กฎหมายปลดล็อค Deep tech startup ผ่านฉลุยแล้ว
ทำความรู้จักและเข้าใจกฎหมายส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม หรือ Bayh-Dole Act ที่นำไปสู่การปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของไทย ในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นปัญหาติดขัดมาหลายปี และจะช่วยปลดล็อคปัญหาวิจัยขึ้นหิ้งได้อย่างเป็นรูปธรรม
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นความหวังที่ปลายอุโมงค์ เมื่อคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Bayh-Dole Act ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีต้นกำเนิดจากสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1980 ทำให้สหรัฐอเมริกา กลายเป็น ประเทศที่เจริญด้วยนวัตกรรม มีการใช้ประโยชน์จากสิทธิบัตรมากมายจนทำให้เกิดบริษัทเกิดใหม่ขึ้นเป็นดอกเห็ด และเกิดเป็นซิลิกอนวัลเล่ย์ตามมา
กฎหมายนี้มีใจความสำคัญคือ ให้สิทธิ์ในการใช้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากการสนับสนุนโดยใช้งบประมาณจากภาครัฐ ผ่านทางหน่วยงานผู้ให้ทุนต่างๆ ให้เป็นของผู้รับทุน หรือนักวิจัยหรือ ผู้ประดิษฐ์นวัตกรรมนั้นๆ โดยนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานวิจัยและนวัตกรรมของตัวเองได้เลย หรือหากผู้รับทุนไม่ประสงค์เป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม แจ้งความประสงค์ให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมนั้นๆ เป็นของผู้ให้ทุน โดยที่ผู้รับทุนสามารถทำความตกลงกับผู้ให้ทุนในการขอใช้ประโยชน์ได้
ทั้งนี้ หากผู้รับทุนไม่ใช้ประโยชน์ในผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตนเองวิจัยภายใน 2 ปี และมีผู้ต้องการขอใช้สิทธิ์ในผลงานวิจัยและนวัตกรรมนั้น คณะกรรมการซึ่งจะจัดตั้งโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะพิจารณาให้ผู้รับทุนทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ไปยังผู้ต้องการใช้สิทธิ์นั้นได้ หรือหากผู้รับทุนไม่ได้ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตนเองประดิษฐ์ขึ้นภายใน 2 ปี ผู้ให้ทุนก็มีสิทธิ์เรียกร้องเอาผลงานวิจัยและนวัตกรรมนั้นคืนมาเป็นของผู้ให้ทุนได้ นอกจากนี้ ยังสามารถสงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ในผลงานวิจัยและนวัตกรรมนั้นในกรณีใช้เพื่อการศึกษา ค้นคว้า ทดลองและวิจัย หรือในภาวะสงครามหรือในภาวะฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นเพื่อการเยียวยาด้านสาธารณสุข ความมั่นคง เป็นต้น
ที่ผ่านมา ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในมหาวิทยาลัยหรือในหน่วยงานวิจัยของรัฐ เมื่อวิจัยเสร็จแล้ว สิทธิ์ในผลงานวิจัยและนวัตกรรมดังกล่าวยังคงเป็นของหน่วยงานผู้ให้ทุนหรือไม่ก็เป็นการถือครองสิทธิ์ร่วมระหว่างหน่วยงานผู้ให้ทุนกับหน่วยงานผู้รับทุน เช่น สถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัย หากผู้รับทุนต้องการนำผลงานที่เกิดจากการรับทุนนั้นไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จะต้องใช้เวลาและความพยายามในการเจรจาประสานงานกับหน่วยงานผู้ให้ทุน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่มีพันธกิจที่จะนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ จึงทำให้ผลงานไม่สามารถถ่ายทอดออกไปสู่ภาคเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ประโยชน์ติดขัดไม่คล่องตัวล่าช้า แนวทางดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน อาจทำให้ผลงานวิจัยบางอย่างล้าสมัย เนื่องจากเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ดังนั้น เมื่อมี พ.ร.บ. นี้ ความหวังจะเกิด บริษัทเกิดใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หรือ Deep Tech Start Up ในประเทศไทยจึงมีความหวังขึ้นมาก แต่อย่างไรก็ตามถือว่าเป็นการปลดล็อคเพียง 1 ชั้นเท่านั้น จากล็อคทั้งหมด 3 ชั้น เนื่องจากยังติดล็อคเรื่องสัญญาที่แต่ละหน่วยงานทำกับนักวิจัยหรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัยว่า ผลงานทั้งหมดต้องเป็นของหน่วยงานต้นสังกัด และอีกล็อคหนึ่งคือการอนุญาตให้อาจารย์มหาวิทยาลัย หรือนักวิจัยในหน่วยงานวิจัยสามารถเป็นเจ้าของบริษัทได้ด้วยตนเอง ซึ่งยังทำไม่ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย คงต้องรอดูว่าการปลดล็อคในขั้นแรกนี้จะช่วยทำให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่ภาคเอกชนได้มากน้อยแค่ไหนตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลนี้
*บทความโดย ดร. อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัย ศูนย์นวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, เมธีวิจัยอาวุโส สกว.