ถึงเวลาที่แอนิเมเตอร์ต้องเกาะติดโอกาสทำเงินจากไอพี
ข้อมูลจาก มาร์เก็ตแอนด์รีเสิร์ชส์ ระบุว่า อุตสาหกรรมแอนิเมชั่นปีที่ผ่านมามีมูลค่ากว่า 2.59 แสนล้านดอลลาร์ และประมาณการณ์ว่าจะเติบโตถึง 2.70 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2563
เมื่อต้นปีแผนก Digital Entertainment Content ของเถาเป่า (Taobao) ประกาศว่า ตลาดทรัพย์สินทางปัญญา หรือ ไอพี (Intellectual Property : IP) ในอุตสาหกรรมนี้จะขยายตัวแตะหลัก 1.46 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า ตัวเลขนี้สะท้อนถึงโอกาสที่น่าจับตาของการสร้างแหล่งรายได้ใหม่สำหรับผู้สร้างแอนิเมชั่นทั่วโลก
ยูกะ มัตสึโมโตะ ซีอีโอ บริษัท ACALI Inc. กล่าวในโอกาสที่เดินทางมาร่วมแชร์ประสบการณ์ในงาน “Thailand Animation Pitching Workshop 2 (TAP)” โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อเร็วๆ นี้ว่า นักออกแบบและนักสร้างแอนิเมชั่นชาวไทยมีศักยภาพ “ไม่แพ้ชาติใดในโลก” และถึงเวลาแล้วที่แอนิเมเตอร์ต้องเกาะติดโอกาสทำเงินจากไอพี
เธอเล่าว่า ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมแอนิเมชั่นของญี่ปุ่น คือ สร้างคอนเทนท์และตัวละคร (คาแรคเตอร์) ขึ้นมาเสร็จแล้ว จึงปล่อยขายทั่วโลก บางครั้งการทำตลาดก็ยาก เมื่อเทียบกับฝั่งตะวันตก หรืออเมริกา ซึ่งเริ่มต้นด้วยการทำตลาด จัดทำการสำรวจอย่างหนักว่า เนื้อเรื่อง ตัวละครไหนที่จะเวิร์ค จากนั้นจึงผลิตผลงานออกมา เรียกว่าเป็นวิธีการทำงานที่ "very business" เพราะให้ความสำคัญอย่างมากว่า “อะไรขายได้”
วิธีการของตะวันตกเป็นการขายของ(ไอเดีย) ก่อนการผลิต หรือตั้งแต่อยู่ในขั้นตอน Pre-Production ซึ่งเทียบได้กับแนวคิดการขายไอพี ในอุตสาหกรรมแอนิเมชั่น โดยผู้สร้างสรรค์งาน (Creator) ควรเริ่มต้นด้วยการมองหาพันธมิตร และสื่อ เพื่อเชื่อมต่อไปถึงผู้ซื้อ (Buyer) ก่อน หลังจากขายไอเดียได้ มีผู้ตกลงซื้อแน่นอน จึงเริ่มการผลิตและส่งมอบผลงาน การที่มีผู้ซื้อก่อนทำให้รู้ว่าแอนิเมชั่นเรื่องนั้นๆ ขายได้แน่นอน และอาจได้รับเงินทุนมาใช้จ่ายในขั้นตอนการผลิตอีกด้วย
"นี่คือวิธีการดีที่สุดสำหรับการขายไอพีในอุตสาหกรรมแอนิเมชั่น เพราะหมายถึงการที่ไม่ต้องรอผลิตเสร็จแล้วค่อยขาย แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าค่ายแอนิเมชั่นบางแห่งของญี่ปุ่นยังคงเลือกแนวทางสร้างคอนเทนท์ขึ้นมาก่อน เพราะการรอคอยคำตอบจากผู้ซื้ออาจนานมาก"
‘ไอพี’ทางเลือกของหน้าใหม่
มัตสึโมโตะ บอกว่า แนวทางการทำตลาดไอพีถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับวงการแอนิเมชั่นในอาเซียน รวมถึงประเทศไทย เนื่องจากตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่มาทำความรู้จักกับตลาดและผู้สร้างแอนิเมชั่นของไทยเห็นชัดเจนว่า ทุกปีที่มาเยือนคุณภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ และ ณ วันนี้ดูเหมือนจะสูงกว่าที่ญี่ปุ่น
