ไทยทำได้! เปลี่ยน 'แกลบ’ เป็นซูเปอร์แบตฯ

ไทยทำได้! เปลี่ยน 'แกลบ’ เป็นซูเปอร์แบตฯ

วัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรที่ผ่านมือนักวิจัย มข. เปลี่ยนแกลบเป็นนาโนซิลิกอน สร้างต้นแบบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ในราคาที่ถูกกว่าของนำเข้ากว่า 50% เอกชนรุมจีบ หวังขยายโรงงานต้นแบบที่พร้อมเดินเครื่องปี 63 สู่ธุรกิจสตาร์ทอัพนวัตกรรม

จากการสกัดซิลิก้าจากแกลบส่งเข้าประกวดในงานนวัตกรรมข้าวไทย เมื่อปี 2557 ผศ.นงลักษณ์ มีทอง จากสถาบันวิจัยและนวัตกรรมวัสดุนาโนเพื่อพลังงาน อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เดินหน้าขยายโครงการ โดยพัฒนาให้แกลบกลายเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ยานยนต์เพื่ออนาคต

เพิ่มค่าของเหลือจากท้องนา

แกลบ 1 กิโลกรัม นักวิจัยนำมาสกัดเป็นวัสดุนาโนที่เรียกว่า นาโนซิลิกอนได้ 0.04 กิโลกรัม ที่สามารถใช้เป็นขั้วไดโอดในแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ด้วยคุณสมบัติเป็นวัสดุที่ความจุไฟฟ้าทางทฤษฎีสูงถึง 4,200 มิลลิแอมแปร์ชั่วโมงต่อกรัม

“นาโนซิลิกอนจากแกลบมีจุดเด่นในการทำขั้วไฟฟ้าแบตเตอรี่ที่ต่างจากวัสดุอื่น ด้วยมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบาและศักยภาพการกักเก็บพลังงานสูง ทางทีมวิจัยจึงได้พัฒนาต้นแบบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนทรงกระบอกขนาด 18,650 ที่มีสามารถเก็บประจุไฟฟ้าได้มากกว่าของที่มีในท้องตลาด”

แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนดังกล่าวจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้ในปี 2560 มีเอกชนสนใจและสนับสนุนจนเกิดเป็นโรงงานต้นแบบ 2 ส่วนคือ โรงงานต้นแบบผลิตวัสดุนาโนจากแกลบสำหรับขั้วไฟฟ้าของแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออน และโรงงานต้นแบบผลิตเซลล์แบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออนจากแกลบเพื่อยานยนต์ไฟฟ้า กำลังการผลิต 2 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือ 1 พันก้อนต่อวัน

ผศ.นงลักษณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีเอกชนให้ความสนใจแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจากแกลบมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมจักรยานยนต์ไฟฟ้า และโดรนเพื่อการเกษตรที่ต้องการแบตเตอรี่ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ประจุไฟฟ้าสูงที่ช่วยให้รอบบินสั้นลง ไม่ต้องชาร์จบ่อย ที่สำคัญ ต้นทุนของวัสดุหลักคือแกลบที่หาได้ง่ายและราคาถูก ทำให้ต้นทุนจะถูกกว่าของนำเข้ากว่า 50%

“สำหรับโรงงานต้นแบบจะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงเดือน มิ.ย.2562 และเตรียมความพร้อมทั้งอุปกรณ์ บุคลากร คาดว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 จะพร้อมเดินเครื่องผลิต"

อย่างไรก็ดี การจะต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ยังมีข้อจำกัดในการขอมาตรฐาน มอก. ที่ต้องเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อการผลิต จำหน่ายโดยเฉพาะ ทำให้โรงงานต้นแบบนี้กลายเป็นข้อจำกัด จึงอยู่ระหว่างการหาโมเดลธุรกิจที่จะต่อยอดนวัตกรรมนี้ไปสู่การใช้งานจริง ซึ่งอาจจะเป็นการหาบริษัทรับจ้างผลิต หรือการสปินออฟไปทำแบรนด์ของมหาวิทยาลัย หรืออาจเป็นกลไกการปลดล็อกของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ที่จะผลักดันนวัตกรรมไทย

วท. หนุนนวัตกรรมภูมิภาค

สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นกลไกเชื่อมกับผู้ประกอบการที่สามารถสร้างนวัตกรรมและมุ่งเน้นการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่เกี่ยวข้องกับพืชเศรษฐกิจ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย พริก สมุนไพรท้องถิ่นและปศุสัตว์ สุกรและไก่ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพ อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ดิจิทัล และอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ความคืบหน้าในการพัฒนานวัตกรรมจากการวิจัยและพัฒนาในภูมิภาคนี้คืบหน้าไปมาก

“โครงการวิจัยมากมาย ผลิดอกออกผลมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ เกิดความร่วมมือของภาคการวิจัยและภาคเอกชน หลังจากนี้ นวัตกรรมจะต้องมองในมิติของการตลาดให้มาก ก่อนที่จะเริ่มเดินหน้าวิจัยพัฒนา โดยเฉพาะในอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”

นอกจากนี้ยังต้องมีกลไกการสนับสนุนนวัตกรรมอีกมาก เช่น การปลดล็อกด้านการเงิน การทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์นวัตกรรม การทำทาเลนท์แมทชิ่ง รวมถึงต้องเติมเรื่องของมาตรการจูงใจจากบีโอไอ กองทุนเพิ่มขีดความสามารถ และฟู้ดอินโนโพลิส รวมถึงการผลักดันให้เกิดเมดิโคโพลิส จากศักยภาพทางด้านนวัตกรรมการแพทย์ของภูมิภาคนี้