RISE เร่งสปีดองค์กรไทย สร้างเครือข่ายหนุนใช้ AI Robotics
RISE เร่งสปีดขับเคลื่อนองค์กร ไทยด้วย ดีพเทค AI Robotics นำทัพพันธมิตร คอร์ปอเรท-เทคสตาร์ทอัพแลกเปลี่ยนมุมมองเมกะเทรนด์ทางเทคโนโลยีทั้งด้านการแพทย์ การเกษตร และพลังงาน
RISE เร่งสปีดขับเคลื่อนองค์กรด้วย “ดีพ เทค” พร้อมนำทัพพันธมิตรคอร์ปอเรท-เทคสตาร์ทอัพแลกเปลี่ยนมุมมองเมกะเทรนด์ทางเทคโนโลยีทั้งด้านการแพทย์ การเกษตร และพลังงาน อัพเดตนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้พัฒนาอุตสาหกรรมผ่าน หุ่นยนต์อัจฉริยะ และ ไอโอที หวังกระตุ้นจีดีพีของไทยและอาเซียนโตเพิ่ม 1% ภายใน 5 ปี
“ในฐานะที่เป็นสถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร พบว่า การที่จะพัฒนาองค์กรให้สามารถต่อยอดสู่อนาคตได้อย่างไม่หยุดนิ่งนั้น ต้องขับเคลื่อนองค์กรด้วย “เทคโนโลยีขั้นสูง (ดีพเทค)” โดยเฉพาะโรโบติกส์และไอโอทีที่นับเป็นเมกะเทรนด์แห่งยุคสามารถนำมาใช้ได้ในหลายๆ ด้าน” นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RISE กล่าวภายในงาน RISE Innovation Week 2019
ดีพเทค ขับเคลื่อนพลังงาน
พนัญญา เจริญสวัสดิ์พงศ์ Head of Innovation and Business Development, AI & Robotics Ventures Technology Incubator จาก ปตท.สผ (PTTEP) กล่าวว่า เรื่องของ AI Robotics และไอโอที เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความสำคัญต่อโลกธุรกิจอย่างเห็นได้ชัด สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในวงกว้างทั้งองค์กรในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ วงการเกษตร การศึกษา สุขภาพ หรือแม้กระทั่งพลังงาน
ARV จะมีการลงทุนในระยะแรกปี 2562- 2564 ประมาณ 1.6 พันล้านบาท มีเป้าหมายในการเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์ (Robotics) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในระยะเวลา 3-5 ปี โดยทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยจัดหานวัตกรรมให้แก่องค์กรต่างๆ โดยเน้นในแง่ของพลังงาน เช่น งานซ่อมบำรุง ส่วนการร่วมงานกับ RISE ในครั้งนี้เพราะยังขาดในส่วนของแง่มุมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากพลังงาน ทั้งเรื่องของการศึกษา เกษตรกรรม ขณะเดียวกันมีจุดมุ่งหมายที่อยากจะทำให้โรบอทฉลาดขึ้น คือสามารถวิเคราะห์ได้ด้วยตัวเอง เบื้องต้นขณะนี้มีองค์กรติดต่อใช้บริการในการคิดค้นโซลูชั่นให้ประมาณ 5-10 ราย ไม่ว่าจะเป็น หุ่นยนต์ใต้น้ำในการซ่อมบำรุงแทนการใช้คนเพื่อลดการเสี่ยงอันตราย ซึ่งนับเป็นตัวแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“การทำงานใต้ทะเล ซึ่งปกติต้องใช้แรงงานดำลงไปใต้น้ำซึ่งเสี่ยงอันตรายมาก โรบอทก็มาช่วยในการเพิ่มความปลอดภัย และดาต้าที่ได้มาก็นำมาวิเคราะห์แล้วก็มาดูว่า สมควรที่จะลงไปซ่อมหรือไม่ หรือแม้กระทั่งงานบนบกอย่างเช่นถ้าเรามีถังยักษ์ 1 ถัง ดูจากภายนอกอาจจะปกติ แต่การตรวจดูภายในก็ต้องใช้แรงงานปีนลงไปตรวจดู โรบอทสามารถปฏิบัติแทนได้ หรือจากเดิมใช้วิศวกร 3 คนตรวจเช็คว่า น้ำมันในหลุมสภาพดีหรือไม่ ใช้เวลาตลอดทั้งวันซึ่งเสียเวลามาก เราเปลี่ยนจากสิ่งนี้ให้กลายเป็นออโตเมชั่นให้เอไอช่วยดู โดยที่วิศวกรแทบจะไม่ต้องดู แต่จะมีหน้าที่เช็คและตัดสินใจ ทั้งนี้ อยากจะเห็นประเทศไทยเป็นเสมือนเซินเจิ้นของจีน ที่สามารถพลิกโฉมจากเมืองประมงให้กลายเป็นเมืองไอทีภายในระยะเวลาไม่กี่ปี ส่วนของความกังวลในการทำงานแทนคน เรามองว่ายิ่งหุ่นยนต์สามารถมาแทนคน จะทำให้คนเรามีเวลาไปบริหารความคิดมากขึ้น เพราะสิ่งที่โรบอททำไม่ได้คือความคิดสร้างสรรค์” พนัญญา กล่าว
เกษตรกรรมยุคเมกะเทรนด์
ปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวถึงการนำ AI และ Robotics มาใช้ในวงการเกษตรกรรมว่า เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ไอโอทีและบล็อกเชน เข้ามาแล้วในไทย เพียงแต่แอพพลิเคชั่นหรือการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรนั้นอาจจะยังมีไม่มาก แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะในอนาคตจะเกิดวิกฤติทางการเกษตรทั่วโลกอันเนื่องมาจากการเติบโตของประชากร โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2025 ประชากรทั่วโลกจะสูงถึง 1 หมื่นล้านคน ทำให้ความต้องการอาหารสูงขึ้น ส่งผลให้มีการผลิตอาหารมากขึ้นจากเกษตรกรสูงถึงร้อยละ 70 อีกทั้งสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยเกิดการแปรปรวน และได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติมากมาย รวมถึงการใช้พื้นที่ในการทำเกษตรกรรมในจำนวนที่ลดน้อยลง ปริมาณการปลูกผลิตผลทางการเกษตรจึงลดน้อยลงไปด้วยเพราะฉะนั้นเราจึงต้องนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย ในอนาคตไม่ว่าจะเป็น เอไอ โรบอท บล็อกเชน และไอโอที จะเข้ามาช่วยเติมเต็มตรงส่วนนี้มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต เอาเดต้ามาช่วยดูแลเรื่องดิน เรื่องอากาศ หรือเรื่องของการนำเทคโนโลยีแสง LED มาใช้ จะทำให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น 10-20 ปีเราจะเห็นภาพนี้เพิ่มขึ้นและเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้นอีกทั้งเรื่องโลจิสติกส์ก็จะเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น เรื่องความปลอดภัยของผลผลิตที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้แบบสมบูรณ์
ขณะเดียวกันสตาร์ทอัพสายนี้ก็มีน้อยมาก หรือมีเพียง 5-10 รายเท่านั้น สำนักงานฯ จึงต้องพัฒนาตรงนี้มากขึ้นร่วมเป็นเครือข่ายด้านสตาร์ทอัพด้านการเกษตร เพื่อพลิกโฉมวงการเกษตรของไทยให้มีโซลูชั่นมากขึ้น ส่งเสริมสนับสนุนช่วยให้เชื่อมต่อทั้งด้านเงินทุน และเข้าสู่อีโคซิสเต็มเพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาประเทศไทยได้ในที่สุด อย่างเช่นที่ผ่านมาได้สนับสนุนสตาร์ทอัพ EverGrow ผู้ให้บริการระบบอัตโนมัติสำหรับโรงเรือนทั้งในกลุ่มเกษตร ปศุสัตว์ และประมง โดยมุ่งเน้นไปในด้านการพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์บนเทคโนโลยีพื้นฐานด้วย IoT และ IBM Watson Machine Learning ช่วยให้ผู้บริหารฟาร์มสามารถควบคุมและตรวจสอบสภาพแวดล้อมได้แบบเรียลไทม์ ลดค่าใช้จ่ายในการจัดการและแรงงาน ถือได้ว่าสตาร์ทอัพในไทยนั้นมีอัตราการการเติบโตที่สูงมากซึ่งภาคเกษตรไทยหากได้รับการสนับสนุนอย่างตรงจุด ก็จะทำให้บรรดาสตาร์ทอัพเหล่านี้มีศักยภาพเพียงพอที่จะต่อยอดสู่การพัฒนาประเทศได้
AI และ Robotics เทคโนโลยีมาแรง ในวงการแพทย์
กะรัต ธนะบุญกอง ผู้จัดการศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ (MIND CENTER) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ในส่วนของแวดวงการแพทย์นั้นการนำ AI และ Robotics มาใช้มีอยู่อย่างแพร่หลาย ศูนย์พัฒนาฯ เปรียบเสมือน one stop service มีการบ่มเพาะตั้งแต่แนวความคิด มีวิศวกรออกแบบเทคโนโลยีต่างๆ ดูโมเดลธุรกิจ และเรื่องของสิทธิบัตร หากถามว่าทำไมต้องอยู่ที่โรงพยาบาล เนื่องจากการแพทย์ของไทยมีความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชากร อีกทั้งได้รับความนิยมจากต่างชาติอีกด้วย ขณะที่เรื่องเฮลท์แคร์นั้นภาพรวมถือว่าเป็นตลาดเนื้อหอมจึงมีการจ้างส่วนของสตาร์ทอัพที่จัดทำแอพพลิเคชั่นคอยดูเรื่องของตลาดกลุ่มจีน เกาหลี ถ้าไม่สามารถช่วงชิงตลาดนี้ได้อีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศอื่นๆ ก็จะยึดครองสัดส่วนในประเทศไทยไปทั้งหมด
"เราจึงพยายามขับเคลื่อนนวัตกรรม เทคโนโลยีของไทยออกมาเอง ไม่ว่าจะเป็น Medical robotic เช่น รองเท้าช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยพาร์กินสัน ซึ่ง 30% ของผู้ป่วยหากเดินแล้วจะเกิดการล้ม ผลงานที่บุคลากรในโรงพยาบาลได้คิดค้นรองเท้าที่จะมีเลเซอร์นำทางในการฝึกเดิน นับว่าประสบความสำเร็จในการทดลองใช้งานได้จริง แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาพาร์ทเนอร์เพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ต่อไป”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-RISE ร่วมกับพันธมิตรองค์กรธุรกิจชั้นนำ จัด RISE. AI
-RISE เปิดคอร์สพลิกมายด์เซ็ตซีอีโอสร้าง Intrapreneur
-RISE รวมพลผู้บริหารชั้นนำแลกเปลี่ยนกลยุทธ์ผลักดัน
-หุ่นยนต์ฝึกเดิน เทคโนโลยีล่าสุดที่ รพ.ประสาทเชียงใหม่