'สเปรย์เรืองแสง' พิสูจน์คราบวัตถุพยาน

'สเปรย์เรืองแสง' พิสูจน์คราบวัตถุพยาน

นักวิจัย ม.อ. หาดใหญ่อวดโฉมชุดน้ำยาเรืองแสงและอุปกรณ์ใช้สืบสวนแบบพกพา เพิ่มความสะดวกรวดเร็วสำหรับการปฏิบัติภารกิจภาคสนาม ล่าสุดคว้ารางวัลสภาวิจัยแห่งชาติระดับดีในงานวันนักประดิษฐ์ประจำปี 2562

นักวิจัย ม.อ. หาดใหญ่อวดโฉมชุดน้ำยาเรืองแสงและอุปกรณ์ใช้สืบสวนแบบพกพา เพิ่มความสะดวกรวดเร็วสำหรับการปฏิบัติภารกิจภาคสนาม ล่าสุดคว้ารางวัลสภาวิจัยแห่งชาติระดับดีในงานวันนักประดิษฐ์ประจำปี 2562

โจทย์วิจัยมาจากศูนย์พิสูจน์หลักฐานทางภาคใต้ ที่มีเหตุระเบิดบ่อยครั้ง ปัญหาคือไม่รู้ว่าจะเก็บดีเอ็นเออย่างไรให้มีคุณภาพ จากปัจจุบันใช้วิธีการสุ่มเก็บ ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องจินตนาการว่า คนร้ายน่าจะสัมผัสตรงไหน และผลดีเอ็นเอที่ได้มาคุณภาพไม่ดี มีแค่ 10-20% จากตัวอย่างที่เก็บมาทั้งหมดที่สามารถใช้ได้ ส่งผลให้เกิดการยกฟ้องในชั้นศาล เพราะหลักฐานอ่อน

สเปรย์พิสูจน์คราบดีเอ็นเอ

เปรมกมล ต้นครองจันทร์ และกิตติรัตน์ ภู่พลับ ผู้ช่วยวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ ได้รับโจทย์วิจัยจากศูนย์พิสูจน์หลักฐานทางภาคใต้ ที่มีต้องการสารหรือนวัตกรรมที่ช่วยให้มองเห็นดีเอ็นเอของคนร้ายในสถานที่เกิดเหตุว่า มีอยู่ในตำแหน่งใดบ้าง

ประกอบกับผลงานวิจัยที่มีอยู่ในภาควิชาเคมี เป็นการพัฒนาสารเรืองแสงที่มีคุณสมบัติสามารถจับกับดีเอ็นเอ แล้วให้การเรืองแสงขึ้น โดยใช้เวลา 2 ปีพัฒนาสูตร ส่วนที่สองจะเป็นการพัฒนาแหล่งกำเนิดแสงทางเลือก ที่ต้องใช้คู่กัน จากเดิมสารเรืองแสงที่พัฒนาขึ้นมาต้องใช้กับอุปกรณ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาหลักล้านบาทและจำกัดการใช้งานภายในห้องมืดเท่านั้น ทางอาจารย์จากภาควิชาฟิสิกส์จึงได้พัฒนาอุปกรณ์ขึ้นมาเพื่อให้สามารถนำมาฉายในที่แจ้งได้ มีขนาดเล็ก ไม่จำเป็นต้องใช้ห้องมืดและมีราคาถูก

น้ำยาเรืองแสงที่พัฒนาขึ้นมานั้น สามารถตรวจระบุตำแหน่งของวัตถุพยานชีวภาพทั้งจากคราบเลือด น้ำลาย อสุจิและดีเอ็นเอที่เกิดจากการสัมผัสได้ทั้งในห้องปฏิบัติการและภาคสนาม จากเดิมน้ำยาดังกล่าวใช้ตรวจปริมาณดีเอ็นเอในห้องแล็บระดับโมเลกุล ต้องใช้ในปริมาณน้อยและมีเครื่องเฉพาะ แต่ยังไม่เคยมีใครนำมาทดลองใช้ในสเกลที่ใหญ่ขึ้นในรูปแบบของสเปรย์ที่สามารถตรวจวิเคราะห์และเห็นได้ด้วยตาเปล่า

