‘ปุ๋ยมูลค้างคาว’ ไฮคลาสด้วยแสงซินโครตรอน

‘ปุ๋ยมูลค้างคาว’ ไฮคลาสด้วยแสงซินโครตรอน

ธุรกิจผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีรายใหญ่ ร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีลำแสง เพิ่มประสิทธิภาพและกำลังการผลิตปุ๋ยมูลค้างคาว 1 เท่าตัว หวังขยายตลาดพร้อมช่วยเกษตรกรลดใช้สารเคมี

บริษัท อินเตอร์ อโกร เทค  (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบธุรกิจผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีรายใหญ่จากมูลค้างคาวมานานกว่า 20 ปี ตลาดหลักอยู่ที่ญี่ปุ่น ยังคงมองหาโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ่านการวิจัยและพัฒนาภายในบริษัท พบว่าต้องใช้เวลานานมากในการตรวจวิเคราะห์และทดสอบต่างๆ กระทั่งได้พบกับเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนที่ช่วยเปลี่ยนเรื่องยากๆ ของมูลค้างคาวให้เป็นเรื่องง่ายในพริบตา

นายจิระชัย พุทธวงค์ ประธานบริษัท กล่าวว่า มีความสนใจใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนศึกษาองค์ประกอบทางเคมีที่มีอยู่ในมูลค้างคาว เช่น ไคโตซานและฮอร์โมนที่จะเร่งการเจริญเติบโตของพืช นอกจากนั้นยังได้ศึกษาอัตราการซึมผ่านรวมถึงความสามารถในการควบคุมการปลดปล่อยธาตุอาหารของปุ๋ยอินทรีย์เคมีจากมูลค้างคาวเปรียบเทียบกับปุ๋ยเคมี โดยการถ่ายภาพสามมิติของการซึมผ่านของน้ำเข้าไปในเม็ดปุ๋ยด้วยเทคนิคเอกซเรย์พิเศษ เพื่อเป็นแนวทางปรับปรุงการผลิตปุ๋ยให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นต่อไป 

บริษัทร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ยกระดับงานวิจัยจากการใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ โจทย์หลักของบริษัทคือการพัฒนาประสิทธิภาพของสินค้า และการเพิ่มกำลังการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมี แม้จะผลิตได้มากกว่าปุ๋ยเคมี 10 เท่า แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาดโดยเฉพาะตลาดในประเทศที่มีการใช้ปุ๋ยเคมีปีละหลายแสนล้านบาท แต่การใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมียังน้อยด้วยความไม่เชื่อมั่น ฉะนั้น เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนจึงเป็นโซลูชั่นที่จะช่วยตอบโจทย์

“ซินโครตรอนเป็นเครื่องมือที่เข้ามาตอบโจทย์ แก้ปัญหาการวิจัยและพัฒนาในเรื่องระยะเวลาการทดสอบ จากเดิมที่มีการส่งไปทดสอบในห้องปฏิบัติการที่ใช้เวลานาน และมีห้องปฏิบัติการเพียงไม่กี่แห่งที่รองรับ กระทั่งได้มาใช้แสงซินโครตรอนทำการทดสอบวิเคราะห์ บางขั้นตอนที่ใช้เวลาถึง 3 เดือน สามารถทำได้ในไม่กี่นาที ด้วยการยิงลำแสงที่ความเร็วสูงระดับความเร็วแสง”

แม้จะเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ด้วยเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง แต่นายจิระชัยมองเห็นเป็นโอกาสที่จะพัฒนาให้ก้าวไปอยู่แถวหน้าของอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันก็ช่วยเกษตรกรที่ยังลำบากจากปริมาณผลผลิตที่ตกต่ำ โอกาสทางการตลาดที่มีมากทำให้เขาตัดสินใจสร้างโรงงานใหม่ที่มีกำลังการผลิตไม่เกิน 5 แสนตันต่อปี เพื่อรองรับความต้องการทั้งญี่ปุ่นที่เป็นตลาดหลัก และไทยที่จะเป็นตลาดดาวรุ่ง

ทั้งนี้ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) หรือ สซ.ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับภาคอุตสาหกรรม 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท เนเชอรัลเบฟ จำกัด, บริษัท อินเตอร์ อโกร เทค, บริษัท วัซซาดุ ทรานส์มีเดีย จำกัด และหจก.อุดร เนเจอรอล แอนด์ ฟลอสส์ โปรดักส์ เพื่อใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงกระบวนการผลิต

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานในพิธีลงนามฯ กล่าวว่า สถาบันวิจัยฯ เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญอย่างมากในการวิเคราะห์ วิจัย การปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ภาคอุตสาหกรรม โดยมีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ซึ่งเป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ ที่ถือได้ว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางวิทยาศาสตร์ มีการประยุกต์ใช้ในหลากหลายทั้งทางเกษตร สิ่งแวดล้อม การแพทย์ วัสดุศาสตร์และอุตสาหกรรม การลงนามกับภาคเอกชนถึง 4 บริษัท จึงแสดงให้เห็นถึงการนำแสงซินโครตรอนมาใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม ส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมท้องถิ่นให้สามารถรองรับการแข่งขันได้ในระดับสากล

นายสราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า ในเบื้องต้นบริษัทได้นำโจทย์วิจัยมาปรึกษากับสถาบันฯ เช่น บริษัทอินเตอร์ อโกร เทค ประกอบธุรกิจผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีรายใหญ่ ให้ความสนใจใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนศึกษาองค์ประกอบทางเคมีที่มีอยู่ในมูลค้างคาว เช่น ไคโตซานและฮอร์โมนที่จะเร่งการเจริญเติบโตของพืช แถมยังศึกษาอัตราการซึมผ่าน รวมถึงความสามารถในการควบคุมการปลดปล่อยธาตุอาหารของปุ๋ยอินทรีย์เคมีจากมูลค้างคาวเปรียบเทียบกับปุ๋ยเคมี เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงการผลิตปุ๋ยจากมูลค้างคาวให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นต่อไป

ส่วนบริษัท เนเชอรัลเบฟ ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำผักผลไม้พร้อมดื่ม รวมถึงน้ำผักและผลไม้สกัดเข้มข้น ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลพลอยได้จากลำไย โดยงานวิจัยเบื้องต้นพบว่า สารสกัดจากลำไยของบริษัทมีประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ทางชีวภาพสูง สามารถประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการเพิ่มมูลค่าลำไย บริษัท วัซซาดุ ทรานส์มีเดีย ต้องการนำเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนมาช่วยวิจัยเชิงลึกทางวัสดุศาสตร์เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ขณะที่ หจก.อุดร เนเจอรอล แอนด์ ฟลอสส์ โปรดักส์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ได้นำตัวอย่างไหมขัดฟันเข้ามาศึกษาองค์ประกอบทางเคมีระหว่างไหมขัดที่ผลิตจากไหมธรรมชาติและไนลอน เพื่อที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ไหมขัดฟันจากเส้นไหมธรรมชาติ

“การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากสถาบันวิจัยฯ จะเข้าไปมีบทบาทในเรื่องของการปรับปรุงกระบวนการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ยังรวมถึงการให้คำปรึกษาโจทย์วิจัยต่างๆ จากนักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ ทั้งหมดนี้ถือเป็นการบูรณาการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ที่จะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพงานวิจัยของทั้ง 4 บริษัทให้ก้าวไปสู่การสร้างนวัตกรรมด้านอาหาร เกษตร และวัดสุศาสตร์ที่พร้อมแข่งขันในระดับสากลอย่างยั่งยืน” นายสราวุฒิ กล่าว