มช.บริหารจัดการขยะครบวงจรจากคัดแยก หมักย่อย สู่การผลิตก๊าซ CBG
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งเป้า “บริหารจัดการขยะครบวงจร” นำขยะและมูลสัตว์ ผ่านการบูรณาการ 3 เทคโนโลยีผลิตก๊าซชีวภาพได้วันละกว่า 530 ลูกบาศก์เมตร ใช้ทดแทนไฟฟ้า พร้อมได้ก๊าซ CBG สำหรับระบบรถขนส่งมวลชนของมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2559-ปัจจุบัน
สืบเนื่องจากนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและรักษาสิ่งแวดล้อมของ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มุ่งเน้นให้มีระบบการบริหารจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัยแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นทางเพื่อให้เกิดการจัดการขยะที่ยั่งยืน ด้วยกระบวนการคัดแยกขยะ มช. บริหารจัดการขยะครบวงจรจากคัดแยก หมักย่อย สู่การผลิตก๊าซ CBG เพื่อนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ และการใช้เทคโนโลยีการหมักย่อยขยะอินทรีย์แบบแห้งเพื่อเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน
สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ คณะเกษตรศาสตร์ ได้ให้การสนับสนุนเทคโนโลยีการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร โดยบูรณาการเทคโนโลยีการคัดแยกขยะ เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพสำหรับหมักย่อยร่วม และเทคโนโลยีการผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้เกิดกระบวนการจัดการขยะแบบครบวงจร และบรรลุวัตถุประสงค์ตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย กระบวนการจัดการขยะแบบครบวงจรนั้น ขยะของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีปริมาณรวมกันกว่า 10 ตันจะผ่านกิจกรรมการคัดแยกขยะจากต้นทาง
ตัวระบบจะเริ่มจากการรับขยะมูลฝอย (receiving & storage) ผ่านสู่ระบบลำเลียง (belt conveyer) แล้วนำมาฉีกถุงขยะ (bag breaking) จากนั้นขยะจะถูกแยกเอาวัสดุที่สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้และมีมูลค่า (reusable) เช่นขวดแก้ว ขวดพลาสติก รวมถึงขยะพิษบางชนิด เช่น แบตเตอรี่ออกจากสายพานลำเลียง ต่อจากขั้นตอนนี้ขยะจะถูกนำไปแยกเบื้องต้นเพื่อแยกเอาขยะอินทรีย์ออกจากขยะพลาสติกและโลหะ ด้วยระบบคัดแยกขยะเบื้องต้น primary separator และ magnetic separator โดยขยะอินทรีย์ที่ได้จะถูกนำไปหมักย่อยในระบบก๊าซชีวภาพแบบหมักแห้ง นอกจากขยะมูลฝอยแล้ว ระบบดังกล่าวยังออกแบบให้สามารถรองรับพืชชีวมวลและมูลสัตว์ ซึ่งเกิดจากการขยายกิจกรรมการเลี้ยงสัตว์ของภาควิชาสัตวศาสตร์และสัตว์น้ำ คณะเกษตรศาสตร์ โดยเพิ่มจำนวนวัวกว่า 300 ตัว ซึ่งมูลวัวที่เกิดขึ้นวันละกว่า 3 ตันนี้ จะถูกนำมาหมักย่อยร่วมเพื่อผลิตเป็น ก๊าซชีวภาพ ไปพร้อมกัน
ก๊าซชีวภาพ ที่ผลิตได้วันละกว่า 530 ลบ.ม. จะถูกนำไปปรับปรุงคุณภาพ และนำไปทดแทนไฟฟ้าวันละ 700 กิโลวัตต์-ชม. ก๊าซชีวภาพส่วนหนึ่งจะถูกนำไปผลิตเป็นก๊าซไบโอมีเทนอัดสำหรับยานยนต์ วันละ 60 กิโลกรัม เพื่อใช้ในระบบขนส่งมวลชนของมหาวิทยาลัย โดย ก๊าซชีวภาพ ส่วนเกินจะถูกเผาทิ้ง ด้วยชุดเผาทิ้งก๊าซชีวภาพอัตโนมัติ (gas flare) สำหรับ ขยะพลาสติก ที่แยกได้จากกระบวนการทั้งจากการคัดแยกเบื้องต้นและจากการคัดแยกภายหลังจากการหมักย่อยแล้ว วันละกว่า 1 ตัน สามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF, Refuse Derived Fuel) เพื่อนำไปส่งขายให้กับผู้ใช้ที่มีเตาเผา RDF ได้อีกด้วย นอกจากนี้กากขยะอินทรีย์วันละกว่า 5 ตัน ยังสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยเพื่อใช้บำรุงดินได้โดยตรงหรือจะปรับปรุงให้เป็นปุ๋ยแห้งหรือปุ๋ยอัดเม็ด อีกวันละกว่า 2 ตัน เพื่อการใช้ประโยชน์ที่หลากหลายมากขึ้น ระบบบริหารจัดการขยะดังกล่าว มช. ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน