‘รถยกไร้คนขับ'ขานรับสมาร์ทอินดัสตรี
“ฟอร์คลิฟท์ไฟฟ้าไร้คนขับ” รับเทรนด์อุตสาหกรรมโรงงาน ก่อสร้างและสาธารณูปโภคโลก นวัตกรรมล่าสุดจาก “มิตซูบิชิ โลจิสเน็กซ์” หวังขึ้นแท่นเบอร์ 1 โลก
“ฟอร์คลิฟท์ไฟฟ้าไร้คนขับ” รับเทรนด์อุตสาหกรรมโรงงาน ก่อสร้างและสาธารณูปโภคโลก นวัตกรรมล่าสุดจาก “มิตซูบิชิ โลจิสเน็กซ์” หวังขึ้นแท่นเบอร์ 1 โลกในตลาดรถฟอร์คลิฟท์ ด้านตัวแทนจำหน่ายในไทย “ยูไนเต็ด มอเตอร์เวิกส์” เล็งยอดขาย 1,000 ล้านบาทตั้งความหวังไว้กับโครงการอีอีซีที่มีต่างชาติเข้ามาลงทุน จะช่วยผลักดันยอดขายให้เป็นไปตามเป้า
ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นตลาดรถฟอร์คลิฟท์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีความต้องการในการใช้รถใหม่ไม่ต่ำกว่า 9 พันคันต่อปี รองลงมาคือ อินโดนีเซียและเวียดนาม เนื่องจากมีนักลงทุนต่างประเทศเข้าไปลงทุนในภาคผลิตต่างๆ มากขึ้น ทำให้มีการเติบโตของอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง
มิตซูบิชิลุ้นเบอร์ 1 ฟอร์คลิฟท์
นาโอยูกิ มาสึมูระ รองผู้อำนวยการฝ่ายขายต่างประเทศและการตลาดประจำภูมิภาค บริษัท มิตซูบิชิ โลจิสเน็กซ์ จำกัด ผู้ผลิตอุปกรณ์และฟอร์คลิฟท์ เปิดเผยว่า ความนิยมใช้รถยกในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้นทุกปี ประกอบกับบริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมอัตโนมัติที่ช่วยประหยัดแรงงาน อาทิ ฟอร์คลิฟท์ไร้คนขับรองรับการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง
เริ่มจากการใช้แถบแม่เหล็กและกล้อง ในอนาคตจะพัฒนาโดยใช้เซ็นเซอร์เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน ระยะเวลาทำงานสั้น ขณะเดียวกันก็ยกระดับความปลอดภัยด้วยซอฟต์แวร์ พร้อมทั้งยกระดับงานวิศวกรรมด้วยการตั้งศูนย์ออกแบบในญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป เพื่อศึกษาวิจัยในเรื่องของการใช้งานฟอร์คลิฟท์ในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน จึงต้องออกแบบให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในแต่ละประเทศ ซึ่งตรงกับนโยบายการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรมที่หลากหลายแบรนด์ ภายใต้แนวคิด Glocal เป็นการผสมผสานโกลเบิลกับโลคัล เพื่อสร้างประโยชน์ใช้สอยที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า
ปัจจุบันมิตซูบิชิมีส่วนแบ่งทางการตลาดฟอร์คลิฟท์ในญี่ปุ่น 34% แม้จะเป็นรองจากโตโยต้าซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาด 42% แต่ในอนาคตจะเพิ่มขึ้นจากการนำเสนอนวัตกรรม ทั้งคาดว่าจะสามารถเพิ่มยอดขายในปีนี้ 1.5 เท่าจากปีที่ผ่านมาคิดเป็นมูลค่า 1.23 แสนล้านบาท โดยตลาดส่งออกหลักคือสหรัฐอเมริกา ยุโรปและเอเชีย สัดส่วนจะเพิ่มเป็น 1.38 แสนล้านบาทในปี 2564 ซึ่งจะขยับเป็นอันดับ 1 ในตลาดโลก
สำหรับการทำตลาดฟอร์คลิฟท์ในไทย มิตซูบิชิโลจิสเน็ค ได้แต่งตั้งให้ บมจ.ยูไนเต็ด มอเตอร์เวิกส์ (สยาม) หรือ UMWS เป็นตัวแทนจำหน่ายมา 40 ปีแล้ว ยอดการขายเฉลี่ย 3,000 คันต่อปี
หวังอีอีซีเปิดทางคืนสู่ตลาดหุ้น
กมลทิพย์ เงินรวง ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการเงินและบริการงานทั่วไป UMWS กล่าวว่า นโยบายไทยแลนด์ 4.0 รวมทั้งโครงการส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี ) เป็นโอกาสในการขยายธุรกิจโลจิสติสติกส์ด้านอุปกรณ์ขนถ่ายลำเลียงสินค้า เครื่องจักรกลเพื่อการก่อสร้างขนาดเล็กและขนาดกลาง โรงงานอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและนอกประเทศ
บริษัทมีแผนร่วมทุนกับภาคเอกชนในลาว DK Lao เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูง สังเกตจากสัดส่วนรายได้จากลาวประมาณ 5% ในระยะเวลา 3 ปี ทั้งนี้เพราะมีกลุ่มนักลงทุนไทยและต่างประเทศเข้าไปขยายฐานการผลิตในลาวเนื่องจากค่าแรงงานถูก ประกอบกับ เศรษฐกิจในประเทศมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่า กลางปีหน้าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ จากนั้นปลายปีหน้าจะขยายการลงทุนในรูปแบบการร่วมทุนไปที่เมียนมา
ยูไนเต็ดฯ มีแผนการที่กลับเข้าตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง หลังจากออกมาในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 โดยปีนี้คาดว่ายอดขายจะอยู่ที่ 850 ล้านบาท และจะพยายามผลักดันให้ถึง 1,000 ล้านบาทในปีหน้า โดยการนำเสนอนวัตกรรมขนถ่ายลำเลียงสินค้าหลากหลายยี่ห้อ ซึ่งรวมถึงฟอร์คลิฟท์ของมิตซูบิชิ พร้อมทั้งเปิดบริการให้เช่าและจำหน่ายสินค้ามือสองเพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้าและคู่ค้า ทั้งนี้ บริษัทเล็งเห็นการเติบโตด้านการเช่าและขายสินค้ามือสอง จึงร่วมทุนกับบริษัทฮิตาชิ แคปปิตอล จากญี่ปุ่นตั้งบริษัทลูกชื่อ ยูไนเต็ด แคปปิตอล อิควิปเม้นท์ หรือ UCE โดยถือหุ้นในสัดส่วน 80% เพื่อนำเข้าฟอร์คลิฟท์ รถกระเช้าทั้งใหม่และมือสองมาเปิดบริการให้เช่าชั่วคราว 10-15 วัน เพื่อลดต้นทุนในธุรกิจ ภายใต้แนวคิดการเป็นผู้ให้บริการรูปแบบ โทเทิล โซลูชั่น
"การเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติในโครงการอีอีซี จะส่งผลดีต่อธุรกิจของ UMWS เนื่องมีอุปกรณ์เครื่องจักรรองรับการทำงานหลากหลายรูปแบบ ทั้งมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับถึงคุณภาพและความปลอดภัย” กมลทิพย์ กล่าว