เด็กไทยยังเสี่ยงภัยไซเบอร์ พบตัวเลขสูงกว่าค่าเฉลี่ย
"ดีป้า"จับมือพันธมิตร ขับเคลื่อนความฉลาดทางดิจิทัลให้เด็กไทย หวังเทียบเท่ามาตรฐานสากล หลังพบเด็กไทยเสี่่ยงภัยออนไลน์
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม , สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ และ สถาบันดิจิทัล อินเทลลิเจ้นท์ (DQ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกิดจากความร่วมมือกันของภาครัฐและเอกชนทั่วโลกประสานงานร่วมกับ เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม มุ่งมั่นให้เด็กๆ ทุกประเทศได้รับการศึกษาด้านทักษะพลเมืองด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพและใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย ร่วมกันจัดทำรายงานการศึกษา The 2017 DQ Impact Study การศึกษาครั้งนี้เริ่มต้นในเดือน พฤษภาคม - ธันวาคม 2560 โดยทำการศึกษาเด็กไทยอายุ 8-12 ปี ทั่วประเทศ 1,300 คน ผ่านแบบสำรวจออนไลน์ชุดเดียวกันกับเด็กประเทศอื่นๆ รวมกลุ่มตัวอย่างทั่วโลกทั้งสิ้น 37,967 คน
จากรายงานการศึกษามีข้อสังเกตที่น่าสนใจพบว่า เด็กไทยมีความเสี่ยงจากภัยออนไลน์ถึง 60% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของการศึกษาครั้งนี้อยู่ที่ 56% (จาก 29 ประเทศทั่วโลก) เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านพบว่า ประเทศฟิลิปปินส์อยู่ที่ 73% อินโดเนียเซียอยู่ที่ 71% เวียดนามอยู่ที่ 68% สิงคโปร์ 54% มาเลียเซีย 57% ภัยออนไลน์ที่เจอจากการศึกษาชุดนี้ประกอบไปด้วย การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ หรือ Cyber bullying , ถูกล่อลวงออกไปพบคนแปลกหน้าจากสื่อสังคมออนไลน์ , ปัญหาการเล่นเกม เด็กติดเกม,ปัญหาการเข้าถึงสื่อลามกอนาจาร , ดาวน์โหลดภาพหรือวิดีโอที่ยั่วยุอารมณ์เพศ และพูดคุยเรื่องเพศกับคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์
“รายงานชิ้นนี้ ทำให้ประเทศไทยเห็นมิติที่รอบด้านของเด็กไทยชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ข้อมูลจากการศึกษาจะถูกนำไปใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาทักษะดิจิทัลของเด็กไทย เพื่อยกระดับให้เด็กมีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ สร้างความมั่นคงและเติมเต็มศักยภาพการเรียนรู้ทางด้านดิจิทัล เช่น สามารถเข้าใจหรือเลือกทำในสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดผลเชิงลบต่อตนเองในโลกออนไลน์ ” นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าว
โดยจากสถานการณ์ของเด็กไทยที่สำคัญในรายงาน DQ report 2018 ในปีนี้ดีป้าพร้อมเดินหน้าส่งเสริมการสร้างความฉลาดทางดิจิทัล ( Digital intelligence Quotient : DQ) โดยจะร่วมมือกับ สพฐ และสถานบัน DQ เสริมทักษะด้านนี้ของเด็กไทย และพัฒนาทัศนคติตลอดจนพฤติกรรมของพวกเขาไม่ให้มีความเสี่ยงในโลกไซเบอร์ ซึ่งมีเป้าหมายจะพัฒนาทักษะ DQ ของเด็กอายุระหว่าง 8-12 ปี จำนวน 20 ล้านคนภายในปี 2563 และเมื่อสิ้นสุดแคมเปญ จะมีการวัดคะแนนของแต่ละประเทศที่เข้าร่วมโครงการ
ทั้งนี้ เมื่อเดือนกันยายน 2559 เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ได้เผยแพร่ ถึงคุณลักษณะและทักษะชีวิตในโลกยุคดิจิทัล หรือ "ความฉลาดทางดิจิทัล" (Digital Intelligence: DQ) ที่จำเป็นสำหรับเด็กในศตวรรษที่ 21 แบ่งเป็น 8 ทักษะ ดังนี้ 1.ทักษะในการรักษาอัตลักษณ์ที่ดีของตนเอง 2.ทักษะในการจัดสรรเวลาหน้าจอ 3.ทักษะในการรับมือกับการคุกคามทางโลกออนไลน์ 4.ทักษะในการรักษาความปลอดภัยของตนเองในโลกออนไลน์ 5.ทักษะในการรักษาข้อมูลส่วนตัว (Privacy Management) มีดุลพินิจในการบริหารจัดการข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะการแชร์ข้อมูลออนไลน์เพื่อป้องกันความเป็นส่วนตัวทั้งของตนเองและผู้อื่น
6.ทักษะการคิดวิเคราะห์มีวิจารณญาณที่ดี (Critical Thinking): ความสามารถในการวิเคราะห์แยกแยะระหว่างข้อมูลที่ถูกต้องและข้อมูลที่ผิด ข้อมูลที่มีเนื้อหาดีและข้อมูลที่เข้าข่ายอันตราย ข้อมูลติดต่อออนไลน์ที่น่าตั้งข้อสงสัยและน่าเชื่อถือได้ และ7.ทักษะในการบริหารจัดการข้อมูลที่ผู้ใช้งานมีการทิ้งไว้บนโลกออนไลน์ (Digital Footprints): ความสามารถในการเข้าใจธรรมชาติของการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลว่าจะหลงเหลือร่องรอยข้อมูลทิ้งไว้เสมอ รวมไปถึงเข้าใจผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อการดูแลสิ่งเหล่านี้อย่างมีความรับผิดชอบ และ8.ทักษะการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม (Digital Empathy): ความเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจความรู้สึกผู้อื่นบนโลกออนไลน์