ชุดตรวจฟอร์มาลิน เทคโนฯจากแล็บสู่ห้าง

ชุดตรวจฟอร์มาลิน  เทคโนฯจากแล็บสู่ห้าง

ชุดตรวจฟอร์มาลินในอาหาร ผลงานวิจัยขานรับโครงการอาหารปลอดภัยจากม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ล่าสุด “ซีพี” ติดต่อขอรับการถ่ายเทคโนโลยี หวังนำไปตรวจสอบคุณภาพพักผลไม้จากซัพพลายเออร์

ชุดตรวจฟอร์มาลินในอาหาร พกพาสะดวก ใช้งานง่ายและราคาถูก ผลงานวิจัยขานรับโครงการอาหารปลอดภัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ล่าสุด “ซีพี” ติดต่อขอรับการถ่ายเทคโนโลยี หวังนำไปตรวจสอบคุณภาพพักผลไม้จากซัพพลายเออร์

ทั้งนี้ การวิเคราะห์ตรวจหาสารปนเปื้อนในอาหารมีความจำเป็น ซึ่งในปัจจุบันมีหลายเทคนิคที่นิยมใช้ แต่พบว่ายังมีข้อจำกัดคือ ต้องใช้ปริมาณของสารตัวอย่างที่ใช้ในการวิเคราะห์ปริมาณมากในบางเทคนิค อุปกรณ์มีราคาสูง ขั้นตอนซับซ้อน จำเป็นต้องมีผู้มีความชำนาญในการใช้เครื่องมือและใช้เวลาในการวิเคราะห์นาน

นักวิจัยจึงได้พัฒนาอุปกรณ์ตรวจที่บุคคลทั่วไปสามารถนำไปใช้ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีความชำนาญ อีกทั้งขนาดของอุปกรณ์นั้นมีขนาดเล็กสามารถพกพาไปใช้ตามสถานที่ต่าง ๆ ได้ง่ายออกมานำเสนอเป็นทางเลือกในการทำให้ผู้บริโภคสามารถคัดสรรอาหารที่มีความปลอดภัยไปบริโภค

แก้ปัญหาด้วยงานวิจัย

รศ.อารีย์ ชูดำ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันมีการนำฟอร์มาลินมาใช้เพื่อการรักษาความสดของอาหารทะเล เนื้อสัตว์ ผักผลไม้ ในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะ จ.ภูเก็ต แหล่งอาหารทะเลและการท่องเที่ยว จึงได้พัฒนาชุดตรวจวัดฟอร์มาลินที่มีประสิทธิภาพขึ้นมาใหม่

ทางทีมนักวิจัยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้จากผลงานวิจัยสำหรับการตรวจปริมาณฟอร์มาลินในอาหารให้กับพื้นที่และชุมชน รวมทั้งนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ ระบบตรวจปริมาณฟอร์มาลินในอาหารภาคสนามราคาประหยัด ให้กับผู้ประกอบการด้านโรงแรม ร้านอาหาร อุตสาหกรรมชุมชนที่เกี่ยวข้องกับอาหารสด อาหารทะเล ผักและผลไม้

ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และประชาชนในจังหวัดภูเก็ต เป้าหมายเพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรม สามารถใช้ระบบตรวจฟอร์มาลินในอาหารภาคสนามราคาประหยัดได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย ทั้งนี้เพราะต้องการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแก่ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว

หลังจากนั้น เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) สนใจติดต่อเข้ามา เพื่อนำวิธีการดังกล่าวไปใช้ตรวจสอบวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์ที่ส่งเข้ามา ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาถึงรูปแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่อไป เนื่องจากมหาวิทยาลัยไม่มีความสามารถที่ผลิตชุดตรวจได้ในจำนวนมาก คงต้องอาศัยโรงงานที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตเป็นผู้ดำเนินการต่อไป

“อนาคตมีความเป็นไปได้ที่ผลิตชุดตรวจวัดฟอร์มาลินออกสู่เชิงพาณิชย์ ตามร้านค้า ร้านสะดวกซื้อเพื่อให้สามารถนำไปใช้ตรวจสอบ อาหารที่ซื้อมาว่ามีการปนเปื้อนฟอร์มาลินหรือไม่ เพื่อได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น”

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพัฒนาชุดตรวจอาหารหลายชนิดมีสารเคมีอันตรายปนเปื้อนอยู่ เช่น ไนไตรท์ และไนเตรท หรือดินประสิว ที่นิยมใช้กันมากในการแปรรูปเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อหมัก เพื่อป้องกันการเน่าเสีย ช่วยให้เนื้อสัตว์มีสีแดง เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้ที่มีปฏิกิริยาตอบสนองไวต่อสารนี้ จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง อุจจาระเป็นเลือด ปวดศีรษะ

ไม่ต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญ

จุดเด่นของชุดตรวจนี้ คือ ขนาดเล็กพกพาสะดวก ใช้งานง่าย ไม่ใช้สารเคมีในรูปของเหลว ปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน มีประสิทธิภาพในการตรวจวัดสูง สามารถใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟน เพื่อระบุปริมาณฟอร์มาลินได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น ใช้ปริมาณตัวอย่างน้อย ผลิตจากแผ่นฟิล์มธรรมชาติเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีอายุการใช้งานนาน

ชุดตรวจดังกล่าวเป็นชุดตรวจแบบวัดสี จะมีฟิล์มบางสีเหลืองอ่อนเคลือบไว้บนฝาหลอดพลาสติกขนาด 1.5 มิลลิเมตร ทำหน้าที่กักน้ำยาเคมีไว้เพื่อทำปฏิกิริยากับฟอร์มาลิน ฟิล์มบางที่เคลือบไว้นั้นสังเคราะห์มาจากแป้งมันสำปะหลัง สารอะซิติอะซิโตน สารแอมโมเนียอะซิติก กรดอะซิติก

การใช้งานโดยการนำตัวอย่างน้ำที่แช่อาหารที่ต้องการทราบปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์ เติมลงในหลอดพลาสติกและเขย่า สารเคมีที่ถูกกักเก็บอยู่ในโครงข่ายพอลิเมอร์ จะออกมาทำปฏิกิริยากับสารฟอร์มาลดีไฮด์ หากมีฟอร์มาลดีไฮด์ปนเปื้อนในระดับที่เป็นอันตราย หรือมากกว่า 2,500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม น้ำที่แช่อาหารจะเกิดเป็นสีเหลืองเข้ม หากไม่มีการปนเปื้อนจะไม่เกิดปฏิกิริยาทางเคมี จะไม่เกิดสีเหลือง หรือมีสีเหลืองออกมาเล็กน้อยแสดงว่า พบ100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม