‘รพ.สมุทรปราการ’ จัดทัพปักหมุด 'สมาร์ทฮอสพิทัล'

‘รพ.สมุทรปราการ’ จัดทัพปักหมุด 'สมาร์ทฮอสพิทัล'

'โรงพยาบาลสมุทรปราการ' ปักหมุดก้าวสู่ “โรงพยาบาลอัจฉริยะ” ปรับตัวเพื่อการอยู่รอด มุ่งสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ทั้งกับผู้ป่วยและบุคลากร รพ. รวมทั้งสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนา 'การรักษา' และ 'การบริหารรายได้'

โรงพยาบาลสมุทรปราการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีฐานะเป็นโรงพยาบาลศูนย์ของจังหวัด โดยดูแลประชาชนทั้งหมด 2.5 ล้านคน จำนวนเตียงประมาณ 600 เตียง มีผู้ป่วยนอก 3.2 พันคนต่อวัน คิดเป็น 8 แสนคนต่อปี ส่วนจำนวนผู้ป่วยในอยู่ที่ 615 คนต่อวัน หรือประมาณ 4 พันคนต่อปี อัตราการเข้ารับบริการนั้นมากเกินกว่าขอบเขตที่กำหนดในแต่ละวัน

ปรับตัวเพื่อการอยู่รอด

เพื่อรับมือกับจำนวนผู้มาใช้บริการที่โอเวอร์โหลด นายแพทย์อนุวัตร สุขสมานพาณิชย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านนวัตกรรม รพ.สมุทรปราการ กล่าวว่า โรงพยาบาลได้ปรับตัวผ่านกลยุทธ์ 3 ส่วน คือ 1. เปลี่ยนแนวความคิดของบุคลากร เสริมสร้างการเรียนรู้และทักษะการทำงาน โดยผนวกเข้ากับการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาทิ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการปฏิบัติงาน เพื่อกระจายความรู้ไปสู่บุคลากรอื่น ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภายในองค์กรได้มากยิ่งขึ้น

2. ออกแบบกระบวนการทำงานใหม่ๆ ให้ตอบสนองผู้ที่มาใช้บริการ ขจัดความสิ้นเปลืองและสูญเปล่าของทุกกระบวนการทำงานที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าใดๆ และส่วนสุดท้าย 3.หลังจากที่พัฒนาคนพร้อมกระบวนการทำงานเรียบร้อยแล้ว จึงสามารถเลือกเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้กับกระบวนการทำงานภายในโรงพยาบาลได้อย่างเหมาะสม

กลยุทธ์ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงการจัดการที่เป็นระบบของโรงพยาบาล ซึ่งแต่ละแห่งไม่สามารถบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง จึงจะต้องผนึกกับพันธมิตรทั้งองค์กรภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาออกแบบระบบใหม่ทั้งหมด ทำให้รู้ว่า กระบวนไหนที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ตรงจุดนั้นได้เต็มที่ หรือบางขั้นตอนสามารถตัดทิ้งได้หากไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนการนำเอไอ หุ่นยนต์เข้ามาช่วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อที่จะก้าวสู่การเป็น “โรงพยาบาลอัจฉริยะ” ได้สำเร็จ

“เราบูรณาการระบบบริหารจัดการภายในโรงพยาบาลที่ถือเป็นหัวใจสำคัญ โดยเปิดทำการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการแพทย์ โดยร่วมมือกับสตาร์ทอัพทั้งรายเล็กและรายใหญ่ เพื่อให้ได้สินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนเป็นหลัก ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น”

นายแพทย์อนุวัตร กล่าวในการสัมมนาหัวข้อ “Smart Hotpital เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการเชื่อมโยงระบบข้อมูลกับโรงพยาบาล” ในงาน Thailand Tech Show 2019 เป็นเสมือนกุญแจสำคัญที่รวบรวมข้อมูลในการพลิกโฉมวงการแพทย์ไทยให้ก้าวสู่การเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะผ่านการบริการจัดการอย่างเป็นระบบ

สมดุลระหว่าง ‘การรักษา’ กับ ‘รายได้’

นอกจากนี้ยังได้ออกแบบขั้นตอนการทำงานใหม่เป็น 3 ขั้นตอนหลัก อันดับแรกคือ การรักษาจะเริ่มตั้งแต่ก่อนเข้ารับการรักษา ไม่ว่าจะเป็น หน่วยรถเคลื่อนที่ การติดต่อสื่อสารต่างๆ เมื่อได้รับเหตุฉุกเฉินหรือสอบถามข้อมูล กระทั่งขั้นตอนการรักษาที่ต้องมีหน่วยแพทย์และอุปกรณ์ที่พร้อมให้การรักษาเป็นได้อย่างทันท่วงที ส่วนขั้นตอนสุดท้ายในการดูแลหลังการรักษา จะมีหน่วยแพทย์ชุมชนแวะเวียนดูอาการ หรือติดตามสอบถามอาการผ่านการสนทนาระยะไกล

อันดับถัดมา การบริหารจัดการภายในโรงพยาบาล โดยทำงานเป็นแผนกตั้งแต่เริ่มต้นการหาเวชภัณฑ์ต่างๆ มาเก็บอย่างเป็นระบบ จนสิ้นสุดกระบวนการคือส่งถึงมือผู้มาใช้บริการ ซึ่งทั้งหมดของกระบวนต้องคำนึงถึงคุณภาพ และความพึงพอใจของคนไข้เป็นหลัก

สุดท้ายคือเรื่องของระบบไอทีที่ออกแบบให้เข้ากับการบริหารจัดการต่างๆ ด้วยการใช้เอไอและบิ๊กดาต้าในการรวบรวมข้อมูลแทนกระดาษ ส่งผลให้โรงพยาบาลสามารถดูข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยหรือดูแลรักษาได้อย่างต่อเนื่องผ่านสมาร์ทดีไวซ์

นายแพทย์อนุวัตร กล่าวสรุปว่า โดยหลักแล้ว โรงพยาบาลอัจฉริยะจะช่วยให้ผู้ป่วยมีประสบการณ์ที่ดีกับโรงพยาบาล สามารถให้บริการนอกพื้นที่โรงพยาบาลได้ และบุคลากรทางการแพทย์ไม่ต้องอุดอู้อยู่ในห้องตรวจสี่เหลี่ยมอีกต่อไป นับเป็นการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาการรักษา และการดำเนินงานในด้านการบริหารรายได้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยโดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก