วิสาหกิจเพื่อสังคม โชว์โมเดลลดเหลื่อมล้ำ ปั้นคนป้อนธุรกิจเฮลท์แคร์
เอ็นไอเอโชว์เคสนวัตกรรมธุรกิจเพื่อสังคม 3 รูปแบบตอบโจทย์คนเมืองและสังคมสูงวัย เผย “นวดดัดจัดสรีระ” กิจกรรมซีเอสอาร์ของตลาดทุน, “บัดดี้โฮมแคร์” บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน “ยังแฮปปี้” คอมมูนิตี้แห่งความสนุก ทุกโมเดลธุรกิจสร้างช่องทางให้ผู้ด้อยโอกาส
นวัตกรรมด้านการดูแลสุขภาพ 3 โมเดลจากการพัฒนาของ วิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) ครอบคลุมวิถีการดำเนินชีวิตในแต่ละช่วงวัยในปัจจุบัน ขานรับพฤติกรรมคนในยุคปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของตัวเอง เชื่อมโยงกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีออนไลน์
นวดดัดจัดสรีระ ตอบวิถีคนเมือง
นายแพทย์ พูลชัย จิตอนันตวิทยา ประธานฝ่ายการแพทย์วิสาหกิจสุขภาพชุมชน คลินิกทางด่วนเพื่อชุมชน กล่าวระหว่างการเสวนา “นวัตกรรมรูปแบบการดูแลสุขภาพในอนาคต” ในงาน Innovation Thailand Expo 2019 ว่า จากคิดค้นสูตรการนวดบำบัดออฟฟิศซินโดรม “การนวดดัดจัดสรีระ” หรือ Thai Chiro Trigger นำมาขยายผลจัดตั้งเป็นวิสาหกิจสุขภาพชุมชน หรือ Social Health Enterprise (SHE) เมื่อปี 2555 ในชื่อ "บ้านกึ่งวิถี เธอ” ซึ่งเป็นสถานที่ฝึกอบรมบริการนวดให้กับอดีตนักโทษหญิง มีการจ้างงานอย่างเป็นธรรม และสนับสนุนให้เป็นเจ้าของกิจการเองเมื่อพร้อม
ขณะเดียวกันก็ได้เข้าไปเปิดอบรมให้กับผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำด้วย งเมื่อพ้นโทษออกมาก็รับเป็นพนักงานสังกัด SHE ปรากฏว่า เป็นธุรกิจที่ได้รับความสนใจและสนับสนุนจากภาครัฐหลายหน่วยงาน รวมถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผ่านโครงการ SET Social Impact เนื่องด้วยมีกฎหมายกิจการเพื่อสังคมที่สามารถนำรายจ่ายตรงส่วนนี้ไปหักภาษีได้ และสามารถเพิ่มผลผลิตให้กับบริษัทมากขึ้น ทั้งยังขยายโครงการออกไปสู่ชุมชน เพื่อสร้างอาชีพให้กลุ่มแม่บ้านที่ว่างจากงานเกษตร นับเป็นการแก้ปัญหาคนด้อยโอกาสเขตเมือง โดยการนำมาทำงาน ฝึกวิชาชีพ แล้วสร้างประโยชน์ร่วมกัน เพื่อสุขภาพที่ดี เพื่ออายุที่ยืนยาว โดยไม่เจ็บป่วย
“นวัตกรรมการนวดที่เหมาะสม คือการนำ Stretching + Yoga + Chiropractor + Trigger point และศาสตร์ของการนวดไทยมาผสมผสาน และพัฒนาการนวดในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 20 นาที กดกระตุ้นจุดที่ปวด ส่งความรู้สึกเจ็บไปที่สมอง สมองจะส่งคำสั่งชุดใหม่มาให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ซึ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้น ถือเป็นศาสตร์การนวดบำบัดแบบใหม่ที่เหมาะกับชีวิตเมืองที่เร่งรีบ” นายแพทย์พูลชัย กล่าว
บัดดี้โฮมแคร์ สูงวัยคลายเหงา
เจนวิทย์ วิโสจสงคราม เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร และระดมทรัพยากร บริษัท บัดดี้โฮมแคร์ วิสาหกิจเพื่อชุมชน จำกัด กล่าวว่า จากปัญหาเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ทั้งเรื่องการหาผู้ดูแล ความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงบริการ จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสุขภาพมาใช้เป็นเครื่องมือยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและตอบสนองความต้องการบริการด้านสุขภาพ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุข มีสุขภาพที่ดี ปลอดภัย และได้รับการดูแลในทุกที่ทุกโอกาส
บัดดี้โฮมแคร์ (Buddy Homecare) ธุรกิจเพื่อสังคมจึงเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหานี้ โดยให้ บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ดังนี้ 1.การจัดเตรียมอาหารตามหลักโภชนาการ 2.บริการดูแลแบบรายวัน 3.บริการดูแลรายเดือนแบบไปกลับ และสุดท้าย 4.คือบริการดูแลรายเดือนแบบอยู่ประจำ ทั้งหมดนี้ราคาเริ่มต้นที่ 800 บาท และจะต้องได้รับการประเมินความต้องการการดูแลเบื้องต้นก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป
