‘วีเอ็มแวร์’ โหมกลยุทธ์ ‘คลาวด์’ ติดปีกธุรกิจยุคปฏิวัติดิจิทัล
ดัชนีการใช้ “คลาวด์” ภายในธุรกิจองค์กรเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทุกวันนี้คลาวด์กลายเป็นเทคโนโลยีหลักของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไอที ทำหน้าที่ตัวจักรสำคัญที่ช่วยเพิ่มความคล่องตัว พัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน ทั้งเป็นสะพานเชื่อมโยงนวัตกรรมปูทางสร้างความสำเร็จในระยะยาว...
แพท เกลซิงเกอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ) วีเอ็มแวร์ ขึ้นเวทีกล่าวคีย์โน้ตในงาน “VMware CIO Forum 2019” ที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อเร็วๆ นี้ว่า 4 เทคโนโลยีหลักที่จะมีอิทธิพลอย่างรุนแรงต่อการทรานส์ฟอร์มธุรกิจยุคดิจิทัลประกอบด้วย คลาวด์, โมบาย, ปัญญาประดิษฐ์(เอไอ)และแมชชีนเลิร์นนิง(เอ็มแอล), เอจและอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที)
ในฐานะผู้ให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล วีเอ็มแวร์ตระหนักถึงความสำคัญของเมกะเทรนด์ดังกล่าว และได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า จะนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ครบวงจร ตอบโจทย์การใช้งานในทุกดีไวซ์ ทุกแอพพลิเคชั่น บนคลาวด์ทุกรูปแบบ
วีเอ็มแวร์ให้ความสำคัญกับทั้งไฮบริดคลาวด์ มัลติคลาวด์ แอพพลิเคชั่นยุคใหม่ การทรานส์ฟอร์มเครือข่ายและซิเคียวริตี้ รวมถึงการเสริมศักยภาพให้ดิจิทัลเวิร์คสเปซ
ด้านจุดต่างบริการ โครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ของวีเอ็มแวร์จะมาพร้อมความสามารถในการบริหารจัดการ ทำงานได้แบบอัตโนมัติ มีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามการใช้งานจริง และล่าสุดเพิ่มความสำคัญด้านการรักษาความปลอดภัยมากขึ้น ปัจจุบันมีพันธมิตรผู้ให้บริการคลาวด์ทั่วโลกกว่า 4 พันราย รวมไปถึงยักษ์เทคโนโลยีอย่างไอบีเอ็ม ไมโครซอฟท์ และอะเมซอนเว็บเซอร์วิส(เอดับบลิวเอส)
ผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ซีไอโอ) ในเอเชียแปซิฟิกประจำปี 2562 โดยการ์ทเนอร์ ระบุว่า การพลิกโฉมธุรกิจสู่รูปแบบดิจิทัลได้เพิ่มสูงขึ้นจนถึงจุดพลิกผัน 47% รายงานว่า องค์กรของตนได้ปรับเปลี่ยนหรืออยู่ระหว่างปรับรูปแบบธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อแนวโน้มการเติบโต
ขณะที่ 31% กำลังยกระดับความพยายามในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของภูมิภาค ตัวเลขที่น่าสนใจเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนจะแตะระดับ 5.1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2568 เพิ่มขึ้นจากสองแสนล้านดอลลาร์ในปี 2561 ทว่ายังมีอุปสรรคที่ฉุดรั้งคือ ขาดความคล่องตัวในการดำเนินงาน องค์ยังเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ช้า
ทรานส์ฟอร์ม'ธุรกิจอาเซียน'
ซันเจย์ เค. เดชมุคห์ รองประธานและกรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลี วีเอ็มแวร์ แสดงความเห็นว่า องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องเร่งดำเนินการปฏิรูปองค์กรเพื่อก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ภายใต้โจทย์สำคัญคือ “จะสามารถกระตุ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมและขยายธุรกิจให้เติบโตในช่วงทศวรรษหน้าได้อย่างไร”
บทบาทของวีเอ็มแวร์มุ่งเข้าไปช่วยลูกค้าทรานส์ฟอร์มธุรกิจ วางตำแหน่งเป็นพันธมิตรที่จะช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เน้นการนำเสนอนวัตกรรมในส่วนที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีคลาวด์ โมบิลิตี้ และการรักษาความปลอดภัย
