'สเปซ-เอฟ' โปรเจคปั้นสตาร์ทอัพสายนวัตกรรมอาหาร
เอ็นไอเอ ผนึกไทยยูเนี่ยนฯ มหาวิทยาลัยมหิดล ผุดโปรเจค 'สเปซ-เอฟ' ปั้นฟู้ดเทคสตาร์ทอัพ 60 รายภายใน 3 ปี ไทยยูเนี่ยนฯประเดิมทุ่ม 50 ล้านบาทสร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจยั่งยืน
นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า จากประสบการณ์ในการสร้างอีโคซิสเต็มให้กับสตาร์ทอัพมา 3 ปี พบว่า ประเทศไทยยังขาดดีพเทค สตาร์ทอัพด้านฟู้ดเทค ทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกอาหารรายใหญ่ระดับโลก ที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปีและเป็นประเทศที่ติดอันดับ1ใน5 ที่ส่งออกผลผลิตทางการเกษตร อาทิ ข้าว มัน กุ้ง แต่กลับไม่มีสตาร์ทอัพด้านอาหาร เมื่อเทียบกับฟินเทคและเฮลธ์เทค
ฉะนั้น จึงเป็นเป็นความท้าทายในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสตาร์ทอัพของไทยในเฟส 2 นี้ด้วยการมุ่งเป้ามาสู่กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่ประเทศไทยมีศักยภาพโดยเปลี่ยนการแข่งขันจากรูปแบบเดิมๆ มาเป็นการแข่งขันด้วยไอเดียและความแตกต่าง ซึ่งการผลักดันกระบวนการเหล่านี้ถือเป็นเครื่องมือที่จะช่วยยกระดับให้อุตสาหกรรมอาหารไทยมีศักยภาพและความยั่งยืนมากขึ้น ด้วยสตาร์ทอัพที่เป็นดีพเทคทางด้านอาหารภายใต้“โครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหาร(Foodtech Incubator&Accelerator Program; FIAP)”ภายใต้ชื่อ “SPACE-F”
ทั้งนี้ เพื่อบ่มเพาะและพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นด้านธุรกิจนวัตกรรมอาหาร (FoodTech Startup) ตลอดจนเร่งรัดการเติบโตทางธุรกิจสู่ตลาดเอเชีย รวมทั้งยังเป็นแพลตฟอร์มกลางที่ช่วยเชื่อมโยงวิสาหกิจเริ่มต้นด้านธุรกิจนวัตกรรมอาหารเข้ากับผู้เล่นที่สำคัญในระบบนิเวศ เช่น องค์กรภาครัฐ บริษัทขนาดใหญ่ นักลงทุน และ สถาบันการศึกษา โดยร่วมกับบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อคัดเลือกสตาร์ทอัพที่มีสินค้าหรือบริการอยู่แล้วที่เรียกว่า Accelerator เข้ามาร่วมในโครงการ
ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการอบรมแบบเข้มข้นจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใน 3 เดือน รวมทั้งกลุ่ม Incubator ที่เป็นนิสิต นักศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์อาหาร เข้ามาร่วมประกวด ซึ่งรายละเอียดจะประกาศในเดือนพ.ค.นี้ ในอนาคตจะขยายความร่วมมือไปยังกลุ่มบริษัทผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่อื่นๆ เข้ามาเสริมในโครงการรวมทั้งมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อให้เกิดเครือข่ายที่เข้มแข็ง
โดยเน้นใน 9 ด้าน ได้แก่ 1. อาหารเพื่อสุขภาพ 2. โปรตีนทางเลือก 3. กระบวนการผลิตอาหารอัจฉริยะ 4. บรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต 5. ส่วนผสมและอาหารใหม่ 6.วัสดุชีวภาพและสารเคมี 7. เทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านอาหาร 8. การตรวจสอบควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร และ9. บริการอัจฉริยะด้านอาหาร
นายธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรม กลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นทิศทางใหม่ในการลงทุนของกลุ่มไทยยูเนี่ยน จากเดิมที่ลงทุนซื้อบริษัทหรือโรงงานเปลี่ยนมาเป็นการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีที่สามารถนำไปต่อยอดกับธุรกิจ โดยใช้งบประมาณลงทุน50 ล้านบาภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งหากได้ดีพเทค ด้านฟู้ดเทคเข้ามาเพียงแค่รายเดียวคือว่าคุ้มค่าในการลงทุน ทั้งนี้เนื่องจากการทำดีพเทคถือเป็นเรื่องยากที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้ามาผสมผสานกับองค์ความรู้ที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมเพื่อสร้างธุรกิจ ลูกค้า รายได้ใหม่เข้ามา