บริการทั้งหมดนี้สามารถจองผ่านแอพพลิเคชั่นและเฟซบุ๊ค Buddy Homecare ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้ง 3 ด้านคือ 1.โซเชียลอินโนเวชั่นของกลุ่มดึงผู้สูงวัย ให้เข้าถึงบริการดูแลแบบคิดค่าบริการ คือคนที่มีกำลังจ่ายแต่หาผู้ดูแลไม่ได้ 2.ให้บริการเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุยากไร้ในชุมชน ที่ไม่มีกำลังหรือทุนที่จะใช้ทรัพยากรดูแลสุขภาพตนเอง 3.มอบโอกาสให้กับคนในพื้นที่ ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา โดยส่วนใหญ่พื้นที่ภาคเหนือจะเป็นเด็กชนเผ่าต่างๆ เพื่อให้ได้มีงานทำในฐานะผู้ดูแลผู้สูงอายุ และสามารถหลุดพ้นจากวงจรความยากจน หลีกหนีจากปัญหาสังคมต่างๆ
บัดดี้โฮมแคร์ ได้นำกลุ่มคนเหล่านี้มาฝึกวิชาชีพ แล้วทำงานดูแลผู้ป่วย โดยมีเป้าหมายจะยืนหยัดเป็นธุรกิจที่อยู่รอดและเมื่อมีกำไรก็จะมีการนำไปช่วยคนยากไร้ทำงานเพื่อสังคมต่อไป ซึ่งทั้งหมดนี้นำร่อง จ.เชียงใหม่ แต่ก็สามารถนำโมเดลไปต่อยอดในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศได้อีกด้วย
‘ยังแฮปปี้' ชุมชนความสุข
ธนากร พรหมยศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอเพย์ อิท ฟอร์เวิร์ด จำกัด ผู้ร่วมก่อตั้งแอพพลิเคชั่น ยังแฮปปี้ (Younghappy) คอมมูนิตี้ออนไลน์สำหรับสูงวัย กล่าวว่า ผู้สูงอายุในเขตเมือง 60% มีปัญหาเรื่องจิตใจ เหงา ซึมเศร้า จนนำไปสู่ปัญหาเรื่องสุขภาพ คนที่มีปัญหาเรื่องซึมเศร้ามีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนปกติสูงกว่า 14% และจากปัญหาของโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงวัย รวมถึงภาวะติดบ้านและติดเตียงของผู้สูงอายุ การรักษาดูแลมีค่าใช้จ่ายที่สูงเฉลี่ยเดือนละ 3 หมื่นบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี จะมีค่าใช้จ่ายสูงเกือบถึง 2 ล้านบาท ทำให้มีความคิดที่ต้องการจะยืดช่วงเวลาที่ผู้สูงวัยสามารถดูแลตนเองได้ หรือ ภาวะติดสังคมให้ได้นานที่สุด เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายดังกล่าว
“ยังแฮปปี้” มุ่งแก้ปัญหาในรูปแบบของธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) เป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้สูงอายุกับเทคโนโลยี เพื่อให้กลุ่มปัจฉิมวัยที่ ได้มีชีวิตที่ง่ายขึ้น มีคุณค่า มีความสุข ปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงอายุในเครือข่ายประมาณ 3 หมื่นคน โดยมีตัวกลางเชื่อมสังคมนี้คือแอพพลิเคชั่น YoungHappy ที่สามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง IOS และ Android ทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมและมีสังคมที่เข้าใจกัน จะทำให้ประหยัดเงินทั้งภาครัฐและครอบครัวไปได้ถึง 3 หมื่นล้านบาท
ในส่วนของแอพพลิเคชั่นนี้ ผู้สูงอายุจะได้รับประสบการณ์ทั้ง 3 ด้านคือ สนุก มีคุณค่าและพึ่งพาตัวเองได้ ผ่านพื้นที่แลกเปลี่ยนเรื่องราวและประสบการณ์กับ Forum ขณะเดียวกันยังมีสาระดีๆ รวมถึงประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ กับ Content ตั้งแต่การไปเที่ยว ดูหนังด้วยกัน เรียนวิธีการทำซีพีอาร์ หรือแม้แต่เรียนเป็นบาริสต้า สิ่งสำคัญอีกอย่างในแอพ คือ เซอร์วิส คอลเซ็นเตอร์ ให้บริการตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม สามารถโทรปรึกษาได้ทุกเรื่องตั้งแต่ขอความช่วยเหลือเรื่องต่างๆ จนกระทั่งแค่หาเพื่อนพูดคุยแก้เหงา นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมรูปแบบการดูแลสุขภาพในอนาคตที่จะมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยในประเทศไทยให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น