‘นักอนาคตศาสตร์’ตบเท้าเข้าไทย เสาะหาไอเดียรับมือโลกเปลี่ยน
นักอนาคตศาสตร์ นักคิดและนักนโยบาย 120 คนจาก 20 ประเทศกลุ่มเอเชียแปซิฟิกเดินทางเข้าไทย ร่วมเวทีระดมสมองฉายภาพอนาคตของอาเซียนปี 2573 ทั้งด้านวัฒนธรรม เทคโนโลยีและความปลอดภัยในอาเซียน-เอเชียแปซิฟิก
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเอ็นไอเอ ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Asia-Pacific Futures Network Conference (AFPN) เป็นปีที่ 2 ภายใต้แนวคิด ASEAN 2030 สนับสนุนศาสตร์ด้ายการมองอนาคต เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการออกแบบแนวทางแก้ปัญหา และเตรียมความพร้อมสำหรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต
พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการเอ็นไอเอ กล่าวว่า ประเทศชั้นนำอย่างสิงคโปร์ ฟินแลนด์ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เกาหลี รวมถึงมาเลเซีย ต่างให้ความสำคัญต่อ “การมองอนาคต” มาเป็นเครื่องมือกำหนดนโยบายการพัฒนาระยะยาว ประกอบกับปัจจุบันองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนหลายแห่งต่างให้ความสนใจกับการมองอนาคต และฝึกฝนทักษะให้กับนักยุทธศาสตร์และนักนโยบายในการนำมาปรับใช้ ด้วยเหตุนี้ เอ็นไอเอจึงจัดตั้ง “สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม” (Innovation Foresight Institute : IFI) มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบนิเวศด้านการมองอนาคตในประเทศไทยให้เข้มแข็ง รวมถึงการนำมาใช้ระบุโอกาสและความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพื่อช่วยในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์และการจัดการระบบนิเวศนวัตกรรมของประเทศ
“เราเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ส่วนหนึ่งเพราะเริ่มเปิดสถาบันฯ ซึ่งหน้าที่หลักเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างประชาคมด้านการมองอนาคต มีการทำงานร่วมกับเครือข่ายในเอเชียแปซิฟิก พบว่า ส่วนใหญ่เน้นโครงสร้างอนาคตระยะยาว 10-20 ปีขึ้นไป ขณะที่ไทยวางแผนอนาคตเพียง 5 ปีเท่านั้น"
เวทีประชุมนี้อาจจะยังไม่ส่งผลไปถึงแนวปฏิบัติ แต่จะทำให้ได้ภาพในอนาคตว่า หน้าตาจะเป็นอย่างไร หากเป็นด้านลบในเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม ก็จะมีแนวทางป้องกัน เตรียมรับมือหรือแก้ปัญหาอย่างไร เมื่อได้ภาพในอนาคต เราจึงสามารถพัฒนาเป็นโครงการ และผนึกกำลังองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อคิดค้นโครงการใหม่ขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เริ่มมีการมองภาพรวมของประเทศก็เริ่มมีภาคเอกชนสนใจมองถึงธุรกิจในอนาคตเช่นกัน แม้เมืองไทยเพิ่งเริ่มต้นแต่ก็แสดงถึงนิมิตหมายที่ดีของการเปลี่ยนแปลงประเทศ โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักรับรู้ในทุกภาคส่วน
ด้าน Jost Wagner กรรมการผู้จัดการ The Change Initiative กล่าวว่า ปัจจุบันหลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนกำลังเผชิญกับข้อจำกัดในการวางแผนกลยุทธ์และนโยบาย ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี สังคมและสภาวะแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด ดังนั้น หากต้องการอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับตัวเองและคนรุ่นต่อๆไป การมองอนาคต จะเป็นหนึ่งในทักษะการเป็นผู้นำที่สำคัญ การมองอนาคตเป็นเครื่องมือช่วยในการวางแผนกลยุทธ์และนโยบาย เพื่อให้สามารถออกแบบภาพอนาคตที่คาดหวังได้ รวมถึงคาดการณ์อนาคตที่ไม่พึงปรารถนาเพื่อเตรียมการป้องกัน โดยในช่วงที่ผ่านมา องค์กรนานาชาติชั้นนำอย่าง ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ต่างหันมาใช้การมองอนาคตเป็นเครื่องมือในการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ มากขึ้น เพื่อนำการมองอนาคตไปช่วยผู้กำหนดนโยบายให้ได้ไตร่ตรองกับการออกนโยบาย และสามารถพิจารณาตัดสินใจตัวเลือกนโยบายที่เหมาะสมที่จะนำไปสู่การพัฒนาภาพอนาคตที่ต้องการได้
ขณะที่ ลอยด์ วัฒนโฆวรุณ กรรมการบริหารบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า ถึงแม้การมองอนาคตจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับอนันดา แต่ด้วยวิสัยทัศน์และนโยบายที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม และบทบาทในการสนับสนุนระบบนิเวศสตาร์ทอัพของประเทศ จึงมองว่าการมองอนาคตเป็นสิ่งที่สามารถนำมาสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานด้านอสังหาริมทรัพย์ได้เป็นอย่างดี เพราะในมุมหนึ่ง “นวัตกรรม” ถือเป็นสิ่งขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ขณะที่อีกมุมหนึ่ง “นวัตกรรม” ถือเป็นเครื่องในการแก้ปัญหาภาพอนาคตที่ไม่พึงปรารถนา ภาพอนาคตที่ได้รับการพัฒนาจากกระบวนการมองอนาคต จึงจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการมุ่งสู่วิสัยทัศน์และนโยบายของบริษัท และถือเป็นโอกาสดีที่ทุกภาคส่วนจะสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านการมองอนาคตจากนานาชาติได้อย่างตรงจุด