"ไม่มีใครที่สามรถทำทุกอย่างได้เองทั้งหมดเราจำเป็นต้องหาผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีเข้ามาสร้างความยั่งบืนให้กับธุกิจแทนที่จะแข่งขันเรื่องราคาเหมือนในอดีต"
ไทยยูเนี่ยนในฐานะบริษัทผู้ประกอบการด้านอาหารทะเลระดับโลก นอกจากเราจะมุ่งมั่นกับการพัฒนาบุคลากรแล้ว เรายังให้ความสำคัญด้านนวัตกรรมควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะเราเชื่อว่านี่คือพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างอนาคตของอุตสาหกรรมอาหารทะเล และยังเป็นความแข็งแกร่งของบริษัทในการเดินหน้าสู่ความสำเร็จบนเวทีธุรกิจอาหารโลก เมื่อสี่ปีที่แล้วไทยยูเนี่ยนได้ริเริ่มความร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยนขึ้นที่ประเทศไทยเพื่อเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาทั้งในแง่เทคโนโลยี การผลิตและผลิตภัณฑ์ของบริษัทในเครือทั่วโลก วันนี้เรามีความยินดีที่ได้สนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นด้านธุรกิจนวัตกรรมอาหาร ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า SPACE-F จะเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
ขณะที่ รศ.ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า Tech-based startup ทั้งหลายล้วนเกิดจากนวัตกรรมที่มาจากงานวิจัย โดยแนวคิดนี้เริ่มเป็นที่คุ้นเคยของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ซึ่ง Ecosystem ของสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูงนั้นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมจากการวิจัย ดังนั้นคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง SPACE-F เพื่อสร้าง FoodTech startup ผลักดันการสร้างนวัตกรรม และพัฒนาบัณฑิตที่สนใจให้เป็น Enterpreneur ในอนาคต โดยคณะวิทยาศาสตร์จะสนับสนุน Ecosystem ในการทำงานวิจัยอันได้แก่ สถานที่ ห้องปฏิบัติการงานวิจัย นักวิจัย องค์ความรู้ ตลอดจนผลงานวิจัยที่มีอยู่ คณะวิทยาศาสตร์หวังว่าการร่วมมือกันของพันธมิตรทั้งสามฝ่ายจะเพิ่มอัตราความสำเร็จของ Startup เหล่านี้ จนกระทั่งสามารถสร้าง Impact ต่อเศรษฐกิจในระดับประเทศไทยและระดับโลกต่อไป
SPACE-F ตั้งอยู่ในทำเลกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ที่สะดวกต่อการเดินทางทั้งจากสนามบินและการเดินทางเชื่อมต่อไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่อยู่โดยรอบ เช่น กระทรวง โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัย/ทดสอบ ฯลฯ จะส่งเสริมให้ SPACE-F เป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมและธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยภายใต้พื้นที่อำนวยความสะดวกกว่า 1,000 ตารางเมตร ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้ถูกจัดสรรให้เป็นพื้นที่สำหรับทำงานร่วมกัน สำนักงานชั่วคราว ห้องประชุม และห้องปฏิบัติการสำหรับการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมอาหาร จะมีการจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตามความจำเป็นและความต้องการของสตาร์ทอัพที่จะเข้ามาใช้บริการพื้นที่ รวมทั้งหลักสูตร บุคลากร และการสนับสนุนทรัพยากรด้านการเงินก็จะถูกรวบรวมไว้ที่นี่อย่างครบครัน