ธุรกิจเอเชียเขย่าโครงสร้าง รับเศรษฐกิจออนดีมานด์
พฤติกรรมผู้บริโภคที่ว่า “ฉันต้องการสินค้าเดี๋ยวนี้” กระทบต่อซัพพลายเชนทั้งด้านผลิต ค้าปลีก ระบบคลังสินค้า
“ซีบรา” ชี้มากกว่าครึ่งของผู้นำธุรกิจที่มีอำนาจตัดสินใจด้านคลังสินค้าวางแผนเปลี่ยนการทำงานบางส่วนเป็นระบบอัตโนมัติและนำระบบเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มขีดความสามารถของพนักงานภายในปี 2567
ซีบรา เทคโนโลยีส์ ผู้นำด้านนวัตกรรมผ่านโซลูชั่นที่ทันสมัยและเครือข่ายคู่ค้าที่ครอบคลุมเพื่อเสริมประสิทธิภาพให้องค์กรยุคใหม่ เผยผลสำรวจเกี่ยวกับ เทรนด์ในอนาคตด้านการจัดการคลังสินค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Warehousing Asia Pacific Vision Study)
ผลสำรวจดังกล่าวเป็นการศึกษาสำรวจข้อมูลจากผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจด้านไอทีและระบบปฏิบัติงานตั้งแต่อุตสาหกรรมการผลิต, การขนส่งและโลจิสติก, ค้าปลีก, การจัดส่งทางไปรษณีย์และพัสดุและการกระจายสินค้าวิเคราะห์ถึงกลยุทธ์ปัจจุบันและแนวทางในการวางแผนในการพัฒนาคลังสินค้า, ศูนย์กระจายสินค้า และฟูลฟิลล์เมนท์ เซ็นเตอร์
“อิ๊ก จิน ทาน” ผู้จัดการฝ่ายเวอร์ติคอลโซลูชั่น อุตสาหกรรมการผลิต การขนส่ง และโลจิสติกส์ ประจำเอเชียแปซิฟิก ซีบร้า กล่าวว่า การจัดการด้านคลังสินค้า, การกระจายสินค้า และบริการด้านฟูลฟิลล์เมนท์ กำลังก้าวเข้าสู่รูปแบบการปฏิวัติครั้งใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นในยุคเศรษฐกิจออนดีมานด์
ปัจจุบันผู้นำด้านจัดการคลังสินค้าหันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อต่อสู้กับความท้าทายทางธุรกิจ ผลมาจากการพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก
ภายในปี 2567 ผู้นำด้านการจัดการคลังสินค้าจะมุ่งเน้นใช้โซลูชั่นการทำงานแบบบูรณาการเพื่อสร้างระบบการทำงานของข้อมูลที่สมดุลกันระหว่างพนักงานและระบบอัตโนมัติในคลังสินค้า
“ฟูลฟิลล์เมนท์” สู่ยุคใหม่
การสำรวจเกี่ยวกับกลยุทธ์ด้านการจัดการฟูลฟิลล์เมนท์ที่หลายองค์กรกำลังให้ความสำคัญเพื่อรับมือกับการเติบโตของเศรษฐกิจแบบออนดีมานด์พบว่า อีก 5 ปีข้างหน้า ผู้มีอำนาจตัดสินใจจะวางแผนให้ความสำคัญระบบอัตโนมัติ ระบบเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถพนักงาน และกำลังวางแผนขยายคลังสินค้าภายในปี 2567 และเพิ่มจำนวนคลังสินค้าในช่วงเดียวกัน
ศิวัจน์ โรจนเต็มศักดิ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย ซีบรา เทคโนโลยีส์ กล่าวว่า ผู้บริโภคปัจจุบันค้นหาสินค้าและซื้อสินค้าตลอด 24 ชั่วโมง พฤติกรรมผู้บริโภคที่ว่า “ฉันต้องการสินค้าเดี๋ยวนี้” ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนทั้งในด้านการผลิต ค้าปลีก และระบบปฏิบัติการคลังสินค้า ให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที
ผลสำรวจของซีบราพบว่า 49% ของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเผยว่าความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตธุรกิจ ขณะที่ ในปี 2567 ระบบอัตโนมัติจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากกว่าเข้ามาแทนที่พนักงาน
อย่างไรก็ตาม 57% ของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจวางแผนเปลี่ยนการทำงานบางส่วนเป็นระบบอัตโนมัติและนำระบบเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มขีดความสามารถของพนักงานในจัดการคลังสินค้า
ขณะที่ การบริหารจัดการโดยพนักงานเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความสมดุลของระบบคลังสินค้า โดยต้องการใช้ระบบทำงานอัตโนมัติจัดการในบางส่วน และ 27% ต้องการใช้ระบบการทำงานร่วมกัน (พนักงานทำงานร่วมกับอุปกรณ์ดีไวซ์)
จับตา “หุ่นยนต์” ตัวแปรสำคัญ
ภายในปี 2567 ผู้มีอำนาจตัดสินใจ คาดว่า จะใช้หุ่นยนต์เพื่อจัดการสินค้าคงคลังขาเข้า (27%) การบรรจุภัณฑ์ (24%) และสินค้าที่อยู่ในระหว่างการขนส่ง/การรับสินค้า (21 %)
การวางแผนกลยุทธ์ด้านฟูลฟิลล์เมนท์และการปฏิบัติงานยังคงมีบทบาทสำคัญมากที่สุดในการรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ในระบบคลังสินค้า
ขณะที่ การใช้ประโยชน์ด้านไอที/เทคโนโลยีถือเป็นความท้าทายด้านการปฏิบัติงานที่ใหญ่ที่สุด รวมถึงการเพิ่มผลลัพธ์ระยะยาวสำหรับระบบการตรวจสอบสถานะสินค้า, เครื่องแนะนำการดำเนินงานอัตโนมัติแบบเรียลไทม์ และการวิเคราะห์เชิงข้อมูลเพื่อขับเครื่องธุรกิจ เมื่อคลังสินค้าขยายพื้นที่เพิ่มมากขึ้น
เทคฯใหม่หนุนศก.ออนดีมานด์
อย่างไรก็ตาม ความรวดเร็วจัดส่งสินค้า เป็นปัจจัยหลักที่สำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจคลังสินค้า จำนวน 3 ใน 4 ของผู้ที่มีอำนาจการตัดสินใจมีแผนปรับปรุงการดำเนินงานระบบคลังสินค้าให้มีความทันสมัย เพื่อข้อได้เปรียบในเชิงแข่งขันยุคเศรษฐกิจแบบออนดีมานด์
คาดว่า ภายในปี 2567 การทำงานแบบทันสมัยนี้จะถูกขับเคลื่อนโดยคอมพิวเตอร์พกพาระบบแอนดรอยด์โซลูชั่น คิดเป็นสัดส่วนราว 90% ระบบระบุตำแหน่งแบบเรียลไทม์ 60%
นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ภายในปี 2567 จำนวน 87% ของผู้ตอบแบบสอบถามวางแผนใช้ระบบอุปกรณ์แบบพกพา ให้การทำงานพนักงานในคลังสินค้ามีประสิทธิภาพ ทั้งวางแผนลงทุนใช้สมาร์ทวอทช์, แว่นตาอัจฉริยะ และอุปกรณ์ดีไวซ์พกพาแบบคาดเอว