สารดังกล่าวไม่เป็นพิษต่อผู้ใช้ โดยนำมาพัฒนาสูตรใหม่ให้เห็นการเรืองแสงได้ และที่สำคัญต้องไม่รบกวนหรือสร้างความเสียหายให้ดีเอ็นเอที่นำไปใช้เป็นหลักฐานพยานในชั้นศาล ล่าสุดผลงานวิจัยนี้อยู่ระหว่างนำไปทดลองใช้ที่ศูนย์พิสูจน์หลักฐานสงขลา 9, ยะลา10

"เหตุผลที่ต้องเป็นสเปรย์เพราะดีเอ็นเอมีจำนวนน้อยและเปราะบางมาก ถ้าใช้วิธีการป้ายก็จะเกิดการปนเปื้อนวัสดุที่ป้าย ดังนั้น รูปแบบสเปรย์จึงเหมาะสมที่สุด แถมยังไม่ต้องอาศัยประสบการณ์ในการสุ่มเก็บ เพียงแค่ฉีดสเปรย์ก็จะพบว่า ตรงไหนที่เรืองแสงก็เก็บดีเอ็นเอตรงนั้นได้ทันที”

นวัตกรรมแบบ 2 อิน1

กิตติรัตน์ กล่าวว่า โจทย์หลักในการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจสอบสารเรืองแสงคือ จะต้องพกพาไปตรวจสอบได้ในทุกพื้นที่ มีขนาดเล็ก น้ำหลักเบา ราคาถูกและต้องมีแหล่งกำเนิดแสงที่เข้ากับน้ำยาเรืองแสงที่พัฒนาขึ้น

เริ่มแรกพัฒนาเป็นกระบอกไฟฉายแต่เมื่อนำไปเสนอกับผู้ใช้งานจริง พบว่ามีความต้องการให้มีขนาดเล็กลงอีก และเพิ่มทั้งตัวกรองและแหล่งกำเนิดแสงในตัว เพราะการใช้งานตัวเรืองแสงจำเป็นต้องมีแหล่งกำเนิดแสงทำหน้าที่กระตุ้นให้วัตถุพยานสามารถเรืองแสงก่อน จากนั้นจะมีฟิวเตอร์หรือตัวกรองแสงที่จะกระตุ้นเพื่อให้เห็นแสงที่มาจากการเรืองแสงเท่านั้น

ทีมงานจึงพัฒนาอุปกรณ์ให้มีขนาดเล็ก มีตัวกรองอยู่ตรงกลาง มีแหล่งกำเนิดแสงเป็นวงรอบๆ ลักษณะเป็นทูอินวัน ทำให้การใช้งานง่ายขึ้นในราคาที่ถูกลง ทำให้สามารถกระจายการใช้งานให้กับเจ้าหน้าที่ได้จำนวนมากขึ้น เกิดความสะดวกรวดเร็วในการทำงานมากขึ้น

“อุปกรณ์ที่ใช้ตรวจสอบดีเอ็นเอนั้น จากเดิมต้องนำเข้า 1 ล้านบาท แต่ผลงานชิ้นนี้สามารถผลิตออกมาใช้งานได้ในราคา 2,000 บาทและใช้งานได้สะดวกรวดเร็วกว่าแบบเดิมที่มีขนาดใหญ่และต้องใช้ในห้องมืดเท่านั้น ส่วนตัวสเปรย์เรืองแรงถือเป็นนวัตกรรมที่ยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน และขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองใช้งาน”

ความท้าทายต่อไปของงานวิจัยนี้ คือ การพัฒนาสเปรย์สำหรับใช้ในพื้นที่มีสีเขียว เพื่อให้เห็นคราบดีเอ็นเอ เป็นข้อจำกัด ที่ยังไม่มีใครสามารถทำได้ รวมทั้งในวัสดุโปร่งใสและโปร่งแสง ซึ่งเป็นปัญหาทางทฤษฎี ส่วนอุปกรณ์อาจจะต้องปรับความยาวของคลื่นแสงใหม่