“พุทธิพงษ์” เร่งออก ก.ม.ลูก คุ้มครอง “ข้อมูลส่วนบุคคล”

“พุทธิพงษ์” เร่งออก ก.ม.ลูก คุ้มครอง “ข้อมูลส่วนบุคคล”

 ย้ำทุกขั้นตอนเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม ชูบทบาทสำคัญสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

“ดีอีเอส” ชูบทบาทสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รับผิดชอบคุ้มครอง หามาตรการเยียวยา ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมเร่งออกกฏหมายลูก ย้ำชัดเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม ล่าสุดจัดเวทีเสวนาดึงทุกภาคส่วนรัฐ เอกชน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เตรียมพร้อมรับโลกเศรษฐกิจอนาคต

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า จากที่กระทรวงฯ ได้ตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ในวาระเริ่มแรก) ตามข้อกำหนดที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 และมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ โดยตามหลักการเหตุผลและความจำเป็นของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้มีประสิทธิภาพ มีมาตรการเยียวยาเจ้าของข้อมูลจากการถูกละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคล

โดยวานนี้ (10 ต.ค.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ได้จัดสัมมนาแนะนำกฎหมายและสำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล “PDPA –Privacy for All” ภายใต้แนวคิด “คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ดูแลทุกภาคส่วน ก้าวสู่เศรษฐกิจ สังคมที่มั่นคง ทันสมัย ทั่วถึงและเท่าทัน” เพื่อแนะนำกฎหมายและแผนการดำเนินงานของสำนักงานฯ แห่งนี้

ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้ให้กับทุกภาคส่วนถึงบทบาทและหน้าที่ของสำนักงานฯ ที่สำคัญเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสำหรับหลากหลายภาคส่วนเพื่อยกระดับองค์กร ให้สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาข้อมูลในด้านต่างๆ ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นจำนวนมาก สร้างความเดือดร้อน เสียหายให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้การเก็บรวบรวม การใช้และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล อันเป็นการล่วงละเมิดดังกล่าวกระทำได้โดยง่าย สะดวก และรวดเร็ว ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมด้วย

สิ่งที่คนไทยจะได้รับจากกฎหมายฉบับนี้ สามารถตอบโจทย์การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ขณะเดียวกันช่วยปลดล็อกให้ธุรกิจและหน่วยงานรัฐสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ภายใต้มาตรฐานสากล แก้ปัญหาการไม่สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้เท่าที่ควร เพราะติดกับข้อติดขัดที่ไม่มีมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้ที่ผ่านมามีอุปสรรคอย่างมากในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์

157070826555

นายพุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า กฎหมายฉบับนี้ได้รับความสนใจจากหลายฝ่าย เพราะอยากรู้ว่ากฎหมายฉบับนี้มีผลกระทบกับตัวเองอย่างไร เบื้องต้นอยากให้ทุกคนอย่ากังวลว่าจะมีผลกระทบ ยังมีเวลาอีก 1 ปี เพื่อออกกฎหมายลูก และทำความเข้าใจ กระทรวงฯ ต้องการให้การทำกฎหมายเกิดการมีส่วนร่วมแสดงความเห็น เพื่อให้กฎหมายไม่เกิดปัญหาในการบังคับใช้ขึ้นภายหลัง

ขณะที่ เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม คาดการณ์ว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจในอีก 10 ปีข้างหน้า 70% มาจากแพลตฟอร์มดาต้า ในปี 2565 มูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ 60% จะมาจากธุรกิจดิจิทัล รัฐบาลจึงคำนึงว่าการทำการค้าที่เกิดขึ้นในอนาคตต้องเตรียมพร้อม การทำกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจึงเป็นการเตรียมการเพื่ออนาคต

“เราจะทำกฎหมายลูกไปด้วยกัน กฎหมายต้องไปกับประชาชน จึงต้องทำความเข้าใจและใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ การทำกฎหมายลูกต้องไม่ช้าเกินไปต้องทันการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบ ล่าสุดสหภาพยุโรปได้ปรึกษาว่า อยากทำให้การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภูมิภาคมีมาตรฐานเดียวกัน จะเห็นว่า เรื่องเหล่านี้ต้องเร่งดำเนินการทำกฎหมายลูก และเครื่องมือต่างๆ ที่มาใช้กับกฎหมายให้ทัน คิดว่าภายใน 1-2 ปีการบังคับใช้กฎหมายนี้จะมีความเรียบร้อย" นายพุทธิพงษ์ กล่าว 157070828445