“นักสร้างแอนิเมชั่นและสตูดิโอในไทยมีทักษะเพียงพอสำหรับการบุกตลาดโลกแล้ว ทั้งในส่วนของการผลิต (Production) และตัวนักสร้างสรรค์ (Creator)คนไทยมี“sense”เกี่ยวกับตัวการ์ตูน“(Character) ซึ่งข้อได้เปรียบของตัวการ์ตูนญี่ปุ่น คือ ความน่ารัก, การออกแบบ แต่คนไทยยังมี sense ที่สร้างความได้เปรียบในมุมของความเป็นเอเชียอีกด้วย คนไทยมีสายตามองเห็นความน่ารัก ซึ่งเป็นประโยชน์มากกับการสร้างตัวการ์ตูน และการออกแบบ อีกทั้งมีมุมของความผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างตะวันตกและตะวันออก”
กล่าวได้ว่า แอนิเมเตอร์ชาวไทยเป็นนักสร้างสรรค์ที่ไม่ซ้ำแบบใคร (Originality) ดังนั้นถ้าได้ผู้สร้าง (Producer) ที่สามารถติดต่อกับตลาดต่างประเทศได้ ด้วยข้อมูลทางการตลาดที่มีอยู่ มีนักสร้างสรรค์เป็นพันธมิตร จับมือกัน ก็จะสามารถไป pitch งานได้ทั่วโลก และคิดว่าจะประสบความสำเร็จด้วย
สำหรับสิ่งที่น่าจะนำมาเติมเต็มและเสริมโอกาส พวกเขาต้องการ "โปรดิวเซอร์" ซึ่งในที่นี้ไม่ใช่เพื่องานด้านการผลิต แต่สำหรับด้านธุรกิจและการตลาด โดยต้องเป็นคนที่มีความรู้เกี่ยวกับตลาดระหว่างประเทศเป็นอย่างดี รู้ว่าตลาดกำลังมองหาอะไร
“อุตสาหกรรมบันเทิงเป็นตลาดเชิงธุรกิจ ถ้าคุณไม่จำเป็นต้องทำเงินก็สามารถสร้างงานตามความชอบของตัวเองได้ แต่ถ้าต้องการให้ทำเงิน ก็จำเป็นต้องมองตลาดเป็นที่ตั้ง เช่นทางตะวันตกจะทำงานอย่างหนักในขั้นตอนนี้ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานและงบประมาณมหาศาล”
แนะเคล็ดลับบุกตลาดโลก
ปัจจุบันธุรกิจนี้มีคู่แข่งจำนวนมาก ผู้บริโภคเปลี่ยนไป สื่อมีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีพรมแดนระหว่างประเทศอีกต่อไป เป็นยุคแห่งความท้าทาย ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นไทย ญี่ปุ่น หรือจีน ก็มีโอกาสขึ้นอยู่ที่ว่า ‘what type of creator they are’ แอนิเมชั่นไม่ได้ขึ้นกับสัญชาติอีกต่อไป
เธอแนะนำว่า เคล็ดลับการ “ขายไอพีสู่ตลาดโลก” ต้องเดินทางไปเปิดหูเปิดตาในประเทศต่างๆ ให้มาก ไปชมผลงานและตลาดแอนิเมชั่นของประเทศอื่นๆ โดยไม่จำกัดตัวเองอยู่แต่ในประเทศ เพื่อมองหาโอกาสและศึกษาว่าแต่ละตลาดอยากได้อะไร ไลฟ์สไตล์เป็นแบบไหน ใช้ชีวิตอย่างไร เพื่อที่จะจุดประกายไอเดียสำหรับการทำงานในระดับสากล เพราะถ้าไม่รู้จักมุมมองเหล่านั้น จะทำงานไปสู่ตลาดโลกไม่ได้
ส่วนในแง่ของผู้ที่อยากผลักดันไอพีของตัวเองออกไปยังตลาดโลก จำเป็นต้องเรียนรู้ และรู้จักสื่อสารกับผู้คนทั่วโลก เช่นเดียวกันสำหรับนักสร้างสรรค์ (Creator) แม้บางคนอาจคิดว่าแค่ท่องโลกอินเทอร์เน็ตก็ทำให้รู้จักคนทั่วโลกได้ แต่แท้จริงแล้ว "การสื่อสาร(Communication)" เป็นสิ่งสำคัญ