ReCute มช.ส่ง "ระบบจับคู่ออเดอร์ขยะ" คว้า 3 รางวัลใหญ่
นักศึกษา ม.เชียงใหม่ ออกแบบแพลตฟอร์มจับคู่ออเดอร์ขยะระหว่างโรงงานรีไซเคิลกับร้านรับซื้อของเก่า หนุนผู้ซื้อกับผู้ขายได้สินค้าตรงตามต้องการ ระบุมีศักยภาพสูงสร้างเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพจริง คว้า 3 รางวัลใหญ่ 3 เวทีจากดีป้า เอ็นไอเอและมหาวิทยาลัยต้นสังกัด
นายศุภเลิศ ว่องกุลกิจ นักศึกษาระดับปริญญาตรี ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) พร้อมเพื่อนร่วมทีม ReCute จากสาขาการเงินและการธนาคาร คณะบริหารธุรกิจ นำเสนอระบบจับคู่ออเดอร์ (Matching order) ขยะระหว่างโรงงานรีไซเคิลกับร้านรับซื้อของเก่า ลงแข่งขัน 3 เวทีใหญ่ส่งเสริมวงการสตาร์ทอัพ ผลปรากฏคว้าได้ทั้ง 3 รางวัล
“ระบบจับคู่ออเดอร์” คือแพลตฟอร์มบริหารจัดการโลจิสติกของขยะรีไซเคิล เชื่อมโยงการบริหารจัดการของร้านรับซื้อของเก่า จนกระทั่งคัดแยกส่งให้โรงงานรีไซเคิลขยะ โดยแบ่งระบบเป็น 2 ส่วนใหญ่ ส่วนแรกเป็น POS สำหรับบริหารร้านรับซื้อของเก่าชื่อว่า RecycleStory เป็นโปรแกรมช่วยให้ร้านรับซื้อของเก่าทราบปริมาณสินค้าคงคลัง ซึ่งแสดงสัดส่วน ประเภทสินค้าพร้อมขาย รวมถึงการออกบิล เป็นต้น ส่วนที่สอง ReQore Matching เป็นแพลตฟอร์มของโรงงาน ทำหน้าที่จัดหาสินค้าให้ตรงตามความต้องการ ทั้งสองส่วนเชื่อมต่อกันเพื่อจับคู่คำสั่งซื้อจากโรงงาน และสินค้าจากร้านรับซื้อของเก่า ซึ่งเมื่อนำไปใช้จริงส่งผลให้การบริหารงานของร้านขายของเก่าและโรงงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยสามารถใช้งานระบบได้ทุกที่ทุกเวลา ทั้งยังใช้เก็บข้อมูลปริมาณสินค้า ตลอดจนเกิดความคล่องตัวในการระบายสินค้าของร้านขายของเก่าด้วย
“แพลตฟอร์มนี้ออกมาเพื่อที่จะให้โรงงานหาออเดอร์ที่ต้องการให้ตรงกับร้านรับซื้อของเก่าที่จะต้องการขาย โดยมีฟังก์ชั่นที่จะให้ทางโรงงานสามารถแจ้งออเดอร์ที่ต้องการเข้ามาในระบบ จากนั้นระบบก็จะจัดการหาสินค้าตามที่โรงงงานต้องการ”
ผลงานของทีม ReCute ได้รับรางวัลจาการแข่งขั้นทั้งสิ้น 3 เวทีใหญ่ ได้แก่ รางวัล Outstanding Performance จากงาน Jumpstart Warm Up Day @ Chiang Mai 2019 จัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น และสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (TTSA) โดยทางดีป้าพร้อมส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการต่อยอดทางธุรกิจ, รางวัลชนะเลิศ Business Brotherhood CMU 2019 โดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้โครงการอินโนเวทีฟ สตาร์ทอัพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นอกจากนี้ยังเข้าประชันในสตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ ลีก 2019 การประกวดโมเดลธุรกิจสตาร์ทอัพสำหรับนักศึกษา มีทีมผู้เข้าร่วมแข่งขันทั่วประเทศกว่า 500 ทีม 35 มหาวิทยาลัย สนับสนุนงบประมาณจัดงานโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ปรากฏว่า ReCute เป็นผู้ชนะเลิศระดับภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศในที่สุดในประเภทอุตสาหกรรม (Industrial Tech) งานสตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ ลีก เป็นอีกกลไกหนึ่งของภาครัฐในการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ ผ่านการสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นหรือสตาร์ทอัพโดยเฉพาะในกลุ่มเทคสตาร์ทอัพ โดยมุ่งหวังให้มีศักยภาพในการสนับสนุนการพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ดีป้าถกยักษ์ไอทีเร่งปั้นคนดิจิทัลตั้งเป้า 5 ปี 2 แสน
-ดีป้า ปั้นต้นแบบผู้ประกอบการ EEC
-ดีป้าเผย 7 เทคโนโลยีแห่งอนาคต
-ดีป้า ดึงลงทุนดิจิทัล 1.8 หมื่นล.