อินโดรามาฯ โชว์โรงงาน “รีไซเคิลขวดพลาสติกใส” แห่งแรกในไทย

อินโดรามาฯ โชว์โรงงาน “รีไซเคิลขวดพลาสติกใส” แห่งแรกในไทย

อินโดรามา เวนเจอร์ส หรือ ไอวีแอล โชว์เทคโนโลยีล้ำหน้าจากยุโรปในโรงงาน “รีไซเคิลโพลีเอสเตอร์” แห่งแรกในไทยที่ จ.นครปฐม เตรียมนำนวัตกรรมจาก 2 ดีพสตาร์ทอัพต่อยอดสู่การ รีไซเคิลพลาสติก พีอีทีทุกสีทุกชนิดได้อย่างง่ายดาย

เยอรมนี-ญี่ปุ่น แชมป์รีไซเคิล

ไอวีแอล ดำเนินธุรกิจรีไซเคิลขวดพลาสติก ผลิตเส้นใยและเม็ดพลาสติก PET รีไซเคิล (rPET) โดยมีกำลังผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ 1.2 แสนตันต่อปี และเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (rPET) 2.9 หมื่นตันต่อปี รองรับลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย สิ่งทอ เส้นใย

157189548763

สถานการณ์ความต้องการใช้วัสดุและบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากรีไซเคิลเพิ่มขึ้นทั่วโลก อาทิ สหภาพยุโรปซึ่งสมาชิกทั้ง 28 ประเทศ ยอมรับการนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ เช่น เยอรมนี มีอัตราการนำขวดพลาสติกมารีไซเคิลสูงสุดในสหภาพยุโรป มากถึง 94% ส่วนในเอเชีย ญี่ปุ่น นำพลาสติกมารีไซเคิลสูงสุดถึง 83%

ในส่วนของประเทศไทย ไอวีแอลเร่งผลักดันให้มีการพิจารณาแก้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 พ.ศ.2548 ข้อ 8 ที่ระบุว่า “ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก” เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำขวดบรรจุเครื่องดื่มที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล หรือ Recycled PET (rPET) มาใช้ได้ในประเทศไทย

วันที่ 25 ต.ค.2562 จะมีการประชุมเรื่อง “การประเมินความปลอดภัยของรีไซเคิลพลาสติกชนิด PET สำหรับประเทศไทย” ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไอวีแอลและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อหาทางออกให้กับการนำ rPET มาใช้ได้อย่างไม่มีข้อจำกัดอีกต่อไป

ตั้งเป้าพีอีที 2.4 หมื่นตันต่อปี

ริชาร์ด โจนส์ รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร ความยั่งยืน และทรัพยากรบุคคล บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส หรือไอวีแอล ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก กล่าวว่า PET ไม่ใช่ขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ไม่สิ้นสุดหลายรูปแบบหากผ่านกระบวนการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้ความต้องการพลาสติกผลิตใหม่ลดลงตามไปด้วย นอกจากจะเป็นการเพิ่มอุปสงค์ของบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว ยังจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมรีไซเคิลด้วยการสร้างรายได้ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า และผลักดันให้อุตสาหกรรมรีไซเคิลที่มีบทบาทสำคัญในการคัดแยกพลาสติกออกจากขยะอื่นๆ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกด้วย

157189552446

ไอวีแอล ในฐานะผู้ผลิต rPET รายใหญ่ รับขวดพลาสติกจากซัพพลายเออร์ 6-7 ราย ไม่ว่าจะเป็น เจริญจินดา โชคพรชัย วงพาณิชย์ เซาเทินพลาสติก ที่เป็นผู้รวบรวมค่อนข้างใหญ่ 200-300 ตันต่อออเดอร์ หรือเฉลี่ยมากกว่า 1,650 ล้านขวดต่อปี ช่วยประเทศไทยลดการใช้น้ำมันดิบกว่า 5.3 แสนบาร์เรล ลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกซ์มากถึง 118 ล้านกิโลกรัม ตั้งเป้ารีไซเคิลพีอีทีเพิ่มเป็น 68 ตันต่อวันจากเดิมเพียง 30 ตัน คิดเป็นประมาณ 2.4 หมื่นตันต่อปี ภายในปี 2564 ด้วยงบลงทุนกว่า 10.5 ล้านดอลลาร์ และจะเพิ่มเป็น 7.5 แสนตันในปี 2568 สอดคล้องกับคณะกรรมาธิการยุโรปที่ประกาศเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้เม็ดพลาสติกพีอีทีเป็น 25% ของเม็ดพลาสติกที่ใช้ในบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม

"แต่จากปัญหาหลักที่ยังรอการแก้ไขคือ ส่วนของฝาขวด ซึ่งเป็นพลาสติกประเภท HDPE/PP ที่เรายังไม่สามารถรีไซเคิล จึงได้ส่งต่อไปยังโรงงานรีไซเคิลเฉพาะทางของ HDPE/PP เช่นเดียวกับส่วนของฉลากพีวีซีก็ว่าจ้างบริษัททำลายขยะเฉพาะทาง อย่างไรก็ตาม เราอยู่ในขั้นตอนการคิดค้นวิธีนำกลับมาใช้ประโยชน์ ขณะที่พลาสติกชนิดอื่นๆ อาทิ PE,PP ถูกส่งต่อไปยังบริษัทรีไซเคิลเพื่อแปรสภาพใช้ประโยชน์ต่อไป” ริชาร์ด กล่าว

“รีไซเคิลโพลีเอสเตอร์” แห่งแรกในไทย

อนิเวช ติวารี หัวหน้าโรงงานอินโดรามา โพลีเอสเตอร์ อินดัสตรี้ส์ นครปฐม กล่าวว่า โรงงานฯ ใช้เทคโนโลยีรีไซเคิลจากยุโรป ซึ่งเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และเทคโนโลยี Gneuss และ Buhler จากเยอรมนีสำหรับการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่ทันสมัย สะอาด ปลอดภัยและได้มาตรฐานระดับโลก

157189558331

“ในแต่ละวันขวดพลาสติกใส PET ที่ใช้แล้วและผ่านการตรวจสอบคุณภาพแล้วกว่า 100 ตัน จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โดยนำขวดพลาสติกที่ใช้แล้วมาคัดแยกด้วยเทคโนโลยี IFE,The Netherlands จากนั้นนำสิ่งแปลกปลอมทุกชนิดออก ไม่ว่าจะเป็น โลหะ พลาสติกชนิดอื่น อาทิ ฝาขวด ฉลาก แล้วล้างทำความสะอาดหลายขั้นตอนเพื่อกำจัดสิ่งปนเปื้อน

จากนั้นสับละเอียดเป็นเกล็ดพลาสติก ก่อนที่จะใช้เคมีความร้อนสูงถึง 285-300 องศาเซลเซียสหลอมให้ได้เม็ดพลาสติก PET รีไซเคิล ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลและสามารถส่งออกสำหรับการผลิตบรรจุภัณฑ์ไปจำหน่ายในหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ ออสเตรเลีย โดยเป็นแบรนด์อิเกียสูงถึง 65% ส่วนน้ำที่ผ่านการบำบัดจะนำกลับมาใช้ใหม่ได้ถึง 80% ของปริมาณน้ำทั้งหมดที่ใช้ภายในโรงงานอีกด้วย

เดินหน้า “เคมิคอลส์รีไซเคิล”

157189566542

วินัย กระถินไทย รองประธานร่วมการผลิตเส้นใย เส้นด้ายและเม็ดพลาสติก PET รีไซเคิล กล่าวว่า ไอวีแอลจะร่วมมือกับ 2 สตาร์ทอัพระดับโลก คือ Loop Industries จากอเมริกาเหนือ และ Loniqa จากยุโรป เพื่อพัฒนา “นวัตกรรมเคมิคอลส์รีไซเคิล” ที่จะสามารถทำให้ PET ที่ผ่านการใช้งานแล้วแตกตัวจนถึงระดับโมเลกุลพื้นฐาน ทำให้สามารถรีไซเคิลพีอีทีทุกสีทุกชนิดได้อย่างง่ายดาย ด้วยเทคโนโลยีนี้จะทำลายข้อจำกัดในการรีไซเคิลขวดพลาสติกใสที่มีสี ซึ่งเป็นปัญหาของอุตสาหกรรมรีไซเคิลมายาวนาน คาดว่าการพัฒนาเทคโนโลยีอันล้ำสมัยเพื่อแก้ไขปัญหาขยะทั่วโลกนี้จะสำเร็จในปี 2563