กสทช.ลุยเวิร์กช้อปเอไอหนุน5จี
ถกไอทียูหน่วยงานต่างชาติกำหนดทิศทางเทคโนโลยี
กสทช.จัดสัมมนาหาโมเดลคนต้นแบบรับมือเอไอ-ไอโอที หนุน 5จีที่กำลังเปลี่ยนโลก เชื่อส่งผลกระทบด้านดีกับดิจิทัลอีโคโนมีของประเทศ เผยสาเหตุผลักดัน 5จีให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยใช้ “นายกฯ” เป็นประธานเพราะไม่อยากให้เรื่องนี้ล่าช้าหวั่นไทยเสียเปรียบ ชี้ภายในเดือนพ.ย.นี้จะต้องได้ข้อสรุปการจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งหมดมาประมูล 5จีในทุกย่านความถี่
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการเอ็นบีทีซี-ไอทียู-เอ็นไอเอ เซ็นเตอร์ ออฟ เอ็กเซลเลนท์ 2019 ว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ร่วมกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติเกาหลี จัดงานสัมมนาเพื่อการพัฒนาบุคลากรด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในประเด็นสำคัญ อาทิ 1.การใช้ประโยชน์จากเอไอ 2.ปัญญาอุปสรรคจากการนำไปใช้งาน
โดยการประชุมดังกล่าวมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกภูมิภาคต่าง ๆ ทั้ง 5 ภูมิภาคทั่วโลก อาทิ อเมริกา ยุโรป แอฟริกา อาหรับ และเอเชียแปซิฟิก ที่มาร่วมเสนอ แนะแนว เกี่ยวกับนโยบาย หรือดำเนินโครงการความร่วมมือต่างๆ ตลอดจนร่วมกันพิจารณากำหนดแผนงานและโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม และเพื่อกำหนดทิศทางของแนวนโยบายของการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร และกำกับดูแลโทรคมนาคมขององค์กรแต่ละหน่วยงานที่ดูแล
เขา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ได้แก่ 5จี,อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที),บล็อกเชน,บิ๊ก ดาต้า,คลาวด์,ดิจิทัล แพลตฟอร์ม และ เอไอ ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้มีบทบาทที่สำคัญต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงผ่านเทคโนโลยีไปสู่ดิจิทัล ที่จะเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่กล่าวมานั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อภาคส่วนไอซีที และส่งผลต่อภาคส่วนสาธารณสุข เกษตรกรรม การคมนาคม การค้า และระบบการเงิน ที่จะมาเปลี่ยนแปลงช่วยพัฒนาศักยภาพและความสามารถของประชากรและองค์กรต่าง ๆ ภายในประเทศไทยให้เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
สำหรับสาเหตุที่ต้องผลักดันการขับเคลื่อน 5จี ให้เป็นวาระแห่งชาติ และมีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จีระดับชาติ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นั้น เนื่องจากหลายประเทศ อาทิ สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย มีความพยายามผลักดันการขับเคลื่อน 5จี โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จี ระดับชาติเช่นกัน จึงไม่อยากให้เรื่องนี้ล่าช้า ซึ่งไทยจะเกิดความเสียเปรียบ
อย่างไรก็ดี การประมูลคลื่นความถี่ครั้งต่อไป จะเกิดขึ้นในช่วงม.ค. 2563 ซึ่งเป็นจัดการประมูลล่วงหน้า ในรูปแบบการประมูลมัลติแบนด์ ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 700, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 26-28 กิกะเฮิรตซ์ ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 1800, 3500 เมกะเฮิรตซ์ จะจัดการประมูลลำดับถัดไป ภายในเดือนพ.ย.นี้ จะต้องได้ข้อสรุปการจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งหมด โดยการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ จากบมจ.อสมท จะได้ข้อสรุปแล้ว ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ ที่ปัจจุบันอยู่ในการถือครองของบมจ.ไทยคม เพื่อให้บริการในดาวเทียมไทยคม 5 จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 11 ก.ย.2564 ทำให้คลื่นความถี่จะพร้อมใช้งานได้หลังจากนั้นและไทยคมจะต้องย้ายไปใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 3700-4200 เมกะเฮิรตซ์แทนเพื่อไม่ให้ลูกค้าได้รับผลกระทบ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-กสทช. คืนเงินเยียวยา อสมท. 161 ล้านบาท
-กสทช.เรียกผู้ประกอบการระดมความคิดเห็นจัดเรตติ้งใหม่
-กสทช.เอาแน่ปักธง 5จี ปลายปี 63
-กสทช.ฟื้นไอเดียเก็บภาษี“โอทีที”