ศึกแอพเรียกรถโดยสารระอุ คนกรุงมองหาตัวเลือก ‘ถูก เร็ว ดี’

ศึกแอพเรียกรถโดยสารระอุ คนกรุงมองหาตัวเลือก ‘ถูก เร็ว ดี’

สิ่งที่หวังให้มีการเปลี่ยนแปลงคือ แก้ปัญหาจราจรติดขัด ปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุม เพิ่มจำนวนรถสาธารณะให้เพียงพอ ปรับปรุงมารยาทการให้บริการของพนักงาน ปรับปรุงเรื่องการปฏิเสธลูกค้า

สถาบันวิจัยและบริการวิชาการมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพล) ร่วมกับ “เก็ท” แอพพลิเคชั่นเรียกรถมอเตอร์ไซค์วิน รับส่งพัสดุและส่งอาหาร เผยผลวิจัยเชิงสำรวจความคิดเห็น พฤติกรรม และความพึงพอใจ ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่กทม.จำนวน 1,234 คน และคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือ “วิน” จำนวน 605 คน โดยระบุว่า

ผู้โดยสารและคนขับส่วนใหญ่ยังไม่เคยลองใช้แอพพลิเคชั่นเรียกรถจักรยานยนต์ ทว่ายังเปิดรับทางเลือกใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขามีตัวเลือก มีการแข่งขันในตลาด ทำให้มีการปรับราคาและบริการให้ดีขึ้น รวมถึงป้องกันการผูกขาดตลาด

เบื่อรถติด-ปฏิเสธผู้โดยสาร

ผลสำรวจระบุว่า คนกรุงส่วนใหญ่หรือกว่า 79% เคยใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างในการเดินทาง โดยกลุ่มผู้หญิงจะใช้บริการมากกว่าผู้ชาย กลุ่มอายุน้อยจะใช้บริการมากกว่ากลุ่มอายุมาก เมื่อสอบถามเพิ่มเติมในกลุ่มผู้ที่เคยใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างพบว่า 68% มีความถี่ในการใช้บริการมากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และมีถึง 23% ที่ใช้บริการประจำเกือบทุกวัน 

ด้านปัญหาในการเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่พบเจอมากที่สุดคือ ต้องรอคิวนานในชั่วโมงเร่งด่วน ทั้งยังพบปัญหาไม่มีวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างอยู่ในบริเวณใกล้เคียง มีการปฏิเสธผู้โดยสาร และไม่มีมอเตอร์ไซค์รับจ้างให้บริการในช่วงเช้ามืดหรือในช่วงดึก

ดังนั้นคนกรุงส่วนใหญ่ยังต้องการให้มีการปรับปรุงการให้บริการในส่วนของความปลอดภัยในการขับขี่ มารยาทในการขับขี่ และการคิดราคาค่าบริการที่ไม่มีมาตรฐาน

อย่างไรก็ดี ในยุค 4.0 ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ จากการสำรวจพบว่า คนกรุงมากถึง 72% รับรู้ว่ามีการให้บริการแอพพลิเคชั่นเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แต่ถึงแม้ว่าผู้คนส่วนใหญ่จะรับรู้ว่ามีการให้บริการอยู่แล้ว ทว่ากลับมีคนกรุงจำนวนมากถึง 65% ที่ยังไม่เคยได้ทดลองใช้บริการ

ปัจจุบัน คนกรุง 63% เดินทางด้วยรถเมล์, 43% วินมอเตอร์ไซค์, 37% รถไฟฟ้า ใต้ดิน, 32% รถยนต์, และ 26% แท็กซี่ จากทั้งหมด 90% ใช้บริการรถรับจ้าง ไม่ว่าจะเป็นวิน แท็กซี่ สองแถว เพื่อเดินทางไปยังระบบขนส่งสาธารณะเป็นประจำทุกวัน

สำหรับสิ่งที่หวังให้มีการเปลี่ยนแปลง 89% แก้ปัญหาจราจรติดขัด 46% ปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุม 44% เพิ่มจำนวนรถสาธารณะให้เพียงพอ 36% ปรับปรุงมารยาทการให้บริการของพนักงาน 23% ปรับปรุงเรื่องการปฏิเสธลูกค้า

