ก้าวต่อไป ‘อีคอมเมิร์ซ’ ผ่านมุมมอง ‘เพย์พาล’

ก้าวต่อไป ‘อีคอมเมิร์ซ’  ผ่านมุมมอง ‘เพย์พาล’

ในอีก 25 ปีข้างหน้าอีคอมเมิร์ซจะยิ่งพัฒนารวดเร็วและรุดหน้าเพิ่มมากขึ้น

25 ปีก่อน หลังจากสตาร์ทอัพเล็กๆ ชื่อว่า เน็ตมาร์เก็ต (NetMarket) ค้นพบวิธีการส่งข้อมูลเข้ารหัสธุรกรรมบัตรเครดิตบนเว็บไซต์ วิธีการจับจ่ายซื้อสินค้า การทำธุรกรรมเชิงพาณิชย์ที่เดิมผู้ซื้อต้องเดินทางไปยังสถานที่ค้าขาย ซึ่งใช้กันมานับพันปีได้เปลี่ยนไปตลอดกาลด้วย “อีคอมเมิร์ซ”

นาเกช เทวตา ผู้จัดการทั่วไปด้านการค้าข้ามพรมแดน ประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพย์พาล(PayPal) เล่าว่า ช่วงกลางทศวรรษที่ 90 สมัยนั้นไม่มีใครคาดคิดเลยว่าอีคอมเมิร์ซจะกลายมาเป็นช่องทางสำคัญด้านการค้า คนที่อยู่ในแวดวงอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ยุคเริ่มต้นต่างคิดกันว่าเป็นเพียง “โซลูชั่นทางด้านการสื่อสาร” ทว่าการขยายขอบเขตความสามารถของอินเทอร์เน็ตทำให้อีคอมเมิร์ซกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจ

โดยตลอด 25 ปีที่ผ่านมาได้ก้าวข้ามอุปสรรคที่ท้าทายต่างๆ ในการสร้างความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือ เพื่อการเชื่อมต่อกันระหว่างผู้บริโภคกับธุรกิจและการเติบโตของกิจกรรมเชิงพาณิชย์รูปแบบใหม่ ซึ่งปัจจุบันการเชื่อมต่อนับว่ามีเสถียรภาพกว่าที่เคย การชำระเงินและโลจิสติกส์จึงมีการพัฒนาให้รวดเร็วและลื่นไหลมากยิ่งขึ้น มากกว่านั้น ความสามารถในการตรวจสอบการทุจริตก็รุดหน้ากว่าที่เคยเป็นมา

’ความน่าเชื่อถือ’ รากฐานสำคัญ

หากมองอนาคตอีก 25 ปีและก้าวต่อๆ ไปของวงการอีคอมเมิร์ซ โครงสร้างของความน่าเชื่อถือที่แต่ละบริษัทสั่งสมมาถือเป็นรากฐานสำคัญต่อการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมนี้

“ผมมองว่าในอีก 25 ปีข้างหน้าอีคอมเมิร์ซจะยิ่งพัฒนารวดเร็วและรุดหน้าเพิ่มมากขึ้น จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกจำนวนมากเข้ามามีส่วนในการยกระดับการซื้อขายในชีวิตประจำวันอย่างที่ไม่เคยคาดคิด และหากไม่ระวัง เทคโนโลยีเหล่านี้อาจกลับมาทำลายความสามารถในการรักษาความน่าเชื่อถือที่เราสร้างไว้กับผู้บริโภครอบโลกได้เช่นกัน”

ตัวอย่างของเทคโนโลยีใหม่ที่กล่าวไปข้างต้นได้แก่ “เทคโนโลยี 5จี” ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการรองรับอุปกรณ์เพิ่มขึ้นนับพันล้านเครื่องให้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ทำให้การซื้อขายทำได้ทุกที่ ทุกเวลา พร้อมเปิดประสบการณ์เสมือนจริงที่เติมเต็มและสมจริงมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมี "ปัญญาประดิษฐ์(เอไอ)" ด้วยแรงสนับสนุนของจำนวนข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้นและอาจรวมถึงการมีควอนตัมคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถมอบประสบการณ์การใช้งานที่เหมาะกับแต่ละบุคคลได้ โดยการนำเสนอสินค้าจะแตกต่างไปตามลูกค้าแต่ละคน ผู้ขายจะสามารถเก็บข้อมูลและเรียนรู้เกี่ยวกับลูกค้าได้ไวและสม่ำเสมอมากยิ่งขึ้น ด้านบริการผู้ช่วยที่ผสมผสานเอไอจะสามารถคาดเดา เลือก และจัดส่งสินค้าที่ต้องการก่อนที่ตัวผู้ซื้อจะรู้ตัวว่าต้องการสิ่งๆ นั้นเสียอีก

ขณะที่ “โซเชียลคอมเมิร์ซ” ซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่เติบโตขึ้นทุกวัน ทำให้คนเราสามารถมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างการซื้อขายได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการแชร์หรือการมีส่วนร่วม ตั้งแต่จุดกระตุ้นความสนใจ ไปจนถึงจุดชำระสินค้าและบริการหลังการขาย ซึ่งกิจกรรมด้านการซื้อขายของคนยุคดิจิทัลทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนมีผลต่อการสร้างบรรทัดฐานของการซื้อขายของโลกได้เลยทีเดียว

