เอ็นไอเอนำทีมปั้น สตาร์ทอัพสายเกษตร พลิกโฉมเกษตรกรรมไทย
สตาร์ทอัพสายเกษตร หรือ AgTech Startup ที่มีศักยภาพระดับนานาชาติ เป็นเป้าหมายของ โครงการเร่งสร้างวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรระดับนานาชาติ หรือ AGrowth จากความพยายามขับเคลื่อนโดย 4 องค์กรจับมือบ่มเพาะ 10 สตาร์ทอัพคิดค้นสิ่งใหม่พลิกโฉม เกษตรกรรมไทย
“โครงการเร่งสร้างวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรระดับนานาชาติ” (Global AgTech Acceleration Program) หรือ AGrowth นำร่องบ่มเพาะสตาร์ทอัพ 10 รายจาก 5 ประเทศให้พร้อมที่จะนำไปพัฒนาภาคการเกษตรของไทย ก้าวสู่ระดับสากล อีกหนึ่งกลไกที่มุ่งผลักดันเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากภาคธุรกิจไปทดลองและแก้ปัญหาจริงในพื้นที่การเกษตรอย่างแท้จริง
AGrowth จะส่งผลให้สตาร์ทอัพสายเกษตร (AgTech Startup) สามารคคิดค้นสิ่งใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการพลิกโฉม เกษตรกรรม ไทยอย่างยั่งยืน รวมทั้งสามารถดึงดูดบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมด้านตลาดและเทคโนโลยีมาร่วมลงทุนด้วย ขณะที่สตาร์ทอัพในโครงการฯ จะเกิดความเข้าใจบริบทของระบบนิเวศธุรกิจการเกษตรในไทย อีกทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดจำนวนสตาร์ทอัพด้านการเกษตรในไทยมากขึ้นต่อยอดสู่โครงการในรุ่นต่อๆไป
เอ็นไอเอ และหน่วยงานพันธมิตรจะร่วมกันพัฒนา 10 สตาร์ทอัพจาก 5 ประเทศ ได้แก่ Evergrow, GetzTrac, Fresh Produce Kings จากประเทศไทย Agrisource Data, Pola Drone, Plant Cartridge จากประเทศมาเลเซีย Ubreath , Cropin จากอินเดีย Hello Tractor จากไนจีเรีย และ Food Cube จากออสเตรเลีย ให้มีการเติบโตทั้งในด้านช่องทางการขยายธุรกิจ การตลาด และนำโซลูชั่นที่สตาร์ทอัพแต่ละรายมีอยู่ มาทดลองและแก้ปัญหาจริงให้กับเกษตรกรที่อยู่ตามพื้นที่ต่างๆในประเทศไทยให้ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์และได้ผลลัพธ์เชิงบวกในหลากหลายมิติทั้ง ศักยภาพของสตาร์ทอัพที่จะมีความเข้มแข็งและมีความพร้อมในการเดินหน้าธุรกิจมากขึ้น เกษตรกรได้รับการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดจำนวนธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการเกษตรมากขึ้นในประเทศไทย ตลอดจนทำให้ภาคการเกษตรเห็นความสำคัญในการผันตัวไปสู่การเป็น "เกษตรอัจฉริยะ" ในอนาคต
โอกาสของนักรบรุ่นใหม่
พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ กล่าวว่า สำนักงานฯ ร่วมกับบริษัท เนสท์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน และบริษัทสยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดตัวโครงการดังกล่าว โดยพิจารณาเห็นถึงบทบาทความสำคัญของอุตสาหกรรมการเกษตรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยังส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกมากมาย อีกทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2562 จะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.5-3.5% เมื่อเทียบกับปี 2561 ในทุกสาขาการผลิต
“ถึงแม้จะเป็นอุตฯ ใหญ่และมูลค่าสูง แต่บทบาทของเทคโนโลยีในอุตฯ นี้ยังมีไม่มาก ตลอดจนเกษตรกรขาดความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยี ผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรยังมีไม่มากพอ โครงการนี้จะช่วยเสริมสร้างไอเดียธุรกิจของสตาร์ทอัพให้มีความพร้อมในเชิงพาณิชย์ พัฒนาแผนธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการของตลาดได้จริงและสามารถขยายผลไปสู่ในระดับสากล สามารถนำไปปรับใช้ในภาคเกษตรของไทยในอนาคตได้เป็นอย่างดี และผลักดันสู่การเป็นเกษตรอัจฉริยะอย่างสมบูรณ์แบบ”