เขากล่าวว่า ทุกวันนี้ไซเบอร์ซิเคียวริตี้มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นต่อความสำเร็จของโครงการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล วีเอ็มแวร์จึงได้นำเสนอแนวทางใหม่ด้านการรักษาความปลอดภัย โดยมุ่งเน้นด้านแอพพลิเคชั่นมากกว่าโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อลดช่องทางการโจมตี และทำให้ระบบรักษาความปลอดภัยรวมอยู่ภายในองค์กร ครอบคลุมตั้งแต่อุปกรณ์ปลายทางจนถึงระบบคลาวด์
พร้อมกันนี้ ช่วยลูกค้าพัฒนากลยุทธ์ “ดิจิทัล เวิร์คสเปซ” รองรับความต้องการธุรกิจยุคใหม่ที่กำลังพัฒนาไปสู่สภาพแวดล้อมแบบมัลติคลาวด์ รูปแบบการทำงานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ใช้พีซีไปสู่การใช้ทรัพยากรและแอพพลิเคชันบนคลาวด์หลายๆ ระบบ ซึ่งส่งผลทำให้ต้องพัฒนาขีดความสามารถให้ระบบสามารถบริหารจัดการ ใช้งานฟีเจอร์ และได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากพื้นที่ทำงานดิจิทัลบนแพลตฟอร์มต่างๆ
“หน้าที่ของเราคือสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เปิดมุมมองให้ลูกค้าเห็นถึงข้อมูลเชิงลึกภายในอุตสาหกรรม พร้อมๆ ไปกับให้คำแนะนำด้านกลยุทธ์การลงทุนไอที ยกระดับบุคลากร เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างความสำเร็จตามโจทย์ธุรกิจที่วางไว้”
หนุนไทย'โตแกร่งบนดิจิทัล'
เอกภาวิน สุขอนันต์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย วีเอ็มแวร์ กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจในประเทศไทยมุ่งทำตลาดไฮบริดคลาวด์ มัลติคลาวด์ รวมถึงเวอร์ชวลไลเซชั่น โดยจะเพิ่มความสามารถในการบริหารจัดการ รวมถึงด้านซิเคียวริตี้เพื่อทำให้การรักษาความปลอดภัยมีประสิทธิภาพสูงตั้งแต่ระดับโครงสร้างพื้นฐาน
“เป้าหมายของเราต้องการเป็นพันธมิตรที่ดีที่สุดในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นของลูกค้า ไม่ใช่แค่การพัฒนาติดตั้งซอฟต์แวร์ แต่รวมไปถึงร่วมวางกลยุทธ์การลงทุนไอทีและทรานส์ฟอร์มธุรกิจ จากเดิมที่การทำตลาดเน้นเพียงขายผลิตภัณฑ์เป็นตัวๆ จากนี้จะหันมานำเสนอในภาพรวมทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น”
นอกจากนี้ จะได้เห็นความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ มากขึ้น ไฮไลต์เช่น ความร่วมมือกับเอดับบลิวเอส ส่วนความร่วมมือกับไมโครซอฟท์ที่เพิ่งประกาศไปในระดับท้องถิ่นยังต้องรอความชัดเจนและจะประกาศให้ทราบอีกครั้ง
สำหรับโมเดลการทำตลาดยังคงผ่านพันธมิตรทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ ปีนี้จึงเตรียมเพิ่มความสามารถให้กับพันธมิตรผู้ให้บริการคลาวด์ พร้อมเพิ่มพันธมิตรรายใหม่ที่สามารถให้บริการได้แบบเฉพาะทาง ด้านกลุ่มลูกค้าเป้าหมายโฟกัสองค์กรภาครัฐ การเงินการธนาคาร เฮลธ์แคร์ ค้าปลีก และโทรคมนาคม มั่นใจว่าขณะนี้สายผลิตภัณฑ์ที่มีสามารถให้บริการได้ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจเอสเอ็มอีไปจนถึงเอ็นเตอร์ไพรซ์
เอกภาวินประเมินว่า ภาพรวมการลงทุนไอทีในประเทศไทยมีทิศทางเป็นบวก ขณะเดียวกันมีแนวโน้มว่าการใช้จ่ายจะมีความเร็วมากกว่าเดิม ทว่ารูปแบบอาจเปลี่ยนไปเป็นคลาวด์มากขึ้น โดยปัจจัยบวกมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจ ความต้องการวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน การพัฒนาบริการใหม่ๆ บนโมบาย การแข่งขันบนโลกธุรกิจที่ไร้พรมแดน รวมไปถึงการปูทางสร้างความอยู่รอดซึ่งผลักดันให้ต้องลงทุนด้านดิจิทัลอย่างจริงจังและเร็วที่สุด
“เราได้เห็นว่าลูกค้ามีการขยายการลุงทุนไอทีอย่างต่อเนื่อง หลักๆ เน้นเรื่องการเพิ่มมูลค่าให้ระบบเดิม, เวอร์ชวลสตอเรจ และระบบออโตเมชั่นต่างๆ ไทยนับเป็นตลาดที่มีศักยภาพเติบโตสูง ที่ผ่านมาแต่ละปีสามารถเติบโตได้เป็นตัวเลขสองหลัก ปัจจุบันมีฐานลูกค้ากว่า 4 พันราย”