สดร. ฝันร่วม พระจอมเกล้าพระนครเหนือ สร้าง ดาวเทียม ฝีมือคนไทย
สดร. ฝันร่วม พระจอมเกล้าพระนครเหนือเตรียมสร้าง TSC-1 ดาวเทียมฝีมือคนไทยในอนาคต หลังจากลงนามความร่วมมือเสริมสร้างองค์ความรู้ด้าน วิศวกรรมดาวเทียม และ วิทยาศาสตร์อวกาศ เดินหน้าผลิตบุคลากร พัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือและเทคโนโลยีขั้นสูง
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ศ.สมฤกษ์ จันทร์อัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้าน วิศวกรรมดาวเทียม และ วิทยาศาสตร์อวกาศ เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างองค์ความรู้ในด้านวิศวกรรมดาวเทียมและวิทยาศาสตร์อวกาศ รวมถึงผลิตบุคลากรด้านดาวเทียมและวิทยาศาสตร์อวกาศที่มีความรู้ความสามารถขึ้นภายในประเทศ
บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ดังกล่าวมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมดาวเทียมและวิทยาศาสตร์อวกาศระหว่างสองหน่วยงาน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ ใช้เครื่องมือ อุปกรณ์และทรัพยากรต่างๆ ร่วมกัน สนับสนุนการจัดกิจกรรมด้านการวิจัยและพัฒนาบุคลากร แลกเปลี่ยนบุคลากร อาทิ นักวิจัย วิศวกร และนักศึกษา เพื่อผลิตและพัฒนางานวิจัยร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด องค์ความรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดังกล่าวจะต่อยอดไปสู่การสร้างโมเดลดาวเทียมขนาดเล็ก ซึ่งนำมาใช้เป็นโมเดลต้นแบบสำหรับสร้าง TSC-1 ดาวเทียมฝีมือคนไทยภายใต้โครงการ “ภาคีความร่วมมือพัฒนาความสามารถเทคโนโลยีอวกาศไทย” ต่อไปในอนาคต
ศ.สมฤกษ์ จันทร์อัมพร กล่าวว่า อุตสาหกรรมอวกาศ เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่นับวันจะยิ่งทวีความสำคัญ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นหน่วยงานที่มีทั้งความสนใจและความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอวกาศ การร่วมมือ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และบุคลากรระหว่างกันจะยิ่งช่วยขยายขอบเขตการพัฒนาเทคโนโลยี อันจะนำไปสู่ทั้งการพัฒนาดาวเทียมฝีมือคนไทยดวงแรก และต่อยอดไปเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
"เรามีเป้าหมายที่จะพัฒนาดาวเทียมและส่งขึ้นไปโคจรให้สำเร็จ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ใหญ่มาก เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น เราจึงพยายามที่จะพัฒนาบุคลากร และนำความรู้ต่างๆ มาต่อยอดในโครงการเสมอมา ทั้งการร่วมมือกับบริษัทสตาร์ทอัพด้านดาวเทียม การขยายผลร่วมมือไปยังองค์กรด้านอวกาศในต่างประเทศ สำหรับ สดร. ผมมองว่า เรามีความฝันร่วมด้านการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศ อีกทั้ง สดร. ยังมีโครงการพื้นฐานและบุคลากรที่มีศักยภาพมากพอที่จะสร้างดาวเทียมได้ หากได้ร่วมมือกันออกแบบและพัฒนาดาวเทียม โครงการนี้น่าจะสำเร็จอย่างแน่นอน"
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ดาวเทียม : เครื่องมือสร้างมหาอำนาจโลก
-ไทยคม จับมือพันธมิตร ดาวเทียมรัสเซีย
-ไทยคม จับมือพันธมิตร ดาวเทียมรัสเซีย
-กสทช.หวั่น“พีพีพี”ดาวเทียมล่าช้า