‘ซีดีจี’ ปักธงดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น

‘ซีดีจี’ ปักธงดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น

บริษัทวิจัยไอดีซีคาดการณ์ไว้ว่าใน 2-3 ปี จากนี้ ประเทศไทยจะมีเงินหมุนเวียนในตลาดไอที สูงถึง 4.7 แสนล้านบาท เป็นผลมาจากการเดินหน้า “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น” ขององค์กรทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

นาถ ลิ่วเจริญ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทซีดีจี กล่าวว่า บริการคลาวด์ (Cloud Service) ยังคงเป็นส่วนที่ได้รับความสนใจ และมีการคาดการณ์ว่าจะทำรายได้ให้ตลาดไอทีได้สูงกว่า 4.8 หมื่นล้านบาท ทั้งตัวเลขจากงานวิจัยของไอดีซียังระบุว่า ภายในปี 2563 มากกว่า 20% ขององค์กรจะปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กรให้เป็นดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ เพื่อเสริมศักยภาพและพร้อมแข่งขันในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

จากการคาดการณ์ของการ์ทเนอร์ Gartner Top 10 Strategic Technology Trends for 2019 เทรนด์เทคโนโลยีที่น่าจับตามองและมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อภาคธุรกิจหลักๆ คือบล็อกเชน, ปัญญาประดิษฐ์( เอไอ), เออาร์และวีอาร์ และความไม่ปลอดภัยหรือการรั่วไหลของข้อมูลจากการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ไอโอที(Global Internetof Things security breach)

ไอทีขับเคลื่อนความสำเร็จ

เขากล่าวว่า จากนี้มีโอกาสที่บล็อกเชนจะถูกนำมาปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรมสำหรับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เพื่อเสริมประสิทธิภาพ ความถูกต้องแม่นยำของข้อมูล และความปลอดภัยในการเข้าถึงระบบ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่เสริมการทำงานร่วมกันระหว่างแผนก หน่วยงาน และองค์กร เช่น เอกสารสำคัญ โฉนดที่ดิน และการดำเนินธุรกรรมต่างๆ

เอไอที่ยังคงเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ การเกษตร และทางการแพทย์ หากจะมองให้แคบลงอีก สิ่งที่จะเห็นได้ชัดเจนในปีนี้คือ การนำแมชีนเลิร์นนิงและเอไอมาใช้สร้างแพลตฟอร์มทางธุรกิจ มีส่วนขับเคลื่อนการกระบวนการทำงาน หรือแม้แต่การนำแชทบอท(Chatbot)เข้ามาใช้โต้ตอบกับลูกค้าเพื่อการบริการ 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้แชทบอท ยังถูกนำมาใช้ในองค์กร เพื่อลดจำนวนงานและขั้นตอนการทำงานให้กระชับ คาดว่าปลายปี 2562 กว่า 40% ของธุรกิจขนาดใหญ่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานภายในองค์กรด้วยการนำแชทบอทมาประยุกต์ใช้

ด้านเออาร์และวีอาร์ แม้ปีที่ผ่านมากระแสของวีอาร์จะไม่แรงเท่าเออาร์ ทว่าทั่วโลกเริ่มตื่นตัวอย่างมาก ทั้งเห็นความพยายามในการนำเสนอต้นทุนอุปกรณ์ที่ต่ำลงเพื่อให้เข้าถึงคนทั่วไปได้อย่างแพร่หลายมากขึ้น ขณะเดียวกันเทคโนโลยี Mixed Reality (MR) ซึ่งเป็นส่วนผสมของทั้งสองเทคโนโลยีได้รับความสนใจมากขึ้นจากกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์

ด้วยเทรนด์ดังกล่าว แนวโน้มของการเกิดความไม่ปลอดภัยหรือการรั่วไหลของข้อมูลจากการเชื่อมต่อของอุปกรณ์มีโอกาสขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจากการพัฒนาและนำมาใช้อย่างแพร่หลายของอุปกรณ์ไอโอที ซึ่งผู้เชี่ยวชาญการ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าจากนี้จนถึงปี 2563 จะมีการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ต่างๆ ทั่วโลกถึง 20.4 ล้านชิ้น จึงเกิดกระแสการตื่นตัวจากผู้ผลิตชิ้นส่วนไอโอทีที่เริ่มมองหาการรักษาความปลอดภัยสำหรับอุปกรณ์ที่รัดกุมขึ้น

ชู 3 เรือธงดันรายได้โต10%

สำหรับกลยุทธ์ของบริษัท จะย้ำจุดยืนความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีด้วยโมเดลธุรกิจรูปแบบผู้ติดตั้งระบบ(เอสไอ) ชู 3 โซลูชั่นเด่นเป็นเรือธงประกอบด้วย บิ๊กดาต้าและดาต้าอนาไซติกส์ อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที) และ ไพรเวซี่รวมถึงซิเคียวริตี้ พร้อมนำจุดแข็งด้านประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการทำงานสนับสนุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ก้าวสู่ความเป็นสมาร์ทกอร์ฟเวิร์นเมนท์ให้การสนับสนุนในด้าน e-citizen service solutions เพื่อการบริการประชาชนที่ดีขึ้น

“ตลาดไอทีไทยมีแนวโน้มเป็นบวก ขณะเดียวกันโอกาสทางการตลาดมีอยู่สูงมาก เช่น บิ๊กดาต้าและดาต้าอนาไซติกส์ ขณะนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนข้อมูลจำนวนมหาศาลยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ ขณะที่ข้อมูลเหล่านั้นคือโอกาสที่สามารถนำมาจัดการและรวบรวมให้เป็นหมวดหมู่ ง่ายต่อการวิเคราะห์เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป”

นอกจากนี้ เทรนด์ในการพัฒนาเมืองของภาครัฐสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ(Smart city) จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีใหม่อย่างไอโอทีในการบูรณาการเข้ากับระบบ เสริมด้วยงาน e-citizen services เพื่อการบริการประชาชนที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แน่นอนว่า เมื่อข้อมูลกลายเป็นหัวใจของการทำงาน การรักษาความปลอดภัยข้อมูลรวมถึงข้อมูลส่วนบุคคล รวมไปถึงการจัดการระบบการเข้าถึงข้อมูลและการปกป้องข้อมูล จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกหน่วยงาน

บริษัทตั้งเป้าไว้ว่า ปี 2562 นี้จะสามารถเติบโตได้ไม่น้อยกว่า 10% จากปีที่ผ่านมา โดยสัดส่วนรายได้หลักๆ ยังมาจากภาครัฐกว่า 90%