ดันสายสื่อสารลงดิน ตั้งเป้า 2 ปี กทม.สู่เมืองไร้สาย
กสทช.ผนึกกทม.ดันสายสื่อสารลงดิน 2,450 กิโลเมตร มูลค่าลงทุน 2.5 หมื่นล้านบาทคาด 2 ปีแล้วเสร็จปูทางสู่เมืองไร้สาย
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช.ได้ลงนามความร่วมมือกับ กรุงเทพมหานคร ในการดำเนินโครงการนำสายสื่อสารลงดิน ในพื้นที่ 2,450 กิโลเมตร ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือน ม.ค. 2562 ที่ให้ กทม.ทำ โดย กทม.มอบหมายให้ บริษัทลูก คือ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ดำเนินการ โดย กสทช.มีหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการทำโครงการ และการกำหนดราคาค่าเช่าท่อใต้ดิน ซึ่งต้องไม่แพงกว่าค่าบริการที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) คิดค่าบริการที่เดือนละ 9,600 บาทต่อกิโลเมตร ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป
ทั้งนี้ กทม.ได้แบ่งพื้นที่ดำเนินการ 4 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพเหนือ,กรุงเทพตะวันออก,กรุงธนเหนือ และ กรุงธนใต้ โดยจะเริ่มดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 4 จุด ใน 4 พื้นที่พร้อมกัน ประกอบด้วย พื้นที่ 1 กรุงเทพเหนือ ระยะทางประมาณ 620 กิโลเมตร นำร่องที่จะดำเนินการบริเวณถนนวิทยุ ช่วงถนนพระรามที่ 1 - ถนนเพชรบุรี รวม 1.4 กิโลเมตร
พื้นที่ 2 กรุงเทพตะวันออก ระยะทางประมาณ 605 กิโลเมตร เส้นทางนำร่องบริเวณถนนรัชดาภิเษก จากบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ ประตู 2 และประตู 3 ถึงซอยรัชดาภิเษก 7 และซอยประชาสันติ และบริเวณถนนเทียมร่วมมิตร จากถนนรัชดาภิเษกถึงหน้าอาคารไซเบอร์เวิลด์รวม 1.95 กิโลเมตร
พื้นที่ 3 กรุงธนเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร ระยะทางรวม 605 กิโลเมตร เส้นทางนำร่องบริเวณถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 68 จากถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 10 รวม 1.7 กิโลเมตร
พื้นที่ 4 กรุงธนใต้ ครอบคลุมพื้นที่ฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร เช่นเดียวกัน รวมระยะทาง 620 กิโลเมตร โดยเส้นทางนำร่อง ได้แก่ บริเวณถนนวิทยุ ช่วงถนนพระราม 1 ถึงถนนพระราม 4 ระยะทาง 1.9 กิโลเมตร โดยกทม.จะเริ่มดำเนินการขุดเจาะและวางท่อร้อยสายประมาณเดือนกรกฎาคม 2562 โดยตั้งเป้าหมายดำเนินการขุดวางท่อร้อยสายและนำสายสื่อสารลงใต้ดินให้ได้อย่างน้อยพื้นที่ละ 150 กิโลเมตร ภายในปี 2562 และเร่งดำเนินการทุกพื้นที่ให้แล้วเสร็จตามกำหนดภายใน 2 ปี
อย่างไรก็ตาม กรุงเทพธนาคม ได้บริษัทผู้รับเหมาในการทำโครงการขุดเจาะและวางท่อ 3 บริษัท ได้แก่ กิจการร่วมค้า จีเคอี แอนด์ เอฟอีซี,กิจการร่วมค้า เอสซีแอล, เอสทีซี และฟอสส์ ,กิจการร่วมค้า เอดับบลิวดี ส่วนบริษัทที่ได้รับสิทธิ์ในการบริหารค่าเช่าท่อ คือ บริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งยื่นข้อเสนอในการเช่าท่อ 25,000 ล้านบาท เป็น เวลา 30 ปี ในการนำเงินให้กทม.ทำโครงการโดยไม่ใช่งบประมาณรัฐ จากนั้นทรูสามารถนำสิทธิ์ที่ได้ไปบริการให้บริษัทสื่อสารมาเช่าใช้ท่อดังกล่าว
ทั้งนี้ เอ็มโอยูที่ร่วมกับกทม.เป็นการย้ำชัดความร่วมมือ มุ่งผลักดันกรุงเทพฯ เมืองไร้สาย ในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวได้กำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและกำกับดูแลการดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาเห็นชอบ รวมถึงกำกับและดูแลการใช้พื้นที่หรือทรัพย์สินของกรุงเทพมหานครในการดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในเขตกรุงเทพมหานครให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยคาดว่าเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะพลิกโฉมกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแห่งอนาคตที่มีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อการสื่อสารและโทรคมนาคมที่รองรับการเป็นสมาร์ทซิตี้ที่มีทัศนียภาพสวยงาม เป็นระเบียบ ปลอดภัย ทันสมัย