พลิกคุณค่าเพิ่มมูลค่า ‘งานคราฟท์’
"สุวิทย์" หรือลุงอ้า ในแวดวงนักออกแบบหยิบ 2 ชิ้นงานเฟอร์นิเจอร์จาก Sumphat Gallery มานำเสนอถึงการนำต้นทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานที่มีอัตลักษณ์
ต้นทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ อีกหนึ่งอัตลักษณ์ชุมชนที่สามารถผลักดันให้เกิดงานสร้างสรรค์ จากผลิตภัณฑ์ที่คุ้นตาเคยชินกลายเป็นชิ้นงานที่มาก “มูลค่า” สะท้อน “คุณค่า” และบอกเล่า “เรื่องราว” ของทักษะงานช่างฝีมือนั้น ๆ สัมผัสแกลเลอรี (Sumphat Gallery) คืออีกหนึ่งพื้นที่สร้างสรรค์ที่นำทักษะงานช่างฝีมือมาพลิกแนวคิดต่อยอดเป็นงานศิลปะ ผ่านงานออกแบบตามปรัชญาแนวคิด Wabi Sabi ของประเทศญี่ปุ่นที่สะท้อนสุนทรียภาพแห่งความเรียบง่าย ไม่ยึดติดในความสมบูรณ์แบบ และยอมรับในริ้วรอย และความผุกร่อนของสรรพสิ่งที่เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา
วันนี้ขอนำสองผลงานจาก Sumphat Gallery มาให้คุณผู้อ่านได้เห็นถึงแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากทักษะงานช่างฝีมือ ชิ้นแรกเป็นงานออกแบบเก้าอี้ภายใต้ชื่อ “สิทสาด” โดย รัฐ เปลี่ยนสุข นักออกแบบได้นำประสบการณ์ที่เดินทางไป จ.ขอนแก่นกับการพัฒนาชุมชนกระทรวงมหาดไทย โดยนำสาดหรือเสื่อ ที่มูลค่าชิ้นงานค่อนข้างต่ำแต่ใช้เวลาผลิตค่อนข้างนาน มาปรับเป็นลวดลายบนเก้าอี้นั่งที่เน้นต้นทุนทางวัฒนธรรมของความสนุกสนาน และสีสันที่สดใสของความเป็นอีสานได้อย่างลงตัว เพื่อให้ผู้บริโภคซาบซึ้งไปกับวัฒนธรรมอีสาน
ชิ้นที่สองกับผลงานคอลเลคชั่น พนจร (Panajon) ที่ตีความจากภาพธรรมชาติในศิลปะลายรดน้ำไทยที่พูดถึงการชมป่า ผลงานชุดนี้เป็นผลงานทองเหลืองหล่อผสมกับการกัดลายบนผิวโลหะ เล่าเรื่องราวของผืนดิน และความประทับใจในธรรมชาติซึ่งปัจจุบันกลายเป็นเพียงความทรงจำ ชิ้นงานชุดแจกัน เชิงเทียนซอลิฟอร์ โต๊ะกลางเราฟอร์เรส และโต๊ะสูงนูนิฟาร์ พูดถึงการเดินทางท่องเที่ยวในป่าดิบชื้น ผ่านดงเถาวัลย์ที่มีงูแอบซ่อน ทิวดอกไม้ริมลำน้ำ และบึงที่เต็มไปด้วยใบบัวขนาดเล็ก โดยความทรงจำดังกล่าวถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นผลงานทองเหลืองหล่อให้มีความงดงาม และถาวร
อีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยนำต้นทุนทักษะงานช่างมือของไทยมาปรับแนวคิด ผ่านกระบวนการคิดสร้างสรรค์พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปตกแต่งบ้านได้อย่างร่วมสมัย