลังจากนั้นมีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการรายเดือน 59 บาทจนถึงวันที่แจ้งระงับสัญญาณ ส่วนในประเด็นที่สำนักงานสาขาของบริษัทฯ ปฏิเสธการขอยกเลิกเลขหมายของผู้ใช้บริการนั้น กทค. เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมที่ว่าเป็นการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคตามประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมโดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ. 2558
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กทค. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุม กทค. มีมติว่าการที่บริษัทปฏิเสธคำขอยกเลิกใช้บริการถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ขั้นตอนต่อไปคือสำนักงาน กสทช. ต้องไปดำเนินการต่อด้วยการแจ้งไปยังผู้ให้บริการโทรคมนาคมเพื่อให้มีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป
“ชัดเจนว่าต่อไปนี้ห้ามบริษัทมือถือปฏิเสธลูกค้าที่ต้องการขอยกเลิกบริการ โดยจะมาอ้างว่าเป็นแค่ศูนย์บริการสาขาแล้วดำเนินการให้ไม่ได้นั้น ถือว่าไม่ถูกต้อง ยกเว้นตัวแทนจำหน่ายซิมการ์ดของบริษัทที่ไม่สามารถปิดบริการให้ได้ ดังนั้นถ้าผู้บริโภคพบการกระทำลักษณะนี้ อยากให้ร้องเรียนมาที่สำนักงาน กสทช. เพื่อขยายผลให้เป็นที่กว้างขวาง เพราะหากผู้ให้บริการรายใดยังฝ่าฝืนก็จะมีโทษปรับ โดยคณะกรรมการสามารถสั่งปรับได้ไม่เกิน 5,000,000 บาท และปรับได้อีกวันละไม่เกิน 100,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ได้ปฏิบัติตาม” นายประวิทย์กล่าว
อนึ่ง ประกาศเรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2558 โดยกรณีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ กทค. มีมติห้ามการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคตามประกาศฯ เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำผิดซ้ำในลักษณะเดียวกันอีก โดยนอกจากการห้ามผู้ให้บริการปฏิเสธคำขอยกเลิกบริการแล้ว ประกาศฯ ยังห้ามการกระทำอื่นๆ ด้วย เช่น การส่ง SMS มายังเครื่องโทรศัพท์ของผู้บริโภคโดยไม่ได้สมัครใช้บริการ การเปิดบริการ Voice Mailbox และบริการเสริมอื่นๆ ให้โดยผู้บริโภคไม่ประสงค์ใช้บริการ การยกเลิกการใช้บริการแบบเหมาจ่ายระหว่างรอบบิล แต่เรียกเก็บค่าบริการเต็มรอบบิล เป็นต้น