บริการขนส่งพัสดุ-โลจิสติกส์แข่งเดือด “ปณท-เคอรี่” สองผู้เล่นหลักในตลาดงัดกลยุทธ์ชิงความได้เปรียบ
บริการขนส่งพัสดุ-โลจิสติกส์แข่งเดือด “ปณท-เคอรี่” สองผู้เล่นหลักในตลาดงัดกลยุทธ์ชิงความได้เปรียบ “ปณท” โชว์จุดแข็งเจ้าตลาดดั้งเดิมครองพื้นที่บริการลงลึกระดับตำบลหมู่บ้านชูความเก๋า "ไม่มีใครที่รู้จักทุกตารางนิ้วของประเทศไทยได้มากกว่าปณท" เดินกลยุทธ์ The First ยืนหนึ่งบริการตอบโจทย์ธุรกิจยุคดิจิทัล ตั้งเป้าปี 62 รายได้พุ่ง 3 หมื่นล้าน ด้าน ”เคอรี่" โชว์ภาพลักษณ์ทันสมัย เจาะคนยุคใหม่เผยเป็นบริษัทแรกให้บริการส่งพัสดุด่วน ดึงระบบอีเพย์เม้นท์ให้บริการ ปี 61 กวาดรายได้ 1.3 หมื่นล้านบาทโต 100% จากปี 60
ภาพรวมการแข่งขันในตลาดขนส่ง-บริการโลจิสติกส์ในไทยช่วงปีที่ผ่านมาชื่อของ ไปรษณีย์ไทย และเคอรี่ ไต่อันดับความนิยม กลายเป็น 2 แบรนด์หลักที่ผู้บริโภคไทยใช้บริการมากที่สุด ดันให้ตลาดนี้เติบโตมากกว่า 100% โดยเฉพาะปัจจัยขับเคลื่อนจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซื้อขายออนไลน์ที่มาแรง ส่งผลให้บริการขนส่ง โลจิสติกส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอีคอมเมิร์ซอีโคซิสเต็มส์เติบโตอย่างมหาศาลกว่า 30,000 ล้านบาท และเกิดผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในสมรภูมิการแข่งขันนี้มากขึ้น
ปณทมั่นใจยืนหนึ่งตลาดขนส่ง
รัฐวิสาหกิจไทยอย่าง “ไปรษณีย์ไทย” หรือ ปณท ที่มีอายุองค์กรมากกว่า 130 ปี จากเป็นผู้ให้บริการรับส่งจดหมาย พัสดุ และบริการธนาณัติ ต้องปรับตัวอย่างมาก พัฒนาบริการต่างๆ ที่ให้สอดคล้องกับความต้องการผู้บริโภคยุคใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะยุคของอีคอมเมิร์ซที่กลับมาร้อนแรง ซึ่ง ปณท ก็เป็นหนึ่งที่ได้รับอานิสงส์ โดยมีสัดส่วนการส่งพัสดุที่มาจากอีคอมเมิร์ซเพิ่มสูงขึ้นมาก
นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า ปี 2562 ปณทมุ่งเน้นการพัฒนารอบด้าน รวมถึงบริการที่จะนำนวัตกรรมเข้ามาอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการมากขึ้น เช่น ระบบเก็บเงินปลายทาง (Cash On Delivery : COD) เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าอีคอมเมิร์ซที่เติบโตมากในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในการเสริมสร้างศักยภาพบริการระบบโลจิสติกส์ครบวงจร ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากร ผ่านการจัดกิจกรรมฝึกอบรมพนักงานและลูกจ้างให้ปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพทันยุคดิจิทัล
"เราสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมภายในองค์กร เพื่อให้เกิดการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงคุณภาพบริการ กระทั่งสามารถต่อยอดเป็นมาตรฐานการให้บริการและผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด สะท้อนความมุ่งมั่นที่จะทำให้ไปรษณีย์ไทยเป็นองค์กรที่ผู้ใช้บริการไทยนึกถึงในลำดับแรก"
ขณะที่ ปี 2562 จะชูกลยุทธ์ THP FIRST เน้นทำงานและให้บริการที่ดีที่สุดทุกส่วนงาน กำหนดมาตรฐานการทำงานพนักงานและลูกจ้างให้เหมาะสมและดีที่สุดเพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้ดียิ่งขึ้น และเดินหน้าพัฒนา ต่อยอดบริการรวมทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย รวดเร็ว ให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงได้ง่าย ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศไทย และจับมือพันธมิตรต่างๆ ในทุกด้าน
โดยเชื่อว่า ไม่มีใครที่รู้จักทุกตารางนิ้วของประเทศไทยได้มากกว่าปณท เพราะสามารถจัดส่งพัสดุต่างๆ ได้ทุกพื้นที่ลงลึกระดับตำบล หมู่บ้าน พื้นที่ห่างไกล
ตั้งเป้า 62 รายได้พุ่ง3 หมื่นล.