นอกจากนี้ การจัดการยืนยันตัวตนดิจิทัลเพื่อรักษาความปลอดภัยส่วนกลาง จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยป้องกันธุรกิจจากการฉ้อโกงจากเหล่ามิจฉาชีพก่อนที่จะเกิดขึ้น ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภค รหัสผ่านอาจเป็นทางออกที่ดีในช่วงแรกของอีคอมเมิร์ซ แต่ถึงเวลาก้าวข้ามมาใช้การยืนยันตัวตนส่วนกลางที่ช่วยให้องค์กรขนาดใหญ่สามารถทำงานร่วมกันเพื่อต่อต้านการทุจริตและช่วยรักษาความปลอดภัยให้กับระบบโดยรวมแล้ว

ที่น่าสนใจต่อไปโลจิสติกส์เพื่อสิ่งแวดล้อมจะกลายมาเป็นสิ่งที่ทุกคนให้ความสนใจ หมดยุคกระดาษลัง บรรจุภัณฑ์พลาสติก และขยะเชื้อเพลิง ในยุคใหม่ที่ผู้บริโภคใส่ใจสิ่งแวดล้อมและเลือกสิ่งที่สนับสนุนความยั่งยืนนี้ ซัพพลายเออร์รวมถึงผู้ให้บริการโลจิสติกส์จะต้องหาแนวทางเพื่อรองรับความต้องการในส่วนนี้ให้ได้

พลังเทคโนโลยีขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

เขากล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงและการรวมพลังของเทคโนโลยีดังกล่าวส่งผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะช่วยลดต้นทุนแรกเมื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจยุคดิจิทัลให้แก่บุคคลและครัวเรือน รวมถึงผู้ประกอบการและธุรกิจขนาดเล็ก ที่ยังมีต้นทุนสูงในการเข้ามามีส่วนร่วมเต็มตัวในระบบ ซึ่งนอกจากเทคโนโลยีเหล่านี้จะเข้ามาปฏิวัติการซื้อขายแล้ว ยังเปิดโอกาสทางการค้าแก่ทุกคนและให้โอกาสแก่ประชากรที่ขาดโอกาสทางการค้าโลกด้วย

“เช่นเดียวกันกับระยะแรกในการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ต้องมีการปรับใช้เทคโนโลยีอย่างระมัดระวังและใส่ใจต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุด ควรมีมาตรการป้องกันผลกระทบเชิงลบที่อาจจะเกิดขึ้น จำเป็นต้องทำงานร่วมกันอย่างระมัดระวังและสร้างสรรค์ ในการใช้ความน่าเชื่อถือเข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเดินก้าวต่อๆ ไป”

ที่ผ่านมาทางออกสำหรับความท้าทายด้านความเชื่อมั่นในยุคเริ่มแรก มีความเกี่ยวเนื่องกับการจำลององค์ประกอบหลายอย่างของการค้าขายในชีวิตจริงมาใส่ไว้ในโลกดิจิทัล อย่างตะกร้าสินค้า จุดชำระเงิน และการติดตามการขนส่ง ส่วนทางออกสำหรับการสร้างความเชื่อมั่นในอนาคตคือ “การป้องกันและการนำความเป็นมนุษย์มาใช้เป็นแกนหลักสำคัญของอีคอมเมิร์ซ” อาทิ ประสบการณ์ทางสังคม การแสดงออกด้านจริยธรรมและค่านิยม และขยายโอกาสในการเข้าร่วมและสนับสนุนทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และชุมชนให้กว้างขึ้น

พร้อมกันนี้ ศึกษาจากตัวอย่างและรูปแบบการทำงานร่วมกันที่ส่งเสริมทางออกพื้นฐานสำหรับความท้าทายด้านความเชื่อมั่นของอีคอมเมิร์ซ ไม่ว่าจะเป็น Domain Name System (DNS), Secure Socket Layer (SSL), และ Common Gateway Interface (CGI) เพื่อสร้างมาตรฐานความมั่นใจด้านจริยะธรรมและผลที่จะตามมาต่ออนาคต

สิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้เลยคือ ความร่วมมือของรัฐบาล สถานศึกษา และองค์กรผู้ไม่แสวงหากำไร ผู้มีส่วนสำคัญให้อีคอมเมิร์ซพัฒนามาเป็นอย่างทุกวันนี้ การคงสภาพและปรับขนาดของความร่วมมือระหว่างกันของรัฐและเอกชนนี้ จะเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาสถาบันรวมถึงโซลูชั่นใหม่ๆ ในการปลดล็อกศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ขึ้น

“อนาคตเป็นผลมาจากวันนี้ที่เราสร้าง เรายังมีโอกาสในการพัฒนาอีคอมเมิร์ซให้ไปเป็นในทางที่คาดหวังได้โดยไม่ส่งผลเสียต่อรากฐานความเชื่อมั่นที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ดังนั้นการผสานเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ การกำหนดนโนบายและการตัดสินใจเชิงธุรกิจอย่างรอบคอบ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นให้กับอีคอมเมิร์ซในอนาคต”