‘ธนาคารจุลินทรีย์’ขุมทรัพย์มีชีวิต
น้ำส้มสายชูหมักจากมังคุดโดยใช้เชื้อจุลินทรีย์จากธนาคารจุลินทรีย์ของไบโอเทค ผลงานวิจัยร่วมระหว่างเกษตรกรชาวสวนผลไม้ในจังหวัดตราดร่วมกับนักวิจัยไบโอเทค
น้ำส้มสายชูหมักจากมังคุดโดยใช้เชื้อจุลินทรีย์จากธนาคารจุลินทรีย์ของไบโอเทค ผลงานวิจัยร่วมระหว่างเกษตรกรชาวสวนผลไม้ในจังหวัดตราดร่วมกับนักวิจัยไบโอเทค เตรียมวางจำหน่ายปลายปีนี้ คาดว่าจะทำให้ราคาซื้อขายมังคุดนิ่งขึ้น จุดเริ่มต้นของโครงการนี้เกิดจากความตั้งใจของผู้ประกอบการสวนมังคุดอินทรีย์หลังจากเยี่ยมชมเทคโนโลยีและผลงานวิจัยภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ร่วมกับคณะผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ที่ต้องการนำงานวิจัยไปช่วยผู้ประกอบการในจังหวัด
สร้างมูลค่าจากจุลินทรีย์
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) จัดทำโครงการธนาคารจุลินทรีย์ซึ่งมีให้บริการมากกว่า 20,000 ตัวอย่าง และเก็บรักษาตามมาตรฐานไอเอสโอ 9001 ในสภาพเยือกแข็งในถังไนโตรเจนเหลว หรือในหลอดแห้งสุญญากาศ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านจุลินทรีย์จะกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดเก็บ เพื่อให้ได้จุลินทรีย์ที่ถูกต้อง มีชีวิตรอดและปราศจากการปนเปื้อน
"ในโครงการพัฒนาน้ำส้มสายชูหมักจากมังคุด เราทำหน้าที่พัฒนาตัวเชื้อจุลินทรีย์ที่จะเปลี่ยนจากน้ำมังคุดให้เป็นไวน์ แล้วแยกเชื้อได้อีกกลุ่มหนึ่งเพื่อนำมาหมักไวน์ให้เป็นน้ำส้มสายชู อีกทั้งพยายามลดระยะเวลาการหมักให้เหลือ15-20 วันจากเดิม 3 เดือน ทำให้กระบวนการหมักเร็วขึ้น สามารถแปรรูปน้ำไซเดอร์จากมังคุดเร็วขึ้น” วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพอาหาร ไบโอเทคกล่าว
ทั้งนี้ เอแอนด์พี ออร์ชาร์ด กิจการสวนมังคุดอินทรีย์ จ. ตราด นำมังคุดราคาตกหรือต้องคัดทิ้งมาแปรรูปเป็นน้ำมังคุดออร์แกนิค เพื่อตอบสนองเทรนด์ผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ แต่ต่อมาประสบปัญหาด้านสงครามราคาในตลาดทำให้ยอดขายลดลง หลังจากเดินทางไปต่างประเทศสังเกตว่า มีสินค้าเพื่อสุขภาพอื่นอีกที่สามารถประยุกต์ใช้กับมังคุดและผู้บริโภคต่างประเทศให้ความสนใจ อาทิน้ำส้มสายชูหมักจากผลไม้ จึงนำมาสู่การพัฒนาน้ำส้มสายชูหมักจากมังคุด โดยใช้เชื้อจุลินทรีย์จากธนาคารจุลินทรีย์ของไบโอเทค ต่อมาบริษัทได้พัฒนาให้น้ำไซเดอร์จากมังคุดมีสีสันหลากหลาย ซึ่งเป็นเทคนิคของที่ต้องการสร้างความแตกต่างและมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์
เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน
A-zyme ผลิตภัณฑ์เอนไซม์อาหารสัตว์ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างจากธนาคารจุลินทรีย์ที่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ เป็นการเสริมสร้างให้เกิดการใช้เทคโนโลยีการหมักในระดับอุตสาหกรรมเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และทดแทนการนำเข้าเอนไซม์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมสัตว์จากต่างประเทศ
งานวิจัยนี้เกิดจากภาคเอกชนที่เลี้ยงสุกร ซึ่งจำเป็นต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์เอนไซม์ราคาแพงทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ทั้งยังไม่ทนต่อสภาพอากาศร้อนในไทย ส่งผลให้เอนไซม์เสื่อมสภาพและมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อนำมาใช้เลี้ยงสัตว์ นักวิจัยจึงได้พัฒนาเชื้อจุลินทรีย์สำหรับการผลิตเอนไซม์ในสภาวะที่เหมาะสม เพื่อนำมาผสมอาหารสัตว์ทดแทนเอนไซม์นำเข้า
ปัจจุบันการใช้จุลินทรีย์ได้รับความนิยมในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก เช่น อุตสาหกรรมยา เวชภัณฑ์สำหรับมนุษย์และสัตว์ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมฟอกย้อมและอุตสาหกรรมกระดาษ แต่ที่คุ้นเคยคือ จุลินทรีย์ที่ใช้ในการหมัก จุลินทรีย์ที่เปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นกรดแลกติก
“อีกกลุ่มที่น่าสนใจคือกรดแลกติกไบโอติกส์ ทางนักวิจัยกำลังพัฒนาคัดเลือกจุลินทรีย์ที่มีความสามารถเป็นโพรไบโอติกส์ โดยนำเชื้อแบคทีเรียไปหมักในกากถั่วเหลือง หมักทดสอบในลูกหมู ด้วยการดูอัตราการป่วยของและอัตราการเติบโตของลูกหมู พบว่า อัตราการใช้ยาลดลง จึงนำไปเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์” วรรณพกล่าว
ในยุคปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง การทำธุรกิจจำเป็นต้องสร้างความแตกต่างโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนภาคการผลิต และช่วยยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน ไบโอเทคให้ความสำคัญกับงานวิจัยที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ และเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้ทัดเทียมต่างประเทศ