ส่องโมเดล ‘นครนนท์ 4.0’ ชูจีไอเอสยกระดับสมาร์ทซิตี้
หัวใจของการบริหารจัดการเมืองจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการข้อมูลแบบบูรณาการ ด้วยการนำข้อมูลเชิงพื้นที่ หรือโลเคชั่นมาวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา
“ประเทศไทยอาศัยการบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นตัวกลางสำคัญในการดูแลประชาชน หากแต่ละพื้นที่สามารถเพิ่มศักยภาพการทำงานได้กระชับ รวดเร็วยิ่งขึ้น ก็หมายถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรทั้งประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ”
ธนพร ฐิติสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด แสดงความเห็น พร้อมวิเคราะห์ว่า ประเทศไทยนอกจากการเปลี่ยนแปลงเมืองใหญ่ให้เป็นสมาร์ทซิตี้แล้ว การยกระดับการปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นสมาร์ทซิตี้ หรือ “Smart Local Government (SLG)” เป็นสิ่งที่ต้องผลักดันและให้ความสำคัญเช่นกัน
“หัวใจของการบริหารจัดการเมืองจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการข้อมูลแบบบูรณาการ ด้วยการนำข้อมูลเชิงพื้นที่ หรือโลเคชั่นมาวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา และก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานแผนที่ ภาษี สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม แจ้งเหตุ ประชาสัมพันธ์ สาธารณะ ภัยพิบัติ วางแผนทางด้านอัคคีภัย และสวัสดิการสังคม”
สำหรับตัวอย่างการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมในประเทศไทย อีเออาร์ไอ ได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ หรือ จีไอเอส (Geographic Information System, GIS) ไปช่วยบูรณาการข้อมูลเชิงพื้นที่ วิเคราะห์และตัดสินใจแก้ไขปัญหาประชากร ให้กับเทศบาลนครนนทบุรี ภายใต้ชื่อ “นครนนท์ 4.0” ซึ่งแบ่งโครงการออกเป็น 2 เฟส ขณะนี้ได้ดำเนินการเฟสแรกเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการอบรมเจ้าหน้าที่ เพื่อใช้งานระบบ ควบคู่กับการเริ่มต้นเปิดให้บริการประชาชน ส่วนเฟสที่ 2 จะเริ่มดำเนินการได้ภายในต้นปี 2562 นี้
โครงการดังกล่าวมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจีไอเอสอย่างเป็นระบบ เพื่อบูรณาการวิเคราะห์ข้อมูลและตัดสินใจ ในแผนเฟสแรกได้เปิดแอพพลิเคชั่นเพื่อใช้งานบนสมาร์ทโฟนและแทบเล็ต รองรับงานบริการประชาชน เฟสที่สองเน้นบูรณาการระบบที่ดินและแผนภาษี
สำหรับในรายละเอียดได้นำแพลตฟอร์มชื่อว่า “ArcGIS” ไปใช้เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล และแก้ปัญหาต่างๆ รวมทั้งการให้บริการประชาชนที่รวดเร็ว แม่นยำ ด้วยการระบุพิกัด หรือโลเคชั่นที่ชัดเจนโดยนำไปพัฒนาระบบแผนที่สารสนเทศภูมิศาสตร์ กับงานบริการประชาชน 6 ด้าน ได้แก่ 1.ระบบแจ้งปัญหาเรื่องร้องเรียน ไฟดับ ไฟไหม้ อุบัติเหตุ 2.ระบบงานติดตามโครงการ อาทิ สร้างถนน 3.ระบบสวัสดิการและสังคม เบื้องต้นจะใช้ดูแลและกำหนดสวัสดิการผู้สูงอายุ
4.ระบบสาธารณสุข มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับโรงพยาบาล, อาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) และผู้นำชุมชน ในการดูแลให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยนอนติดเตียง 5.ระบบงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ใช้แจ้งเหตุระบุตำแหน่ง หรือพิกัด พื้นที่ประสบภัย เพลิงไหม้ ตำแหน่งหัวจ่ายนํ้าดับเพลิง โดยประชาชนสามารถใช้สมาร์ทโฟน หรือแทบเล็ต แจ้งเหตุร้องเรียนต่างๆ 6.บริการแอพพลิเคชั่น ซึ่งข้อมูลการแจ้งเหตุร้องเรียน จะถูกส่งต่อข้อมูลมาที่เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์บัญชาการในการกระจายงานและติดตามผ่านจอแสดงผลแดชบอร์ด
เทศบาลนครนนทบุรีมีความต้องการเปลี่ยนข้อมูลทั้งหมด ทั้งข้อมูลบริหารจัดการ และข้อมูลบริการประชาชน ไปสู่ดิจิทัล เพื่อยกระดับไปสู่เมืองสมาร์ทซิตี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือร่วมกันเพื่อเริ่มดำเนินการโครงการระยะ 2 ในแผนจะมีการบูรณาการระบบเข้ากับงานด้านที่ดิน แผนที่ภาษี กิจการนักเรียน การบริหารจัดการสถานศึกษาสังกัดเทศบาล งานด้านบริการประชาชน เช่น ตัดกิ่งไม้ หรือ ซ่อมถนน รวมถึงบริการด้านสาธารณสุข ที่เพิ่มงานด้านสุขาภิบาลเข้าไป เพื่อให้บริการที่ดีขึ้น
“ไม่ว่าจะเป็นเมืองขนาดใหญ่หรือเมืองขนาดเล็ก การจะเป็นสมาร์ทซิตี้ หรือ สมาร์ท โลคอล รัฐบาลต้องมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร ผนวกกับการนำข้อมูลโลเคชั่นและข้อมูลเชิงพื้นที่ที่เป็นประโยชน์ วิเคราะห์อย่างเชื่อมโยงเพื่อช่วยในการตัดสินใจ พัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น สำคัญเกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนในชุมชนและประเทศในภาพรวม”
ที่ผ่านมาในเมืองใหญ่หลายเมืองในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น นครลอสแอนเจลิส พัฒนาสมาร์ทซิตี้ด้วยการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะด้านการอยู่อาศัยของประชากรและการเติบโตของเมือง โดยสร้าง “Los Angeles GeoHub” แพลตฟอร์มสาธารณะสำหรับการบริหารจัดการเมืองด้วยระบบจีไอเอส ผลที่ได้ หลังจากการเปิดใช้งานเพียง 3 เดือน สามารถแก้ปัญหาด้านความปลอดภัยของระบบสาธารณะและสามารถพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น