ขอราคามาตรฐาน ดี เร็ว

ผลสำรวจพบว่า หากมีแอพพลิเคชั่นใหม่ให้บริการในตลาด คนกรุงมากถึง 65% ก็พร้อมที่จะทดลองใช้งาน โดยส่วนใหญ่เห็นว่าการมีตัวเลือกบริการแอพพลิเคชั่นจำนวนมากในตลาดจะส่งผลดี เนื่องจากทำให้มีทางเลือกมากขึ้น มีการแข่งขันด้านราคา โปรโมชั่น และมีการแข่งขันด้านบริการ

โดยเหตุผลหลักที่จะทำให้คนกรุงตัดสินใจเลือกใช้บริการแอพพลิเคชั่นใดแอพพลิเคชั่นหนึ่งนั้น จะมาจากเรื่องของราคาค่าบริการ ความรวดเร็วในการให้บริการ แอพพลิเคชั่นใช้งานง่าย และอื่นๆ ประกอบกันเช่น มีประกันอุบัติเหตุและประกันของสูญหาย พนักงานบริการดีสุภาพ

ในส่วนของวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างนั้น จากการสำรวจพบว่าเกือบทั้งหมดคือ 96% รับรู้ว่ามีการให้บริการเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้างผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ แต่มีเพียง 15% เท่านั้นที่สมัครเข้าร่วมให้บริการกับแอพพลิเคชั่น โดยเหตุผลหลักที่ไม่สมัครเข้าร่วมเพราะไม่มีอะไรดึงดูดใจให้ต้องสมัคร ใช้งานแอพพลิเคชั่นไม่เป็น และขี่วินมอเตอร์ไซค์ทั่วไปก็ดีอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม วินมอเตอร์ไซค์ส่วนหนึ่งเห็นว่าการที่มีจำนวนแอพพลิเคชั่นเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลดีโดยทำให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างมีทางเลือกในการสมัครเข้าร่วมให้บริการกับแอพพลิเคชั่นต่างๆ ไม่เกิดการผูกขาดในตลาด ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นเกิดการแข่งขันกันเพื่อผู้สมัครเข้าร่วมมีรายได้และสิทธิประโยชน์มากขึ้น รวมถึงการช่วยกันโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักและหันมาใช้บริการมากขึ้น

ส่วนเหตุผลที่จะทำให้วินมอเตอร์ไซค์ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมให้บริการกับแอพพลิเคชั่นใดแอพพลิเคชั่นหนึ่งนั้น จะมาจากเรื่องของการมีรายได้ค่าตอบแทนที่ดี มีความน่าเชื่อถือ มีประกันชีวิตประกันอุบัติเหตุ และด้านอื่นๆ เช่น มีการให้โบนัสหรือสิทธิประโยชน์พิเศษ มีการดูแลพนักงานที่สมัครเข้าร่วม

‘เก็ท’ใส่เกียร์ลุยทั่วกทม.

ภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริการและผู้ร่วมก่อตั้ง เก็ท กล่าวว่า บริษัทได้ทำการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าคนกรุง ทั้งผู้บริโภค และคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างต้องการอะไร เพื่อให้เราสามารถตอบโจทย์ของพวกเขาได้ การเข้ามาของเก็ทจะมีส่วนสำคัญช่วยขยายทั้งดีมานด์และซัพพลาย์ให้ตลาด ส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรี ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งผู้บริโภคและคนขับ

บริษัทพบว่าการใช้งานแอพพลิเคชั่นเรียกรถมอเตอร์ไซค์ในกรุงเทพฯ เติบโตอย่างต่อเนื่องแต่ยังไม่รวดเร็วและครอบคลุม จากที่ได้เปิดตัวแบบเบต้าไปเมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมาพบว่าคนขับวินถูกกฎหมายต่างสนใจเข้าร่วมกับแอพที่เข้าใจพวกเขา

ปัจจุบันเก็ทให้บริการอยู่ในพื้นที่ 29 เขตในกรุงเทพฯ หลังจากนี้มีแผนขยายพื้นทีให้บริการต่อเนื่อง และเตรียมเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบในเร็วๆ นี้ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้โดยสารและคนขับ ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นและทดลองใช้งานได้ทั้งบนไอโอเอสและแอนดรอยด์