จันทบุรี ‘นครอัญมณี’ ภารกิจ วช.ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
จันทบุรีสู่ ‘นครอัญมณี' ศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลก ภารกิจ วช.สนับสนุนมหาวิทยาลัยบูรพานำวิจัยและนวัตกรรม ชูเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพิ่มมูลค่าเศษพลอยและพลอยเกรดต่ำได้กว่า 50 เท่า
โครงการ “การพัฒนารูปแบบเครื่องประดับสร้างสรรค์จาก เศษพลอยและพลอยเกรดต่ำ เพื่อเพิ่มมูลค่าและส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์” เป็นกิจกรรมขับเคลื่อนที่สำคัญที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยบูรพา ดำเนินการร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ เมื่อเดือน ก.พ.2561 ที่ จ.ตราดและจันทบุรี โดยได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้พิจารณาสนับสนุน จ.จันทบุรี ให้เป็น “นครอัญมณี ศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก” ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและการพัฒนามาตรฐานบุคลากรตั้งแต่ต้นทาง กลางทางและปลายทาง สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและการพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีเครื่องประดับในจังหวัด
ยกตัวอย่างเทคโนโลยีที่นำมาถ่ายทอดในการอบรม เช่น เทคโนโลยีการออกแบบต้นแบบเครื่องประดับ เป็นการนำเทคโนโลยีด้านการออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์สำหรับงานเครื่องประดับ CAD ที่กำลังได้รับความนิยมสูงในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวช่วยให้การผลิตเครื่องประดับได้ชิ้นงานที่สมบูรณ์ และสามารถสร้างภาพจำลองแบบก่อนผลิตชิ้นงานจริง เพื่อดูความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการผลิต รวมถึงสามารถนำไปสร้างเป็นชิ้นงานต้นแบบ และใช้ผลิตในปริมาณมากในรูปแบบอุตสาหกรรมต่อไปได้, โครงการนี้มีการใช้เทคโนโลยี RP (Rapid Prototype Print ) เป็นการสร้างแบบด้วยคอมพิวเตอร์แล้วฉีดตัวชิ้นงานออกมาด้วยระบบของคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สร้างชิ้นงาน เป็นนวัตกรรมที่ได้รับความนิยมในอุตสาหกรรมเครื่องประดับ นำมาใช้สร้างแบบ แกะลายตัวเรือนก่อนนำไปหล่อ ที่ทันสมัยที่สุด ค่าใช้จ่ายสูงพอๆกับการแกะลายด้วยมือคน แต่สามารถแก้ไขได้หากผิดพลาดบางจุด
วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ ได้สนับสนุนเชื่อมโยงบูรณาการระหว่างหน่วยงานและสถาบันการศึกษาในพื้นที่และที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมตามความต้องการของพื้นที่ให้บรรลุเป้าหมายคือ จันทบุรี ให้เป็น “นครอัญมณี ศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก” ประกอบด้วย 1.การพัฒนามาตรฐานห้องปฏิบัติการและมาตรฐานสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อสร้างความมั่นใจในการซื้อขายและยกระดับมาตรฐานการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของ จ.จันทบุรี สู่การเป็นนครอัญมณี ให้แก่สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ 2. การพัฒนารูปแบบเครื่องประดับสร้างสรรค์จากเศษพลอยและพลอยเกรดต่ำเพื่อเพิ่มมูลค่าและส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้แก่ มหาวิทยาลัยบูรพา และ 3.นวัตกรรมผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าอัญมณีเครื่องประดับจันทบูร ให้แก่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
“ประโยชน์จากโครงการคือ ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับรวมถึงผู้สนใจที่ผ่านการอบรม สามารถนำความรู้ไปพัฒนารูปแบบเครื่องประดับจาก เศษพลอยและพลอยเกรดต่ำ ในกิจการของตนเองได้ ผลงานเครื่องประดับเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใน จ.จันทบุรี นอกจากนี้ยังเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าเครื่องประดับใหม่ๆ เป็นการขยายโอกาสการจัดจำหน่ายจนสามารถเติบโตในตลาดได้ เนื่องจากใช้ต้นทุนน้อย มูลค่าจำหน่ายจึงไม่สูงมาก กลุ่มคนหลายกลุ่มสามารถจับต้องได้”
ทั้งนี้ เศษพลอยและพลอยเกรดต่ำ มีสีไม่สวยงาม มีตำหนิมาก ไม่เป็นที่นิยมและจำหน่ายเป็นกิโลกรัม หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ที่รองแก้ว ที่ทับกระดาษ เป็นต้น แต่ถ้านำมาพัฒนาด้วยความคิดสร้างสรรค์ทางการออกแบบเป็นเครื่องประดับใหม่ๆ จะเป็นการเพิ่มมูลค่าได้มากขึ้นกว่าเดิมประมาณ 50 เท่าขึ้นไป ขึ้นอยู่กับการออกแบบและวัสดุที่เลือกใช้ ตัวอย่างเช่น เศษพลอยเนื้ออ่อน ปกติขายเม็ดละ 5-10 บาท สามารถนำมาผลิตเป็นเครื่องประดับเชิงสร้างสรรค์จำหน่ายได้ในราคา 1,000-1,500 บาท หรือพลอยเนื้อแข็งกะรัตละ 100 บาทที่ไม่สามารถนำมาเข้าตัวเรือน เพราะพลอยที่นำไปทำเครื่องประดับได้นั้น ส่วนใหญ่จะมีราคามากกว่ากะรัตละ 300 บาทขึ้นไป ก็สามารถนำมาขึ้นรูปเป็นตัวเรือนเครื่องประดับทั่วไป แต่ถ้านำมาออกแบบจากแนวความคิดภายใต้โครงการวิจัย เกิดเป็นชิ้นงานเครื่องประดับสร้างสรรค์แบบใหม่ สามารถจำหน่ายได้ในราคา 2,000 บาทขึ้นไป
โครงการ “การพัฒนารูปแบบเครื่องประดับสร้างสรรค์จาก เศษพลอยและพลอยเกรดต่ำ เพื่อเพิ่มมูลค่าและส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์” จึงเป็นการใส่ความคิดสร้างสรรค์การออกแบบแต่ละประเภทให้มีความเหมาะสมกับวัตถุดิบ เพื่อให้ชุมชนสามารถนำเศษพลอยที่เหลือจากการผลิตในกระบวนการต่างๆ และทำการส่งเสริมการขาย โดยการอบรมเรื่องการขยายโอกาสทางการตลาด เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรมที่ต้องการนำไปผลิตขายจริง ได้มองเห็นโอกาสใหม่ในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตนเองได้ เปรียบเสมือนการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์แก่ประเทศ การผลิตที่ได้มาตรฐาน นำสู่การเพิ่มมูลค่าเศษพลอย การสร้างความเป็นอัตลักษณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น
การผลิตเครื่องประดับจากเศษพลอยเหล่านี้นอกจากจะเพิ่มมูลค่าเครื่องประดับ ยังมีส่วนช่วยลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศด้วย อันเป็นการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็ง บนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามนโยบายแห่งรัฐ