ปณท ยอมรับว่า การแข่งขันช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์มีคู่แข่งมากขึ้น แต่จากผลประกอบการปีที่ผ่านมา บริษัทยังมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 51-52% ในธุรกิจจัดส่งสินค้าอีคอมเมิร์ซโดยมีจำนวนพัสดุที่จัดส่งราว 310 ล้านชิ้น จากปริมาณรวม 580 ล้านชิ้น ส่วนเป้าหมายรายได้ในปี 2562 นี้ บริษัทคาดว่าจะทำได้ราว 30,000 ล้านบาท
รายได้มาจาก 3 ธุรกิจหลัก คือ 1.ธุรกิจสื่อสาร ได้แก่ จดหมาย ไปรษณีย์บัตร สิ่งของตีพิมพ์ สัดส่วนรายได้ราว 32% 2.ธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ บริการอีเอ็มเอส โลจิสโพสต์ราว 47% และ 3.ธุรกิจบริการทางการเงิน รับค่าชำระค่าสินค้า บริการ ค่าสาธารณูปโภคราว 21%
ล่าสุด ปณท ได้ปรับแนวทางบริหารงานตามการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยปรับระบบขนส่งให้การคัดแยกปลายทางรวดเร็วขึ้น พร้อมเพิ่มคุณภาพการนำจ่ายที่ทำการไปรษณีย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ได้แก่ ฝากส่งสิ่งของช่วงเช้าจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปลายทางกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะถึงผู้รับในวันเดียวกัน หรือหากส่งช่วงบ่ายจะได้รับเช้าวันรุ่งขึ้น
ปณท ยังอยู่ระหว่างขยายเครือข่ายพื้นที่ยกระดับคุณภาพบริการ “ส่งเช้าได้บ่าย ส่งบ่ายได้เช้า” ไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ด้วยเช่น ต้นทางจังหวัดเชียงใหม่ หากส่งไปยังภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก ขณะที่ต้นทางจังหวัดนครศรีธรรมราช ปลายทางภาคใต้ หรือกรุงเทพฯ และปริมณฑล สิ่งของจะถึงมือผู้รับในวันรุ่งขึ้น
“เคอรี่”มาแรงรายได้โต1.3หมื่นล.
หนึ่งคู่แข่งสำคัญของปณทและกำลังร้อนแรงในตลาดขนส่งพัสดุ คือ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) ที่เข้ามาทำตลาดในไทยหลาย 10 ปี จากธุรกิจบริการโลจิสติกส์ครบวงจรภายใต้ชื่อ Kerry Logistics ทั้งโกดังสินค้า บริการส่งของ เทรดดิ้งอาหาร และเครื่องดื่ม สร้างโซลูชั่นให้บริษัทขนาดใหญ่ในทุกอุตสาหกรรม จากนั้นแตกไลน์ธุรกิจขนส่งด่วน ภายใต้ชื่อ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) ที่ปัจจุบันถือหุ้นโดยบริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ในเครือบีทีเอสกรุ๊ปราว 23%
ช่วง 2-3 ปีมานี้ เคอรี่ ถูกจับตามองมากในภาคการขนส่ง โดยเมื่อปี 2560 เคอรี่ มีรายได้ในไทยราว 6,000 ล้านบาท แต่เม่ื่อปี 2561 ที่ผ่านมา รายได้ของเคอรี่พุ่งไปกว่า 13,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่า 100% ยึดตำแหน่งผู้ให้บริการอันดับ 2 มีจุดให้บริการมากกว่า 7,000 สาขา ศูนย์กระจายสินค้าทั่วประเทศกว่า 600 แห่ง มีรถยนต์ขนส่งในระบบมากกว่า 11,000 คัน ยอดการจัดส่งมากกว่า 1,000,000 กล่องต่อวัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปีนี้ เคอรี่ มีแผนขยายสาขาอีกจำนวนมาก รวมทั้งจับมือร้านสะดวกซื้อชั้นนำต่างๆ และร้านค้าขนาดใหญ่ในชุมชน เช่น ร้านวัสดุก่อสร้าง ร้านอาหารเพื่อเพิ่มจุดรับสินค้า นับได้ว่า เคอรี่ มีทั้งทุนใหญ่เกื้อหนุน และภาพลักษณ์ที่ทันสมัยโดนใจลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ เรียกคะแนนความนิยมเพิ่มขึ้นอีกได้ไม่ยาก
ล่าสุดดึง “เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ” พระเอกดัง เป็นพรีเซนเตอร์ของแบรนด์ เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์และมาตรฐานด้านการส่งพัสดุด้วยความตั้งใจ เพื่อให้ผู้รับมีความสุขทุกครั้งในการใช้บริการ
ชูจุดแข็งเรื่อง “คน”
นายอเล็กซ์ อึ้ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จุดแข็งของเคอรี่ คือ เรื่องคน เพราะเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน การฝึกอบรม วัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้าง สนับสนุนให้บุคลากรได้คิด เสนอไอเดีย มีมุมมองในเรื่องต่างๆ อย่างอิสระ ขณะเดียวกันเคอรี่ ยังเน้นลงทุนนวัตกรรมเพื่อพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปด้วย ภายใต้นโยบายมาตรฐานบริการ “ส่งไว ส่งชัวร์ ทั่วไทย”
"เคอรี่ เป็นบริษัทเอกชนที่ให้บริการส่งพัสดุด่วนรายแรกในไทย เป็นบริษัทแรกที่ใช้ระบบชำระเงินปลายทางด้วยไลน์เพย์ พร้อมเพย์ และบริการจัดส่งสินค้าพัสดุภายในวันเดียว" นายอเล็กซ์ กล่าว
ก่อนหน้านี้ นายอึ้ง เคยให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งที่ทำให้แบรนด์ เคอรี่ เป็นที่ไว้วางใจ คือ การมีทีมงานที่ดูแลในส่วนบริการลูกค้ากรณีเกิดปัญหา จะมีพนักงานโทรหาโดยตรงเพื่อรับฟังสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมจ่ายคืนค่าบริการ หรือหากร้องเรียนผ่านมาทางโซเชียลมีเดียจะรีบต่อกลับภายใน 15 นาทีพร้อมติดตามผล
ทั้งกล่าวว่า แม้ตลาดของบริการจัดส่งพัสดุด่วน (Express Parcel Delivery) ในไทยจะมีสัดส่วนที่เล็กมาก เมื่อเทียบกับตลาดในประเทศย่อมหมายถึงช่องว่างทางธุรกิจที่เคอรี่จะสามารถสร้างการเติบโต ทั้งในด้านรายได้และฐานลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักยภาพของตลาดในแถบภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ผลิตสินค้าสำหรับส่งออกไปยังนานาประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตรที่เป็นผู้ผลิตเอง หรือสินค้าอื่นๆ ที่รับจ้างผลิต สุดท้ายก็ล้วนต้องหันมาพึ่งโลจิสติกส์ทั้งนั้น
ขณะที่ อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ธุรกิจของเคอรี่ก้าวสู่ภาพลักษณ์ของผู้นำด้านการจัดส่งพัสดุด่วนของไทย คงหนีไม่พ้นแนวคิดการปรับใช้ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคในเชิงลึก มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง จนกลายเป็นคอร์ แวลูของแบรนด์เคอรี่
มูลค่าตลาดขนส่งด่วนพุ่ง3หมื่นล.
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า ระบุว่า หนึ่งในปัจจัยการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซในไทย คือ เรื่องการขนส่งที่รวดเร็วทำให้ผู้บริโภคนิยมซื้อของออนไลน์มากขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นศักยภาพระยะยาวธุรกิจขนส่งสินค้า โดยเฉพาะการจัดส่งพัสดุด่วนประเภทถึงมือผู้รับภายใน 1-2 วัน หรือขนส่งด่วน (Express) ที่ปัจจุบันมีมูลค่าทางการตลาดมากกว่า 30,000 ล้านบาท เติบโตปีละ 15-20% จากธุรกิจขนส่งภาพรวมที่มีมูลค่ามากกว่า 200,000 ล้านบาท
ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เคยระบุตัวเลขใกล้เคียงกัน โดยธุรกิจไปรษณียภัณฑ์ และรับส่งสินค้าในปี 2561 มีมูลค่ารวมกว่า 30,800-31,300 ล้านบาท อัตราขยายตัว 9.6-11.3% เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีมูลค่า 28,100 ล้านบาท