เอ็นไอเอจะทำหน้าที่เชื่อมทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกรไทย และกลุ่มสตาร์ทอัพ ให้เข้ามาทำงานร่วมกันในการสร้างสรรค์นวัตกรรม และเร่งให้เกิดระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้าง Agtech Startup ที่เหมาะสมกับประเทศไทย เนื่องจากสตาร์ทอัพกว่า 800 รายในไทย มีกลุ่มอาหารเพียง 10 ราย และกลุ่มด้านการเกษตรเพียง 10 รายเท่านั้น ทั้งที่ไทยเป็นแห่งเกษตรกรรมหลักของโลกแต่กลับมีสตาร์ทอัพและนวัตกรรมเหล่านี้น้อยมาก
ส่วน 10 สตาร์ทอัพในโครงการ อาทิ Evergrow ระบบควบคุมการปลูกพืช, FoodCube สมาร์ทฟาร์มและปลูกผักสดในพื้นที่แคบจากออสเตรเลีย, Cropin ระบบรายงานผลการทำงานจากฟาร์มแบบเรียลไทม์จากอินเดีย และ Fresh Produce Kings ระบบตู้คงสภาพผลผลิตทางการเกษตรจากประเทศไทย เป็นต้น
ผลักดันธุรกิจ สร้างผลผลิตให้ประเทศ
ลอเรนซ์ มอร์แกน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนสท์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า โครงการ AGrowth สามารถช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมการเกษตรซึ่งจะส่งผลในวงกว้างต่อประเทศไทยและทั่วโลก ในฐานะที่โครงการนี้เป็นโครงการนวัตกรรมการเกษตรโครงการแรกของประเทศไทย เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ และภาคเอกชนที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของนวัตกรรมในการช่วยแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมการเกษตร ผู้เข้าร่วมโครงการ AGrowth จะได้รับคำชี้แนะในระหว่างที่สร้างและพัฒนาธุรกิจของตนให้เติบโตจากผู้ชำนาญการของ NIA และเนสท์ ตลอดจนจากองค์กรพันธมิตรได้แก่ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน โดยระยะเวลา 12 สัปดาห์ในการเข้าร่วมโครงการนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการทำตลาดในประเทศไทยและเปิดช่องทางธุรกิจใหม่ รวมทั้งนำเสนอนวัตกรรมของตนแก่บริษัท/องค์กรทางการเกษตรอีกด้วย
ทางบริษัทจะมีสิทธิเลือกลงทุนกับบริษัท สตาร์ทอัพ ที่มีโซลูชั่นตรงตามความต้องการของธุรกิจ ซึ่งมีมูลค่าตั้งแต่หลักสิบล้านไปจนถึงร้อยล้าน นับว่าเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือครั้งสำคัญจากหลากหลายองค์กรที่จะทำให้สามารถสร้างอีโคซิสเต็มทางด้านนวัตกรรมเกษตรใหม่ให้กับประเทศไทย
สมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า สยามคูโบต้าต้องการที่จะพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ทั้งด้านโซลูชั่นและเครื่องจักรกลการเกษตร ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับพรีซิชั่น ฟาร์มมิ่ง (Precision Farming) จึงมีความสนใจในกลุ่มสตาร์ทอัพที่ทำเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลในฟาร์ม ซึ่งเป็นฟาร์มเปิด และเรื่องของการใช้เซ็นเซอร์ หรือโดรน
รศ.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน กล่าวทิ้งท้ายว่า นวัตกรรมเป็นสาระสำคัญของสิ่งที่เราปฏิบัติ และเราจึงเห็นด้วยอย่างยิ่งกับพันธกิจของโครงการ AGrowth โดยเฉพาะการเกษตรในเมืองมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน และเปิดโอกาสให้ธุรกิจสตาร์ทอัพเปลี่ยนแปลงระบบห่วงโซ่อุปทานอาหารในพื้นที่ท้องถิ่น เราเล็งเห็นโอกาสในการร่วมมือกับธุรกิจสตาร์ทอัพในการทดสอบและค้นหาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีการเกษตรในเมืองมาใช้ปฏิบัติในประเทศไทย