‘เอไอ’ ผู้ช่วยเบอร์หนึ่ง ปฏิวัติวงการแพทย์
อัพเดตการใช้เทคโนโลยีเอไอช่วยวินิจฉัยโรคในงาน 'เมดิคัลแฟร์ไทยแลนด์' ทั้งทำหน้าที่ผู้ช่วยจักษุแพทย์ ตรวจคัดกรองเบาหวานขึ้นตา อ่านฟิล์มเอกซเรย์ปอดลดเวลาการตรวจคัดกรองผู้ป่วยวัณโรค และวิเคราะห์ผลตรวจในแล็บพยาธิวิทยาลดเวลาเหลือไม่ถึง 1 นาที
บทบาทของ 'เอไอ' หรือ 'ปัญญาประดิษฐ์' กับบริการทางการแพทย์จะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวน องค์กรที่ปรึกษาทางธุรกิจและวิจัยระดับโลก ระบุว่า ตลาดเอไอด้านดูแลสุขภาพจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 40% ในปี 2564 เนื่องจากเอไอมีศักยภาพในการเพิ่มผลลัพธ์ในการดูแลสุขภาพถึง 40%
ไม่ใช่แข่งขัน แต่โตไปพร้อมกัน
ผศ.นพ.สุชิน วรวิชชวงษ์ หัวหน้าหน่วยจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เอไอเข้ามามีบทบาทในทางพยาธิวิทยานานแล้ว ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การตรวจเลือดเพื่อดูสารเคมีต่างๆ ในร่างกาย จากอดีตที่ต้องรอการวินิจฉัยนานเป็นชั่วโมงเนื่องจากใช้ระบบอนาล็อก แต่เมื่อมีเอไอเข้ามาพร้อมด้วยระบบดิจิทัลทำให้สามารถประมวลผลเซลล์ได้เพียง 15 วินาที อีกทั้งมีศักยภาพในการจัดเรียงโครโมโซมไม่ถึง 1 นาที พร้อมแสดงผลผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่แพทย์มีติดตัว
ส่วนในแง่ธุรกิจการตรวจวินิจฉัยโรคทางพยาธิวิทยาค่อนข้างใหญ่ มูลค่าตลาดในแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ และกำลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าตัวภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 13% ต่อปี ถือว่าค่อนข้างสูง โดยส่วนใหญ่การเติบโตจะอยู่ในแถบอเมริกาเหนือ ส่วนเอเชียนั้นไทยติดอันดับ 1 ใน 3 แสดงให้เห็นถึงการเติบโตด้านพยาธิวิทยาพอสมควร
ผศ.นพ. ณวพล กาญจนารัณย์ หัวหน้าหน่วยเบาหวานจอประสาทตา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เอไอช่วยจักษุแพทย์คัดกรองโรคเบาหวานขึ้นจอตาผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือที่มีชื่อว่า “ดีฟอาย” ช่วยคัดกรองเคสที่ปกติออกไปจากเคสที่ผิดปกติ เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนในการรักษาต่อไป จากเดิมใช้การคัดกรองด้วยจักษุแพทย์ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอตามโรงพยาบาลชุมชนทั่วไป โดยดีฟอายจะช่วยลดระยะเวลาในการคัดกรองเบื้องต้น
เทคโนโลยีเหล่านี้จะมีประโยชน์เมื่อไปอยู่ตามโรงพยาบาลชุมชนหรือสถานีอนามัย ขณะเดียวกันกำลังพัฒนากล้องถ่ายภาพแบบมือถือเพื่อใช้คัดกรองโรคเบาหวานขึ้นจอตาในบ้านผู้ป่วยได้เลย พร้อมแสดงผลผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนด้วยความแม่นยำประมาณ 90% ประมวลผลได้ไม่เกิน 1 นาที ซึ่งปัจจุบันได้นำร่องใช้แล้วในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ม.ธรรมศาสตร์
ผศ.นพ. กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เอไอถูกนำมาใช้เพื่อคัดกรองวัณโรค เนื่องจากวัณโรคเป็นโรคติดเชื้อที่ยังคงเป็นอีกหนึ่งปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญระดับโลก และไทยเป็นประเทศที่มีอุบัติการณ์ของวัณโรคสูง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่แออัดอย่างในเรือนจำ
การตรวจคัดกรองและเอกซเรย์ปอดโดยใช้แพทย์เฉพาะทางยากต่อการวินิจฉัย จึงได้พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์แบบ Deep Convolutional Neural Network มาช่วยคัดกรองภาพถ่ายรังสีปอดเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อวัณโรคเชิงรุก นับว่าเป็นประวัติการของไทยที่มีการนำเอไอมาใช้ควบคุมโรคติดเชื้อได้อย่างตรงจุด พร้อมทั้งคาดว่าในอนาคตจะมีการพัฒนาโปรแกรมอื่นๆ และหากเป็นไปได้ก็จะมีการนำไปติดตั้งในจุดตรวจคนเข้าเมืองของไทยอีกด้วย
เมื่อ ‘เอไอ’ดูแลสุขภาพเราได้
เอไอ มีความสามารถหลากหลายตั้งแต่การทำงานง่ายๆ ไปจนถึงการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน จึงไม่แปลกที่จะถูกนำมาใช้ในวงการต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ “วงการแพทย์” ที่มีการเพิ่มขึ้นของข้อมูลในฐานอย่างรวดเร็วจากผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการการรักษาไม่ต่ำกว่า 1 พันคนต่อแห่ง
ศ.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง นายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์แห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจภายในการประชุมวิชาการกลางปี สมาคมเวชสารสนเทศไทยสำหรับผู้บริหาร ภายใต้หัวข้อ “AI In Healthcare ประเทศไทย” ในงานเมดิคัล แฟร์ ไทยแลนด์ 2019 ว่า เอไอได้รับการพัฒนาต่อยอดเพื่อดูแลสุขภาพแบบครบวงจร ทั้งด้านการตรวจสุขภาพ การวิเคราะห์ วินิจฉัย การค้นคว้าวิจัยทางด้านยาและการแพทย์ แต่ต้องอาศัยการป้อนข้อมูล ความรู้ต่างๆ เข้าไปจนเกิดกระบวนการความคิดด้วยตัวเอง
“เมืองไทยเราตื่นตัวมากที่จะใช้เอไอในการวิเคราะห์วินิจฉัย เนื่องจากมีสัดส่วนความแม่นยำ 70-80% แต่ในอนาคตจะมีการพัฒนาให้สามารถทำงานได้แม่นยำถึง 100% ถ้าหากทำงานร่วมกับมนุษย์มากขึ้นจนเกิดการเรียนรู้ และเริ่มวิเคราะห์เอง ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจจะเกิดการร่วมมือกันของเอไอในแต่ละศาสตร์”