จับตา 2 ธุรกิจดาวรุ่งจากสัญญาณอวกาศ 'ระบบนำทาง-คลื่นสื่อสาร'

จับตา 2 ธุรกิจดาวรุ่งจากสัญญาณอวกาศ 'ระบบนำทาง-คลื่นสื่อสาร'

นิด้าเผยผลศึกษามูลค่าทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมอวกาศ ในไทย 5.6 หมื่นล้าน อัตราเติบโตมากกว่า 10% สูงกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ แนะจับตากลุ่มธุรกิจระบบนำทางและธุรกิจการสื่อสารมีการขยายตัวสูงสุด ส่วนบรอดแคสต์ติดลบชัดเจน

อุตฯอวกาศสร้างรายได้ 5.6 หมื่นล้าน

รศ.ศาสตรา สุดสวาสดิ์ อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นำเสนอผลการศึกษามูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในอุตสาหกรรมอวกาศ (Space Industry) ของประเทศไทย ปี 2562 ระบุตัวเลขรายได้ 5.6 หมื่นล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 3.6 หมื่นคน สร้างมูลค่าทางสังคม 5 พันกว่าล้านบาท และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 2.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.7% ของอุตฯ ยานยนต์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 3.4 แสนล้านบาท

กิจการด้านอุตฯ อวกาศ ประกอบด้วย ส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างการขนส่งทางอวกาศ ระบบรับสัญญาณภาคพื้นดิน การผลิตอากาศยาน ด้านการศึกษาวิจัยและไฮไลต์คือ ฟังก์ชั่นที่เกี่ยวเนื่องจากสัญญาณดาวเทียม ซึ่งมีสัดส่วนรายได้สูงสุดถึง 42% ประกอบด้วย บรอดแคสต์ทั้งวิทยุและโทรทัศน์, ระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียมทั้งทางการทหาร การควบคุมอากาศยาน การแพทย์ทางไกล สื่อสารไร้สายของผู้โดยสารบนเครื่องบิน ฯลฯ, ดาวเทียมเพื่อการสำรวจสำหรับการจัดทำแผนที่ การพยากรณ์อากาศ เฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อม การปกป้องเขตแดนไทย, ดาวเทียมทางการทหาร, ระบบนำทางด้วยสัญญาณดาวเทียมและการทดลองทางอวกาศ

“เมื่อพิจารณาในรายละเอียดก็พบว่า ในช่วง 3 ปีที่ทำการศึกษา (ปี 2558-2560) แม้เศรษฐกิจของประเทศจะชะลอตัว แต่อุตฯ อวกาศในภาพรวมมีการเติบโตมากกว่า 10% โตกว่าอุตฯ อื่นๆ โดยระบบนำทางและสัญญาณการสื่อสารสร้างรายได้มากสุด คิดเป็นสัดส่วน 46% และ 45% ตามลำดับ โดยกิจการด้านการสื่อสารมีการจ้างงานสูงสุด ขณะที่กลุ่มบรอดแคสต์ให้ผลตอบแทนต่ำสุดที่ 1% ทั้งยังมีอัตราการเติบโตที่ติดลบตั้งแต่ปี 2560 เรื่อยมา”

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อให้ได้ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ถูกต้องของอุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งเป็นอุตฯ ใหม่สำหรับไทยทำให้ที่ผ่านมามีข้อมูลเชิงลึกไม่มาก ทั้งนี้ ในการศึกษาอ้างอิงเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ ไม่รวมกิจกรรมทางด้านอากาศยานหรือการจราจรทางอากาศ โดยเป็นการวิเคราะห์รายงานการลงทุนจากกรมธุรกิจการค้าและสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

‘จิสด้า’หนุนฮับแอโรสเปซอาเซียน

นายดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด ปฏิบัติงานอธิการสถาบันวิทยาการอวกาศและภูมิสารสนเทศ จิสด้า กล่าวว่า อุตสาหกรรม แอโรสเปซ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มขนส่งการบิน-การผลิตชิ้นส่วนและซ่อมบำรุงอากาศยาน และกลุ่มอุตสาหกรรมอวกาศ สำหรับบทบาทของจิสด้าได้ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนวิจัยด้านการผลิตชิ้นส่วนและซ่อมบำรุงอากาศยานจากโครงสร้างพื้นฐานเชิงเทคนิคและผู้เชี่ยวชาญในการถ่ายทอดความรู้ระดับสากลผ่านห้องปฏิบัติการกาแลคซี่ หรือ ห้องปฏิบัติการความเป็นเลิศและนวัตกรรมการบินและอวกาศ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐแห่งแรกในไทยที่ได้รับมาตรฐานด้าน Aerospace AS9100D

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีจำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับมาตรฐานบริหารคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมการบินและอากาศยาน Aerospace Standard-AS9100 เพียง 26 หน่วยงาน ขณะที่ประเทศสิงคโปร์มี 119 หน่วยงาน และประเทศมาเลเซียมี 60 หน่วยงาน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทยในด้านมาตรฐานและเทคโนโลยีในการผลิต นอกจากนี้เพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการบินและอวกาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยังได้จัดตั้งศูนย์ประกอบทดสอบดาวเทียม รวมทั้งห้องปฏิบัติการ SOAR ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาระบบปฏิบัติการวางแผนเส้นทางการบิน โดยใช้นวัตกรรมด้านดาวเทียวจัดการน่านฟ้าและการเดินอากาศให้เป็นไปตามข้อบังคับระดับสากล

“โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของไทยในการแข่งขันที่จะเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมอวกาศในระดับสากล เช่น การผลิตและทดสอบดาวเทียม การควบคุมและการจัดการดาวเทียม การใช้ดาวเทียมเพื่อความมั่นคงของประเทศ การให้บริการข้อมูลดาวเทียมรวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมในด้านอื่นๆ”